อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “อย่าพยายามเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แต่จงพยายามเป็นคนที่มีคุณค่า”
คำว่า “คนที่มีคุณค่า” และ “คนที่ประสบความสำเร็จ” นั้นแตกต่างกันมากจนถึงขนาดสามารถนำสังคมไปสู่สถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกันได้ เมื่อคุณอ่านบทความนี้ คุณอาจจะเลือกได้ว่า คุณจะเป็น “คนที่มีคุณค่า” หรือ “คนที่ประสบความสำเร็จ” ดี

ภาพถ่ายโดย tirachardz จาก freepik
1) คนที่มีคุณค่า
บุคคลที่มีค่า คือ คนที่ใช้ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ท้อถอยเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก เป็นคนที่รู้จักยอมรับความสูญเสียหรือความทุกข์ ยอมเสียสละเพื่อครอบครัว สังคม ชุมชน หน้าที่ และองค์กร
– คนที่มีคุณค่าเมื่อทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือจัดการกับงานใด ๆ ก็ตาม มักจะถ่อมตน รอบคอบ และซื่อสัตย์ แม้ว่าการกระทำของเขาอาจจะถูกหรือผิด แต่เขาก็ยังสามารถคงค่านิยมของพวกเขาไว้ได้เสมอ
– คนที่มีคุณค่ามักเป็นที่เคารพนับถือ ไม่ว่าพวกเขาจะ “ประสบความสำเร็จ” หรือไม่ก็ตาม ค่านิยมของพวกเขาเป็นที่ยอมรับในสังคมที่พวกเขาทำงานและอาศัยอยู่ เช่น นาย ก. เป็นที่เคารพนับถือเพราะความซื่อสัตย์ของเขา นาง ข. เป็นที่รักของผู้คนเพราะความกระตือรือร้นและความเมตตาต่อผู้อื่น เป็นต้น

ภาพถ่ายโดย freepik
2) คนที่ประสบความสำเร็จ
– เป็นคนที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ สามารถบรรลุผลสำเร็จทำให้คนอื่นชื่นชม ยิ่งเป้าหมายใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น เส้นทางในการบรรลุเป้าหมายของคนที่ประสบความสำเร็จอาจจะไม่เหมือนกับเส้นทางของคนที่มีคุณค่าก็ได้
– คนที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างที่จะเห็นแก่ตัวและนึกถึงแต่ตนเอง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรอบคอบ และความซื่อสัตย์ของคนที่ประสบความสำเร็จมักถูกครอบงำด้วยความสำเร็จของเขาเอง
– คนที่ประสบความสำเร็จจะมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมากเมื่อเขาอยู่ในจุดสูงสุดของชีวิต แต่วันใดที่เขาตกต่ำลง ความนิยมของเขาก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
การจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต้องรู้จักใช้สามัญสำนึก (Common Sense) อย่างมาก ซึ่งหมายถึง การรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก รู้จักผิดชอบชั่วดี คนมีคุณค่าจะสร้างสังคมด้วยสามัญสำนึก ถ้าสังคมมีสามัญสำนึกมาก ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกต้อง ชัดเจนและโปร่งใส สังคมก็จะมีศีลธรรมสูง

ภาพถ่ายโดย Max Fischer จาก Pexels
ตัวอย่างเช่น ครูคนหนึ่งยืนคุยกับคน 3 คนที่เป็นพ่อแม่ของนักเรียน 3 คนในชั้นเรียน ผู้ปกครองทั้ง 3 คนนี้พูดจาสุภาพกับครู ในขณะที่ครูพูดจาสุภาพกับพวกเขา เมื่อผู้ปกครองทั้งสามคนจากไป ครูบังเอิญได้รู้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ปกครองเหล่านั้นมากขึ้น คนหนึ่งเป็นคนกวาดถนน คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัท และอีกคนหนึ่งเป็นทหารยศพันเอก นี่คือสังคมที่มีสามัญสำนึก เพราะพวกเขาให้ความเคารพและสุภาพต่อกัน แม้จะทำอาชีพสูงต่ำต่างกันเพียงใดก็ตาม
สังคมจะมีสามัญสำนึกได้ เพราะมีคนที่มีคุณค่าอยู่ในสังคม คนเหล่านี้จะกลายเป็นไอดอลของทุกคน พวกเขาไม่ได้เป็นที่นิยมชื่นชอบเพราะบุคลิกภายนอกหรือรูปร่างหน้าตา แต่เพราะความเสียสละ ความกล้าหาญ หรือความเป็นมืออาชีพในการทำงานที่พวกเขาแสดงออกมาทุกวัน

ภาพถ่ายโดย lookstudio จาก freepik
ดังนั้นคนที่มีคุณค่าจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอีกแง่หนึ่งก็ได้ และบุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่มีคุณค่าเสมอไป ขึ้นอยู่ว่าเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซื่อสัตย์ มากแค่ไหน และเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ ฯลฯ
เป็นไปได้ว่า ที่ไอน์สไตน์กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะเขาต้องการให้อารยธรรมของมนุษย์เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องมีศีลธรรม บางทีเขาอาจจะรู้ว่าคนทั่วไปที่ต้องการที่จะไขว่คว้าหาความสุขมากกว่าที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อต้องการคุณค่าบางอย่างในชีวิต ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกเป็น “คนที่มีคุณค่า” หรือ “คนที่ประสบความสำเร็จ”
อ้างอิง: Hòa Taro (ผู้เขียน)
https://www.facebook.com/DamMeVaKhatVong/photos/a.111728830658481/306802717817757/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik