ค้นหาความหมายที่ใช่ ด้วยแนวคิด “อิคิไก” แบบญี่ปุ่น
อะไรคือเหตุผลที่คุณตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้า?
ถ้าเพียงคำถามแค่นี้คุณยังตอบไม่ได้จนคุณรู้สึกอยากคลานกลับขึ้นไปบนเตียงอีกครั้ง ถ้าคุณเป็นแบบนี้แล้วล่ะก็ แนวคิดแบบ “อิคิไก” ของญี่ปุ่นอาจสามารถช่วยให้คุณตอบคำถามนี้ได้

Photo by Julian Jagtenberg from Pexels
แนวคิดแบบ “อิคิไก” มีที่มาจากประเทศที่มีประชากรเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างประเทศญี่ปุ่น แนวคิดนี้กำลังเป็นที่นิยมนอกประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเชื่อกันว่าการปฏิบัติตนโดยใช้แนวคิดแบบ “อิคิไก” จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น
แม้ว่าจะไม่มีคำแปลภาษาอังกฤษแบบตรงตัว แต่คำว่า “อิคิไก” (生き甲斐) เป็นการรวมคำภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า อิคิรุ (生きる) ซึ่งแปลว่า “มีชีวิต” และ ไค (甲斐) ซึ่งหมายถึง “คุณค่า” หรือ “ความหมาย” เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันจะให้ความหมายว่า “ความหมายของการมีชีวิตอยู่”

ภาพจาก EDUCA มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู
คำว่า อิคิไก ยังมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยคำว่า ไก มาจากคำว่า ไค หมายถึง “หอย” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากในช่วงสมัยเฮอัง (ค.ศ.794 – 1185) ดังนั้น อาคิฮิโระ ฮาเซงาวะ (Akihiro Hasegawa) นักจิตวิทยาคลินิกและรองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโทโยะ เอวะ (Toyo Eiwa University) จึงได้เพิ่มความหมายไว้อีกว่า “คุณค่าของการมีชีวิตอยู่” ซึ่งเราสามารถค้นหาความหมายหรือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่นี้ได้ โดยเริ่มต้นด้วยคำถามกับตัวเอง 4 ข้อ ดังนี้

Photo by Ketut Subiyanto from Pexels
1. คุณรักที่จะทำอะไร?
2. คุณมีความสามารถอะไร
3. โลกต้องการอะไรจากคุณ?
4. อะไรคือสิ่งที่สร้างรายได้ให้คุณ?
การหาคำตอบและความสมดุลทั้งสี่ด้านนี้อาจเป็นเส้นทางสู่ อิคิไก สำหรับชาวตะวันตกที่กำลังมองหาการตีความอย่างรวดเร็วของแนวคิดนี้ แต่ อิคิไก ในความหมายของญี่ปุ่นเป็นกระบวนการที่เนิบช้ากว่านั้นและมักไม่เกี่ยวข้องกับงานหรือรายได้ เพราะจากการสำรวจชายหญิงชาวญี่ปุ่น 2,000 คนในปี 2010 ผู้เข้าร่วมเพียง 31% เท่านั้นที่อ้างว่า “งาน” เป็น อิคิไก
กอร์ดอน แมตทิวส์ (Gordon Matthews) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) และผู้เขียนหนังสือ “What Makes Life Worth Living?: How Japanese and American Make Sense of their Worlds” ได้กล่าวกับ The Telegraph สำนักข่าวชื่อดังแห่งอังกฤษไว้ว่า ที่จริงแล้ว อิคิไก มักจะตีคู่มากับแนวคิดอื่น ๆ ของญี่ปุ่นอีกสองแนวคิดคือ อิตไตคัง (一体感) ซึ่งหมายถึง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การอุทิศตัว คำนึงถึงส่วนรวม และการทำหน้าที่ของตนเอง” ในขณะที่ จิโกะ จิทสึเก็ง (自己実現) จะเกี่ยวข้องกับ “การตระหนักรู้ในตนเอง” มากกว่า

Photo by mentatdgt from Pexels
แมททิวส์ กล่าวอีกว่า อิคิไก มีแนวโน้มที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น “เพราะคุณมีบางสิ่งบางอย่างที่คุณอยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อมัน” แต่เขาก็เตือนว่าอย่ามองว่า อิคิไก เป็นทางเลือกเดียวในการใช้ชีวิต อิคิไก ไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือพิเศษกว่าทางเลือกอื่น ๆ แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องพิสูจน์เอง
โอกินาวะ เป็นเกาะที่อยู่ตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะญี่ปุ่น มีประชากรที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมากผิดปกติ และมักถูกกล่าวถึงในเรื่องของการผลทดสอบอิคิไก

dan buettner ภาพจาก insider.com
แดน บิวท์เนอร์ (Dan Buettner) ผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ที่มีคนอายุยืนยาวอาศัยอยู่ (Blue Zones) กล่าวว่า พื้นที่ต่าง ๆ ของโลกที่ผู้คนอาศัยอยู่ยาวนานที่สุดอย่างเกาะญี่ปุ่น แนวคิดเรื่อง อิคิไก ได้แพร่ขยายไปสู่วิถีชีวิตของชาวเกาะเหล่านี้ ถ้ารวมกับการรับประทานอาหารและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัว อิคิไก ได้ช่วยทำให้ผู้คนในโอกินาวะมีชีวิตที่ยาวนานขึ้นเช่นเดียวกับทำให้พวกเขามีเป้าหมายในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครูสอนคาราเต้ ชาวประมง หรือคุณทวด คนเหล่านี้ล้วนมีอายุมากกว่า 100 ปีทั้งสิ้น
บิวท์เนอร์กล่าว การรู้ว่า อิคิไก ของคุณคืออะไรนั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้เน้นย้ำอีกว่า อิคิไก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอายุขัย สำหรับใครก็ตามที่ตอนนี้คิดว่า “งาน” คือ อิคิไก ในอนาคตเมื่อคุณใกล้จะเกษียณ คุณก็สามารถเริ่มค้นหา อิคิไก ของคุณใหม่ได้เสมอ
แล้วตอนนี้คุณหา อิคิไก ของคุณพบหรือยัง?
อ้างอิง: https://www.businessinsider.com/the-concept-of-ikigai-could-be-the-secret-to-a-long-meaningful-life-2017-9
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
. . .
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik