ท่ามกลางสภาพอากาศของประเทศไทยที่ทำสถิติความร้อนขึ้นทุกปี เจ้าของบ้านที่เคยลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ไปกับการก่อสร้างต่อเติมบ้านคงไม่แคล้วได้กลับมาเสียเงินใหม่อีกรอบเพราะบ้านที่อาศัยอยู่นั้นร้อนเกินกว่าที่จะทนไหว หรือต่อให้อยู่ได้ก็คงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งแอร์และพัดลมกันเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนคนที่กำลังมองหาบ้านหลังใหม่ก็น่าจะกำลังคิดหนักไปตาม ๆ กันเพราะคงไม่มีใครอยากซื้อบ้านหลังใหม่มาเพื่อมาต่อเติมเพิ่มเช่นเดียวกับการซื้อรถที่คาดหวังว่ามันจะสามารถอำนวยความสะดวกได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข็นรถเข้าศูนย์บ่อย ๆ
คุณสงคราม ภูผาทอง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของเพจ “นักบัญชีคุยภาษีอสังหาฯ” เคยให้สัมภาษณ์กับเพจเพื่อนแท้นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอาไว้ว่า… “การเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดีต้องอ่านใจออกว่าลูกค้าต้องการอะไร บางอย่างที่ต้องการอาจจะเคยเป็นจุดเจ็บที่พบเจอมาก่อนจากบ้านหลังเดิมหรืออาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการพบเจอจากบ้านหลังใหม่ก็ได้”
จากการตีความส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จะเห็นได้ว่าการตอบสนอง Pain Point ของลูกค้าคือหัวใจหลักของคนทำบ้านเหมือนกับการทำความเข้าใจว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากบ้านหนึ่งหลังที่กำลังจะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ ในกรณีนี้แม้จะไม่ใช่การชี้ทางว่าจะต้องแก้ไขปัญหาบ้านร้อนให้กับลูกค้าแต่ในทางเดียวก็เป็นการชี้นำว่าอะไรคือจุดเจ็บที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่แล้วคว้าจุดเจ็บนั้นมาเป็นโอกาสในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอนาคต
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนคือหนึ่งในวิธีที่คนสร้างบ้านเริ่มนำมาปรับใช้กับโครงการของตนเองเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนให้กับลูกบ้าน ซึ่งการทำงานของฉนวนกันความร้อนจะเป็นการป้องกันแดดและไอร้อนที่จะเข้ามากระทบภายในตัวบ้านโดยตรง ส่วนใหญ่มักจะนิยมติดตั้งไว้บริเวณใต้หลังคาและในผนังเพื่อกักเก็บความเย็นที่อยู่ภายในตัวบ้านและเพื่อให้ความร้อนผ่านเข้ามาช้าลง นอกจากนี้ฉนวนกันความร้อนบางตัวยังมีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อนออกไปด้วยเช่นกัน
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
โดยทั่วไปแล้วฉนวนกันความร้อนสามารถติดตั้งได้ตามบริเวณดังต่อไปนี้
ติดตั้งบนผิวหลังคา
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนหลังคาจะนิยมใช้ประเภทสีสะท้อนความร้อนเป็นส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้แสงแดดหรือไอร้อนทะลุผ่านเข้าไปในตัวบ้าน แต่มีข้อเสียเล็กน้อยคือหากมีรอยคราบอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนนั้นลดลง ฉะนั้นคนที่ออกแบบบ้านจึงแนะนำให้ติดตั้งร่วมกับฉนวนกันความร้อนรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นการรักษาประสิทธิภาพให้มากขึ้น
ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา
การป้องกันความร้อนจากภายนอกที่ได้ผลดีที่สุดคือการติดตั้งแผ่นฉนวนกันความร้อนไว้ใต้แผ่นหลังคา แต่จะมีข้อจำกัดที่ว่าการติดตั้งต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการต่อเติมหลังคาใหม่ซึ่งนั่นหมายความว่าการติดตั้งรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นบ้านที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านที่แล้วเสร็จไปแล้วจะไม่สามารถทำได้เพราะนอกจากแผ่นติดตั้งใต้หลังคาแล้วก็ยังมีฉนวนกันความร้อนรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ แผ่นฉนวนสำหรับติดตั้งในช่องแปและฉนวนแบบฉีดพ่นที่สามารถนำมาติดในภายหลังได้
ติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนไว้ภายใต้ฝ้าเพดานคงไม่สามารถป้องกันความร้อนที่ทะลุผ่านหลังคาเข้ามาแต่สามารถหน่วงความร้อนไม่ให้เข้ามาถึงภายในตัวบ้านได้ง่าย ข้อจำกัดของการติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณนี้คือต้องมีช่องระบายอากาศด้วยเพื่อถ่ายเทความร้อนที่สะสมไว้ออกสู่ภายนอก ส่วนฉนวนที่ติดตั้งเหนือฝ้าเพดานก็มีหลายรูปแบบทั้งแบบแผ่นและแบบม้วนเพื่อให้ง่ายต่อการวางเหนือฝ้า และบางชนิดก็ติดมาพร้อมกับแผ่นฝ้าในตัวด้วย
เลือกฉนวนกันความร้อนอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน
- ฉนวนกันความร้อนแบบใยแก้ว: สำหรับฉนวนกันความร้อนในรูปแบบนี้สามารถติดตั้งได้ทั้งบนฝ้าเพดาน ใต้หลังคา และผนังบ้าน ด้วยคุณสมบัติที่กันความร้อนและดูดซับเสียงได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังมีความทนทานต่อความร้อนสูงจึงทำให้เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ข้อควรระวังคือหากพบว่ามีจุดที่ชำรุดหรือฉีกขาดจะต้องทำการติดเทปกาวให้สนิทในทันทีเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมความร้อนนั้นลดลง
- ฉนวนกันความร้อนแบบอลูมิเนียมฟอยล์: คุณสมบัติของแผ่นสะท้อนความร้อนรูปแบบนี้คือความเหนียวและความทนทาน มีราคาถูกกว่าฉนวนใยแก้วแต่ส่วนใหญ่แล้วนิยมติดตั้งคู่กันเพื่อที่จะได้ประสิทธิภาพในการดูดซับความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
- ฉนวนกันความร้อนโพลีสไตรีนโฟม: แผ่นฉนวนสำเร็จรูปที่สามารถกันความร้อนและสร้างความเย็นในตัวได้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาจึงทำให้ติดตั้งได้ง่ายและสามารถติดคู่กับแผ่นยิปซัมได้ งานก่อสร้างส่วนใหญ่จึงนิยมนำมาต่อเติมเป็นฝ้าเพดานหรือต่อเติมผนังโดยไม่จำเป็นต้องติดฉนวนอื่นควบคู่เลย
- ฉนวนกันความร้อนโฟมโพลียูรีเทน: แผ่นกันความร้อนรูปแบบนี้มักจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อโฟมเหลืองซึ่งเป็นโฟมกันความร้อนที่มีคุณสมบัติทนความชื้น ทนกรดด่าง กันสนิมที่มีทั้งแบบแผ่นและแบบพ่น โดยแบบแผ่นผลิตด้วยการฉีดสารเคมีโพลียูริเทนเคลือบแผ่นหลังคาจึงสามารถติดตั้งได้ง่าย ส่วนแบบพ่นฉีดบนฝ้าบนหลังคาและใต้หลังคาจะมีความยุ่งยากในการติดตั้งค่อนข้างมากทีเดียว ฉะนั้นจึงต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานแทน
- ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น: มีอีกชื่อหนึ่งว่าโฟมกันความร้อน เป็นที่นิยมสำหรับงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และโรงงานมากกว่าเพราะมีราคาค่อนข้างสูงและค่าดำเนินการแพงกว่าการติดตั้งฉนวนกันความร้อนทั่วไป แต่ข้อดีคือสามารถฉีดพ่นโฟมเข้าถึงได้ทุกจุดทุกซอกมุมตามต้องการโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสัตว์หรือแมลงเข้าไปอยู่ด้านใน และอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบบแผ่น
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
อ้างอิง:
‘ฉนวนกันความร้อน’ คือ? เลือกแบบไหนคลายร้อนให้บ้านคุณ จาก https://homeguru.homepro.co.th/insulation-choose-it/
เทียบคุณสมบัติฉนวนกันความร้อน อะไรดีกว่ากัน จาก https://www.baanlaesuan.com/261571/maintenance/9-insulators
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
เรียบเรียงโดย: ศุภธิดา รัสพันธ์
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Freepik