ถ้าพูดถึง “อี-บิดดิ้ง” หรือ “e-bidding” บางคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อน บางคนอาจจะมีสีหน้าสงสัย บางคนอาจจะไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร
ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ e-bidding ก็คือ “การประมูลงานภาครัฐ” ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านวิธีการประมูลงาน พูดง่าย ๆ ก็คือ มันเป็นช่องทางหารายได้ช่องทางหนึ่งสำหรับนักธุรกิจทั้งหลายนั่นเอง

ภาพถ่ายโดย Khwanchai Phanthong จาก Pexels
ต้องเท้าความก่อนว่า ในอดีตการประมูลงานเพื่อคัดเลือกคนเข้ามารับงานจากภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้การประกาศภายในหน่วยงานเพื่อชักชวนให้ผู้รับจ้างหรือนักธุรกิจทั้งหลายเข้ามาทำการ “ยื่นซอง” ประกวดราคา
ว่ากันว่าวิธีการดังกล่าวมี “จุดอ่อน” หลายจุด ถ้าเป็นในมุมมองของภาครัฐเอง วิธีนี้ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรมหลายจุด ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ ทั้งยังตรวจสอบได้ยาก
ในส่วนของคนทำมาหากินที่เข้าไปรับงานก็รู้สึกว่าตนเองถูก “ปิดกั้นโอกาส” เพราะในอดีตการรับรู้ข่าวสารจากภาครัฐเป็นเรื่องยาก รวมไปถึงมีการเล่นพรรคเล่นพวก มีความไม่เป็นธรรม คนที่ได้รับงานส่วนใหญ่เป็น “ขาประจำ” ที่ได้รับการคัดเลือกตลอด จนทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายคนหมดโอกาสและหมดกำลังใจ

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
แน่ล่ะว่า ใคร ๆ ก็บอกว่าประมูลงานกับภาครัฐมีความเสี่ยง ไม่โปร่งใส เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ ตรวจสอบได้ยาก เล่นพรรคเล่นพวก ไม่เป็นธรรม ปิดกั้นโอกาสคนอื่น ขาประจำได้รับคัดเลือกตลอด คนหน้าใหม่หมดสิทธิ์ ฯลฯ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ระบบการประมูลภาครัฐที่เรียกว่า “อีบิดดิ้ง” (e-bidding)
หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ระบบจัดซื้อพันธุ์ใหม่”
e-bidding หมายถึง การประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งสินค้าและบริการด้วยการทำรายการราคาและข้อเสนอทางเทคนิคผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ด้วยตัวเองตามวันเวลาที่กำหนด และผู้ร่วมประมูลจะไม่ถูกเปิดเผยรายชื่อเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมเหมือนในอดีต
ทำไมต้อง e-bidding?
วิธีการนี้จะช่วยให้การประมูลงานภาครัฐมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาหากมีผู้สนใจอยากเสนอราคา จำเป็นต้องเข้าไปทำในสถานที่ราชการ ทำให้ทราบทันทีว่าครั้งนั้นมีใครจะเข้าร่วมเสนอราคาบ้าง ซึ่งมีโอกาสเกิดการทุจริตได้ง่าย ทำให้รัฐเสียประโยชน์และได้รับบริการหรือสินค้าที่มีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งให้ผู้ประกอบการหลายคนหมดโอกาสในการประมูลงานกับภาครัฐ
ข้อดีของ e-bidding มีอะไรบ้าง?
- ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเราจะไม่รู้ว่ามีใครมายื่นประมูลบ้าง และเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิ์ดูเอกสารเพื่อนำไปบอกกับพรรคพวกได้เหมือนระบบเก่า
- ช่วยสร้างโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความสามารถตรงกับสายงาน
- ช่วยลดค่าใช้จ่าย ผู้ยื่นประมูลไม่ต้องเดินทางบ่อย ๆ แค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเสนอราคาได้
นอกจากนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e-bidding ก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไปนัก โดยจะมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เจ้าหน้าที่จัดทำเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมประกาศเชิญชวน
ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าทำรายการขอจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมร่างขอบเขตของงาน เสนอหัวหน้างานเพื่อความเห็นชอบ
ขั้นตอนที่ 3 หากหัวหน้างานเห็นชอบ ต้องนำร่าง ประกาศ ร่างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ให้สาธารณะชนเสนอแนะ วิจารณ์ หน่วยงานสามารถดำเนินการประกาศร่างให้วิจารณ์ได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
ขั้นตอนที่ 4 หน่วยงานรัฐจะเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผู้ค้าที่สนใจผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ
ขั้นตอนที่ 5 ผู้ค้าที่สนใจจะเข้าร่วมการเสนอราคา ต้องดาวน์โหลดเอกสารประกวดราคา พร้อมทั้งเสนอราคาผ่านระบบ e-GP ตามวันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ
ขั้นตอนที่ 6 เมื่อครบกำหนดเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาผลจึงจะสามารถดาวน์โหลดเอกสารของผู้ค้า พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาคุณสมบัติ และประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ทั้งนี้ ผู้เสนอราคาสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ภายใน 7 วัน

ภาพโดย กรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ระบบ e-bidding ยังเปิดโอกาสให้ทุกอาชีพเข้ายื่นเสนองานได้ แต่ทั้งนี้งานที่ยื่นเสนอนั้นจะต้องสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง ทบวง และกรมที่มีในประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะมีกิจกรรมหรือโครงการที่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นประจำทุกปี ทำให้ต้องมีการจ้างงานเป็นจำนวนมากและงานก็มีความหลากหลาย จึงเปิดโอกาสให้คนภายนอกสามารถเข้ามายื่นเสนองานกับภาครัฐได้มากขึ้น
สำหรับงานที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ e-bidding ได้ โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นเนื้องานที่มีความซับซ้อนและเฉพาะทาง ได้แก่
- งานก่อสร้างทุกชนิด
- งานด้านการเกษตร
- งานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์
- งานประชาสัมพันธ์
- งานจัดอีเวนต์
- งานจัดหาวัสดุต่าง ๆ
- งานกิจกรรมเพื่อพัฒนาสินค้า
- งานกิจกรรมอบรมสัมมนา
- งานสำรวจวิจัย
- งานบริการต่าง ๆ
- งานหมวดอาหาร ฯลฯ

ภาพถ่ายโดย PhotoMIX Company จาก Pexels
มี e-bidding ก็ต้องมีระบบ e-GP
จากที่ได้ ข้างต้นถึง “ระบบ e-GP” มาเล็กน้อย ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับ “ระบบ e-GP” กันให้มากขึ้นดีกว่ามันคืออะไร แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับ e-bidding
การที่เราจะเข้าไปรับงานหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชนต่าง ๆ แน่นอนว่าเราจะต้องสมัครเป็นสมาชิกผู้ค้ากับภาครัฐเสียก่อน การเป็นสมาชิกผู้ค้ากับภาครัฐสำคัญมาก ถ้าไม่มี ก็ไม่สามารถเสนองานหรือค้าขายกับภาครัฐได้ ไม่ว่างบประมาณจะมีมากแค่ไหนก็ตาม
ทุก ๆ โครงการของภาครัฐจะกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกรรมจะต้องลงทะเบียนใน “ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “e-GP” (Electronic Government Procurement)

ภาพโดย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-GP อย่างครบวงจร ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากเงินของแผ่นดินเกิดความคุ้มค่าสูงสุด ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th
ข้อดีของระบบ e-GP คือ ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียม ช่วยลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและการสมยอมราคา (การฮั้วราคา) ได้
เนื่องจากผู้ค้าต้องรับเอกสารและยื่นเอกสารผ่านทางออนไลน์แทนการรับเอกสารและยื่นเอกสารที่หน่วยงานรัฐ ทำให้ผู้ค้าและหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการไม่ทราบรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมการเสนอราคา การสมยอมราคาจึงลดลง

ภาพโดย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้มีการเชื่อมโยงระบบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าสามารถทำรายการต่าง ๆ ผ่านทางระบบธนาคารได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระงานด้านเอกสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งช่วยให้ผู้ค้าได้รับเงินค้ำประกันคืนได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกด้วย
นับว่าระบบ e-GP เป็นระบบที่เน้นความโปร่งใสและความรวดเร็วเป็นหลัก
สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนผู้ค้ากับภาครัฐในระบบ e-GP มีขั้นตอนที่ง่ายเพียงนิดเดียว 4 ขั้นตอนเท่านั้น ดังนี้ (สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและขั้นตอนการลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ที่ www.gprocurement.go.th)
ขั้นตอนที่ 1 ลงทะเบียนออนไลน์ด้วยการกรอกข้อมูลหน้าเว็บ
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเสร็จสิ้นการลงทะเบียนออนไลน์แล้ว ให้พิมพ์แบบแจ้งการลงทะเบียนพร้อมกับแนบหลักฐานนำส่งทางไปรษณีย์หรือมาส่งตัวเองที่สำนักงาน
- สถานที่ตั้งประกอบการในกรุงเทพฯ ส่งไปที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
- สถานที่ตั้งประกอบการในต่างจังหวัด ส่งสำนักงานคลังจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่
ขั้นตอนที่ 3 รับรหัสเข้าใช้งานชั่วคราวผ่าน e-mail
ขั้นตอนที่ 4 First Time Log-in เข้าสู่ระบบครั้งแรกหลังจากที่เราได้รับรหัสใช้งาน
จะเห็นได้ว่าการลงทะเบียน e-GP ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรมากนัก ทั้งยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย แต่สิ่งที่คุณควรระวังก็คือ ควรตรวจสอบการลงทะเบียนอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ชื่ออีเมล ฯลฯ นอกจากนี้ อย่าลืมส่งแบบแจ้งการลงทะเบียนและเอกสารให้ครบถ้วน และเมื่อเข้าสู่ระบบครั้งแรก ต้องเข้าสู่ระบบครั้งภายใน 10 วันทำการ
การลงทะเบียน e-GP ถือว่ามีความคุ้มค่า เพราะถ้าเราลงทะเบียนไว้ ปีนั้นอาจจะได้รับงานแต่ภาคเอกชน ซึ่งก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรเสียหายแน่นอน แต่ถ้าหันมารับงานภาครัฐ และไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลงานได้ และทำให้เสียโอกาสมากกว่า

ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels
โอกาสเป็นของทุกคน ถ้ามีโอกาสคุณควรรีบคว้าเอาไว้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้เป็นผู้ค้ากับภาครัฐรายใหญ่เหมือนกับคนอื่น ๆ ก็ได้
e-bidding นับว่าเป็น “ระบบจัดซื้อพันธุ์ใหม่” ที่คิดค้นขึ้นมาโดยภาครัฐที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อย แต่ e-bidding จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการทำงานในภาครัฐได้หรือไม่นั้น เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ในทางธุรกิจก็มีโอกาสที่จะทำงานกับภาครัฐได้ แม้ว่าคุณจะไม่เคยทำงานกับภาครัฐเลยก็ตาม แต่ถ้าคุณมีความถนัดงานในสาขาใดแล้ว ให้ลองหมายตางานในกลุ่มนั้นไว้ จากนั้นให้เริ่มต้น คิด ลงมือ วางแนวทางจากประสบการณ์และจากข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ
แล้วไม่นานคุณก็จะเข้ามาสู่เส้นทางแห่ง “ขุมทรัพย์” นี้เหมือนกับคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ขอเพียงเป้าหมายชัดเจน คุณก็ทำได้!
ที่มา: กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
คู่มือประมูลงานราชการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนอนุมัติ e-Bidding โดย ถนอมจิต คงจิตต์งาม
อ้างอิง: www.oic.go.th
https://www.facebook.com/ThailandStartup/posts/2244544028889255/