จะมีใครที่ไหน รู้จักตัวเรา ได้ดีเท่าตัวเราเอง
โพสต์ที่ผู้คนในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่สนใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของความรัก มันคงเป็นเพราะว่า พลังแห่งความรัก มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด
แต่ถ้าถามว่าอะไรคือหัวใจหลักที่ทำให้เป็นที่นิยม อาจไม่ใช่เรื่องความรักเสียทีเดียว แต่คงเป็นความซื่อสัตย์ในตัวเองมากกว่า ที่กล้าจะแสดงในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาอย่างเต็มที่
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม พื้นที่ในโซเชียล ถึงอนุญาติให้ผู้คนได้แสดงความเป็นตัวตนออกมากันอย่างสนุกสนาน แล้วได้ผลตอบรับที่ดีกลับคืนไปจากกลุ่มคนที่คิดคล้ายกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง เปรียบเสมือน Working Space ให้ทุกคนได้เปิดเผยความเป็นตัวเอง พร้อมทั้งเปลี่ยนเป็นอาชีพได้อีกด้วย
แม้ในประเทศไทยประเด็นเรื่องของการแสดงออกในสิ่งที่ตัวเราต้องการ จะเพิ่งถูกสนับสนุนและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในระยะเวลาพักหลังไม่นาน ความเป็นจริงเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทั่วโลกมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนผู้คนยังมองว่าใครที่ทำอะไรต่างจากคนอื่นนั้นคือ สิ่งที่แปลกและไม่เข้าพวกเสมอ
จนเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างไร้ขีดจำกัด เหล่าพื้นที่ในการแสดงออกเพิ่มขึ้น เหล่าบล็อกเกอร์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ได้โลดเล่นแสดงความสามารถกันสุดฤทธิ์
เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็ยังมีพื้นที่เหลือมากพอที่ให้ผู้ชายคนหนึ่ง จะใช้ช่วงเวลานี้ในการออกมาทำอะไรสักอย่างบ้าง และก็เป็นที่มาของ แอคเคาท์ที่เริ่มจากเอาไว้ระบายความในใจของตัวเอง สู่งานเขียนที่มีคุณภาพ และผู้ติดตามมากมายในเวลาต่อมา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 แอคเคาท์หนึ่งในทวิตเตอร์ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า @Kidmakk (คิดมาก) เป็นพื้นที่ไว้สำหรับระบายความในใจของเจ้าของแอคเคาท์ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่อาจไม่เป็นใจ ผิดหวัง น่าเศร้า ทั้งหลายที่เขาพบเจอ
จากที่ทำไปโดยไม่คิดอะไร มีแค่ความรู้สึกดีที่ได้แสดงออกผ่านตัวอักษร ได้ระบายผ่านพื้นที่ของตัวเอง ก็ทำให้เมื่อหลายคนที่รู้สึกคล้ายกัน ได้พบว่านี่ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่พ่นคำคมสวยหรูไปวันๆ แต่มันให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อน ที่ออกมาพูดคุยกันมากกว่า
ทำให้ คุณศร ศวัส มลสุวรรณ เจ้าของแอคเคาท์ ได้เห็นถึงมุมมองในด้านนี้ ว่ามีคนคิดแบบเดียวกันกับเขาอยู่ไม่น้อย ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้ยังคงเดินหน้าทำงานของเขาต่อไป
กำลังใจคือสิ่งสำคัญ นี่เป็นความรู้สึกหลังจากที่คุณศร ได้เขียนระบายตามสไตล์ในเรื่องทั่วไป แล้วพบว่าที่มีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหล่านี้เป็นกำลังใจให้ใครหลายคนเสมอ ได้รู้สึกว่าเรื่องแย่ๆในชีวิต พวกเขาไม่ได้สู้อยู่ตัวคนเดียว อย่างน้อยก็มีเพจคิดมาก และคุณศร ที่สู้อยู่ข้างๆไปพร้อมกัน
กลายเป็นว่าจากแค่บ่นตามสไตล์ของตัวเอง ทุกวันนี้เขาคือแอดมินเพจชื่อดังที่ยอดผู้ติดตามกว่า 1.5 ล้านคนในเฟซบุ๊ก และยอดฟอลโลเวอร์ในทวิตเตอร์กว่า 2.4 ล้าน แอคเคาท์ไปแล้ว
ในอดีตที่ยังไม่ค่อยมีการนำเสนอถึงลักษณะความแตกต่างในเชิงบุคลิกของแต่ละคนเท่าไหร่ จนเมื่อคำว่า Introvert และ Extrovert เข้ามาทุกสิ่งถูกจำกัดและนิยามให้เข้าใจง่ายขึ้น
อย่างหลายคนอาจจะอยู่ในหมวดของ Introvert คงเพราะสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะไปสถานที่ไหนก็จะพบกับความวุ่นวายคงทำให้การอยู่กับตัวเองบ่อยขึ้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
แต่ก็นั่นแหละ สุดท้ายก็อยู่ที่มุมมองอยู่ดี ขนาดเรื่องเดียวกันยังสามารถมองได้หลายมุม อย่างเช่นหนึ่งงานเขียนของ คุณจิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่พูดถึงเรื่องของตู้เย็นไว้อย่างลึกซึ้ง
อย่างถ้าเป็นวิศวกร เขาคงมองในเรื่องโครงสร้าง สถาปนิก คงมองในเรื่องการออกแบบ นักเศรษฐศาสตร์ มองในมุมการซื้อขาย หรือนักนิเทศศาสตร์ ก็มองในการทำสื่อโฆษณา
เลยทำให้มองว่า ทุกสิ่งก็มีมุมมองที่หลากหลาย เช่นกันกับมนุษย์เองก็ยังมีมุมมองความคิดในหลากหลายเช่นกัน
ซึ่งจากงานเขียนของ คุณจิก ประภาส นั่นเอง เป็นแรงบันดาลใจให้ คุณศร ได้เกิดความคิดที่ว่าทุกสิ่งมันกว้างมาก อะไรที่ไม่รู้ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี และเป็นที่มาของเพจ คิดมาก ในที่สุด
เนื่องจากด้วยความที่ตัวคุณศรเองเป็นคนคิดมากอยู่แล้ว คือคิดในเรื่องอะไรสักหนึ่งเรื่อง จะสามารถต่อยอดขยายไปได้หลายมุม ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการรังสรรค์ผลงานออกมาสักชิ้น
บวกกับทั้งสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเรื่องให้คิด หลายคนไม่สามารถแบ่งกระบวนการคิดได้สักเท่าไหร่ การที่มีเพจคิดมากขึ้น ก็ช่วยทำให้พวกเขาได้เตือนสติตัวเองอีกครั้ง และเริ่มหันมาให้ความสนใจในการจัดลำดับความสำคัญให้เป็น
บางทีกำลังใจดีดี ไม่ได้มาจากการได้วิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดหรือแนวการคิดที่เฉียบแหลม ขอแค่ได้ระบายในสิ่งอึดอัดในใจ ต่อให้เปลี่ยนอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าที่ต้องเก็บไว้ตัวคนเดียว มันไม่ง่ายเลย ที่จะผ่านเรื่องราวห่วยๆด้วยตัวคนเดียว ขอแค่รู้สึกว่ามีคนข้างๆอยู่รับฟัง เท่านั้นก็น่าพอใจที่สุดแล้ว
คุณศรไม่ใช่ไลฟ์โค้ชหรืออาจารย์จิตวิทยาที่ไหน เขาก็คือผู้ชายคนหนึ่งที่อยากมีความสุข และเชื่อว่าทุกคนก็คงคิดแบบเดียวกัน แต่การจะตามล่าหาความสุขก็ไม่ใช่คำตอบของทุกคน
แค่เรียนรู้จากความเศร้า ความผิดหวังให้เป็น แค่นี้ก็เพิ่มความสุขได้แล้ว เพราะหากความผิดหวังที่เราเคยเจอ มันโคจรกลับมาหาตัวเราอีกครั้ง อย่างน้อย เราก็จะไม่เสียใจเท่ากับครั้งที่ผ่านมา แล้วรับมือกับช่วงเวลาแบบนี้ได้ดีขึ้น
มุมมองที่สุดจะธรรมดาแต่แสนพิเศษแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะบางคน แต่ทุกคนก็สามารถทำให้มันเป็นเช่นนี้ได้
บางทีการมองหาอะไรที่ยากจนเกินไป เพราะเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่คู่ควรและคุ้มค่าในการได้มาครอง ก็ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่สำคัญ
การอยู่กับสิ่งง่ายๆ ใช้ชีวิตอย่างไรให้ธรรมดาที่สุด ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกคน ไม่ต้องเข้าใจโลก แค่เข้าใจความต้องการของตัวเอง และตอบสนองสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็น่าพอใจที่สุดแล้ว.
…
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: Pexel