ทำบ้านมือสองที่สวนกระแสตลาด…. แล้วจะขายให้ใคร?
เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำธุรกิจก็คงไม่พ้นการเลือกกลุ่มลูกค้าที่ตรงใจให้ได้เสียก่อน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนแล้วก็ไม่ใช่โจทย์ยากอีกต่อไปเพราะเพียงแค่ปัจจัยเดียวก็สามารถต่อขยายไปยังปัจจัยอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเลที่คิดว่าคนกลุ่มนี้อยากปักหมุดแหล่งที่อยู่อาศัยมากที่สุด หรือบ้านแบบไหนที่ตอบโจทย์ภายใต้ข้อกำหนดที่หลายต่อหลายคนกังวลนั่นก็คือรายได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกกลุ่มลูกค้าก่อนก็ใช้ไม่ได้ผลกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เสมอไปโดยเฉพาะกับบ้านมือสองที่นักลงทุนไม่สามารถกำหนดได้เองด้วยซ้ำว่าอยากให้เป็นบ้านที่อยู่หัวมุมหรืออยู่ช่วงไหนของใจกลางเมือง เมื่อข้อจำกัดที่เด่นชัดที่สุดดูเหมือนจะเป็นทรัพย์ที่ไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่แต่เป็นทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นนักลงทุนบ้านมือสองส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การหาทรัพย์ในพื้นที่ที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงค่อยหาลูกค้าในภายหลัง ถูกต้องหรือไม่?
ที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและโอกาสในการทำกำไรจะน้อยไปกว่าการทำบ้านโครงการหรือบ้านมือหนึ่งที่เพิ่งสร้างใหม่เลยด้วยซ้ำเพราะหากมองในแง่ดีจะเห็นได้ว่าพื้นที่ในเมืองส่วนใหญ่ล้วนถูกจับจองเป็นบ้านช่องมาก่อนแล้วซึ่งหากจะต้องสร้างบ้านโครงการใหญ่ที่อาศัยพื้นที่จำนวนมากคงจะเป็นเรื่องยากกว่า ดังนั้นผลประโยชน์จะเป็นของใครไปได้นอกเสียจากคนทำบ้านมือสองที่เข้าไปซื้อทรัพย์ต่อจากเจ้าของเดิม
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
แล้วข้อจำกัดของโครงสร้างเดิมล่ะ?
เมื่อการทำบ้านมือสองอยู่บนพื้นฐานของการปรับปรุงมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมดเพื่อควบคุมต้นทุนในการก่อสร้าง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนลหลายคนต่างก็พยายามรีโนเวทเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อไม่ให้งบประมาณในการก่อสร้างนั้นบานปลายจนเฉียดเข้าใกล้จุดอันตรายที่เรียกว่า “การลงทุนที่เข้าเนื้อ” หรือคำว่า “ขาดทุน” และคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยหากว่าได้ทรัพย์สภาพดีที่พร้อมสำหรับการอยู่อาศัยมาไว้ในมือเพราะนั่นหมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับก็จะน้อยลงเช่นกัน
แต่ทว่าบางครั้งการปรับปรุงทรัพย์ประเภทนี้อาจจะยังคงเหลือไว้ซึ่งโครงสร้างเดิมที่สร้างขึ้นมาโดยเจ้าของบ้านเก่า และโจทย์ยากที่ตามมาอย่างแน่นอนก็คือการหาลูกค้าที่ต้องการอย่างแท้จริง
แบบนี้ก็เท่ากับว่าความยากในการขายก็จะมากขึ้นด้วยน่ะสิ!
แต่เดี๋ยวก่อน…. ถ้าคุณได้อ่านเรื่องนี้มุมมองที่เคยมีอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้
หนึ่งในประสบการณ์การปรับปรุงบ้านมือสองของคุณเล็กที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในบทความนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนบ้านมือสองที่กำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องข้อจำกัดของทรัพย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือรูปแบบและสไตล์ที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่มแบบที่เรียกได้ว่าเห็นเมื่อไหร่ก็ร้องโอดโอยกันถ้วนหน้าเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นทรัพย์ติดมือ
ลองนึกภาพตามว่าเจ้าของห้องชุดแห่งหนึ่งเป็นผู้หญิงที่มีเอกลักษณ์และสไตล์ที่ค่อนข้างชัดเจน และเอกลักษณ์ที่ว่าก็คือความชอบและความหลงใหลในสีชมพู คลับคล้ายคลับคลากับความเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์อยู่ในตัว ซึ่งความชอบที่ว่าก็ได้เผื่อแผ่มาจนถึงสไตล์การตกแต่งห้องที่เน้นไปทางโทนสีหวานแหววที่อาจทำให้หลายคนเห็นแล้วนึกถึงร้านไอศกรีมในวันเดอร์แลนด์
ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบสีชมพู
ไม่ใช่ทุกคนที่อยากสวมบทบาทเจ้าหญิงดิสนีย์
นี่คือข้อเท็จจริง
.
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าห้องชุดนี้จะไม่มีคนต้องการเลย
เมื่อเจ้าของเดิมตัดสินใจขายทรัพย์นี้ด้วยสภาพพร้อมสำหรับการหิ้วกระเป๋าเข้าอยู่อาศัย คุณเล็กที่เข้าไปซื้อต่อก็รู้ได้ทันทีว่าลูกค้าคนต่อไปที่จะเข้ามาอยู่จะต้องเป็นคนที่มีความชอบไม่แตกต่างกันนั่นก็คือผู้หญิงสายหวาน แม้ว่าสไตล์ที่ค่อนข้างเจาะจงนี้จะทำให้กลุ่มลูกค้าแคบลงแต่หากมองในแง่ดีก็สามารถนำมาเป็นจุดขายได้อย่างง่ายดายเช่นกันโดยที่คุณเล็กแทบจะไม่ต้องก้าวเข้าไปหาลูกค้าก่อนด้วยซ้ำแต่เป็นทรัพย์ต่างหากที่เรียกลูกค้าเข้ามาหาคุณเล็กด้วยตัวเอง
จริงอยู่ที่ว่าความจำเพาะเจาะจงนั้นเป็นจุดด้อยข้อหนึ่งที่ทำให้บ้านขายออกยาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เจอกลุ่มลูกค้าที่คลิกกับสไตล์นั้นจริง ๆ โอกาสในการปิดการขายอาจจะมากกว่าทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงในตลาดเสียด้วยซ้ำ และจากเรื่องราวนี้ก็ได้แนวคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ…
“ถ้ามองไปที่จุดด้อยเพียงอย่างเดียวมันจะกลายเป็นเรื่องยาก แต่หากมองไปที่ข้อดีก็จะพบว่ามันง่าย”
โอกาสในการขายมีมาตลอด
คุณล่ะ…คว้าไว้แล้วหรือยัง?
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
เรียบเรียงโดย: ศุภธิดา รัสพันธ์
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Freepik