การสร้างบ้านหรือการสร้างโครงการขนาดใหญ่จะต้องอาศัยช่วงเวลาในการดำเนินการค่อนข้างนานตามที่ได้ตกลงกับผู้รับเหมาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าเจ้าของโครงการไม่มีทางรู้เลยว่าระหว่างการก่อสร้างนั้นจะเกิดเหตุไม่คาดฝันอะไรขึ้นได้บ้าง บางครั้งอาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานจนเกิดความล่าช้าและทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แล้วถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมาหลายคนคงจะตั้งข้อสงสัยไปตาม ๆ กันว่าใครกันล่ะที่จะต้องเป็นคนรับผิดชอบระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมา
วิธีที่ดีที่สุดคือไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมาตามแก้กันทีหลังเพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำเอกสารหนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเป็นข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายให้ถูกต้องก่อนทำการก่อสร้างเพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง
หนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างคืออะไร?
หนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างคือเอกสารสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่างจ้างหรือเจ้าของโครงการที่กระทำร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้รับเหมาได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ของผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการ และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามความเหมาะสมของเนื้องาน หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ภายในสัญญาจะถือว่ามีความผิดและสามารถใช้หนังสือสัญญานี้ในการยื่นฟ้องร้องเพื่อเอาผิดได้
ขั้นตอนการขอหนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมีอะไรบ้าง?
ก่อนการดำเนินการก่อสร้างผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำเอกสารหนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านเว็บไซต์ และทำการระบุข้อมูลให้ครบถ้วน ดังนี้
1. ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะต้องระบุสถานที่ที่จะทำการก่อสร้างพร้อมระบุวันที่มีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร ไปจนถึงการระบุวันสิ้นสุดของสัญญาหรือวันส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างกลับคืนให้กับผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างเองจะต้องเผื่อเวลาและคำนึงถึงช่วงที่เข้าทำการก่อสร้างด้วย ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างในช่วงฤดูฝนอาจได้รับผลกระทบจากพายุจนไม่สามารถเข้าทำการก่อสร้างได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือมีอุปสรรคในเรื่องของพื้นที่ใกล้เคียงจนมีผลกระทบต่อระยะเวลาของงวดงาน เป็นต้น
2. ข้อมูลระบุตัวตนของผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาควรบ่งบอกรายละเอียดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ สถานที่ตั้งของบริษัทหรือองค์กรหน่วยงานที่สังกัด เพื่อให้สัญญานั้นมีความสมบูรณ์และสามารถยืนยันตัวตนของทั้งสองฝ่ายได้
3. ระบุขอบเขตและลักษณะของงาน อย่างเช่น การก่อสร้างอาคาร การต่อเติมหรือปรับปรุงบ้าน เป็นต้น รวมไปถึงรูปแบบของสิ่งปลูกสร้างที่มีรายละเอียดชัดเจน โดยทั่วไปแล้วมักจะมีเอกสารแบบแปลนงานแนบท้ายไปด้วยเพื่อใช้ในการตรวจสอบ และอาจจะต้องมีการประเมินงบประมาณการเพิ่มเติมในกรณีที่การก่อสร้างมีส่วนต่อขยายจากแบบแปลนที่กำหนดไว้
4. ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะมีการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบใดและในอัตราเท่าไหร่ ซึ่งจะมีทั้งแบบจ้างเหมา จ่ายมัดจำก่อนเป็นอัตราเปอร์เซ็นต์แล้วจ่ายเงินค่าจ้างที่เหลือหลังจากส่งมอบงาน หรือเป็นการจ่ายแบบงวดซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 งวด 3 งวด หรือมากกว่านั้นก็ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่เจรจากันไว้ทั้งสองฝ่าย
5. เอกสารหลักประกันที่ผู้รับเหมาจะนำมาประกันประกอบการทำสัญญาว่าจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับหรือตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะคืนให้ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบงานหรือสัญญานั้นสิ้นสุดลงตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย
6. ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการแจ้งสิทธิ์และหน้าที่ในการตรวจสอบงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง รวมถึงสิทธิ์ที่จะสั่งระงับการดำเนินงานหากพบว่าการก่อสร้างของผู้รับเหมาไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ได้ตกลงกันเอาไว้
7. หลีกเลี่ยงการทำสัญญาที่มีความคลุมเครือ ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงข้อกำหนดในเรื่องของการรักษาสิทธิ์และความสามารถในการบอกเลิกสัญญาอย่างเท่าเทียม รวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหายหรือการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่พบว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลง
8. ในกรณีที่การดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้และผู้ว่าจ้างยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญา ในส่วนนี้ผู้รับเหมาจะต้องชำระค่าปรับให้กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการ
ข้อควรระวัง: หากพบว่าผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการมีส่วนทำให้งวดงานมีความล่าช้ากว่ากำหนดจะถือว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้รับเหมาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าปรับจากผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการได้
เอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
1. หนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
2. บัญชีแสดงปริมาณวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และจำนวนแรงงานสำหรับการดำเนินการ
3. หนังสือตอบสนองรับราคาหรือหนังสือยืนยันการสั่งจ้างที่มีรายละเอียดค่าจ้างสำหรับเนื้องานหรือโครงการนั้น ๆ
4. เอกสารเสนอราคาของผู้รับจ้างที่จะเสนอต่อผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโครงการ
5. เอกสารประกวดราคา
6. แบบรูปรายการประกอบ
7. รายการแบ่งงวดงาน และระยะเวลาในการทำงานตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันส่งมอบงาน
8. เอกสารอื่น ๆ เช่น แบบหนังสือค้าประกันการปฏิบัติตามสัญญา แบบหนังสือค้าประกันเงินค่าจ้างล่วงหน้า และแบบหนังสือค้าประกันความชำรุดบกพร่อง
จะเห็นได้ว่าหนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่ใช่เพียงแค่เอกสารการส่งมอบงานให้กับผู้รับเหมาเพียงอย่างเดียวแต่เป็นหนังสือสัญญาข้อตกลงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวางกรอบระยะเวลาการก่อสร้างให้ได้ตามที่กำหนด หรือการป้องกันการบอกเลิกสัญญากลางคันซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อเจ้าของโครงการเองและความน่าเชื่อถือของลูกค้าที่มีต่อองค์กรด้วย
อ้างอิง:
หนังสือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างคืออะไร เจ้าของบ้านต้องใช้ไหม จาก https://bit.ly/3taXXhn
แผนผังขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนพัสดุ สำหรับงานวิจัย จาก https://prg.engr.tu.ac.th/facilities/web/form.php
ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับเหมา จาก https://bit.ly/3JtbNRO
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
เรียบเรียงโดย: ศุภธิดา รัสพันธ์
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Freepik