ทฤษฎี “หน้าต่างแตก”
ในปี 1969 นักจิตวิทยาชื่อ Philip Zimbardo ของมหาวิทยาลัย Stanford ทําการทดสอบ โดยการทิ้งรถสองคันที่ไม่มีป้ายทะเบียนไว้ในที่พักอาศัยของคนมีรายได้น้อยในเขต Bronx, New York และที่ย่านคนรวยในเมือง Palo Alto รัฐแคลิฟอร์เนีย
ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงรถในเขต Bronx ถูกทุบประตูกระจกและขโมยของทั้งหมด
ในทางกลับกันรถที่ทิ้งในเมือง Palo Alto ยังคงอยู่ในสภาพเดิม
ต่อจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ในการทดลองของ Zimbardo ก็มีคนแอบใช้ดัมบ์เบลล์กระแทกกระจกรถคันที่จอดในย่านคนรวยจนแตก
ท้ายที่สุด อะไหล่ อุปกรณ์ในรถก็หายเรียบ
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคืออะไร?
ในปี 1982 หลายปีหลังจากการทดลองของ Zimbardo ผลลัพธ์ข้างต้นก็ถูกกล่าวถึงในบทความของนิตยสาร The Atlantic โดยนักสังคมศาสตร์ George Kelling นั่นครั้งแรกที่มีคนพูดถึงทฤษฎี “หน้าต่างแตก”
หากใครทํากระจกหน้าต่างของอาคารแตกและซ่อมไม่ทัน กระจกหน้าต่างแถว ๆ นั้นจะมีคนเขวี้ยงหินใส่จนแตกไปทั่วทั้งย่าน สาเหตุก็คือเมื่อเห็นหน้าต่างแตก คนที่มือคันก็จะมีแนวโน้มที่จะทําลายหน้าต่างอื่น ๆ ต่อไป
ทฤษฎีนี้เข้าใจได้ไม่ยาก
ตัวอย่างเช่น มีห้องโถงที่สะอาดมาก แต่หากใครเอาถุงขยะไปวางในมุมใดมุมหนึ่งและเก็บไม่ทัน จะมีคนนำถุงขยะมาทิ้งต่อ ๆ กันไปเหมือนเป็นที่ทิ้งขยะ ห้องโถงที่เคยสะอาดก็จะกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยขยะที่เหม็นและสกปรก นี่คือ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” ที่ตอนแรกก็แค่เป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่หากแก้ไขไม่ทัน ปัญหาก็จะใหญ่ขึ้นและผลที่ตามมาก็จะรุนแรงขึ้น
ไม่ต่างกับบ้านเราที่มีคนเอาผ้าไปพันต้นกล้วย บูชาวังน้ำ กราบไหว้ไอ้ไข่
ทฤษฎีข้างต้นมีไว้สําหรับการวิเคราะห์จิตวิทยาอาชญากรรมเท่านั้น แต่มันก็มีความเชื่อมโยงต่อพฤติกรรม ต่อวินัยและต่อการเติบโตด้านจิตวิญญาณของแต่ละคน

ภาพถ่ายโดย Viajero จาก Pexels
ยกตัวอย่างปัญหาการลดน้ำหนัก วันนี้ตั้งใจจะวิ่งแต่พรุ่งนี้ยุ่งมากจนไม่ได้วิ่ง แล้ววันถัดไปก็มีเหตุมากมายจนต้องหยุดวิ่ง เมื่อเวลาผ่านไป….คนก็จะทิ้งความต้องการเดิมของตนเองที่อยากออกกำลังกายที่หวังไว้ว่าจะมีรูปร่างที่ดี
ความสําเร็จในหน้าที่การงานก็อยู่ในกฎนี้ คุณขี้เกียจวันนี้และวันพรุ่งนี้ขี้เกียจต่อ แม้ว่ามันจะดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต แต่ในระยะยาวคุณจะกลายเป็นคนที่ขาดความมุ่งมั่นโดยสิ้นเชิง และในที่สุดก็จะละทิ้งเป้าหมายของตัวเอง
มีคํากล่าวที่ว่า “คุณใช้ชีวิตในวันหนึ่งอย่างไรทั้งชีวิตก็จะเป็นอย่างนั้น” ขี้เกียจและเอ้อระเหยกับบางวัน ก็ไม่ต่างกับรอยร้าวบนหน้าต่าง หากไม่สามารถตระหนักถึงความร้ายแรงของสิ่งนี้และรู้ว่ามันจะกระทบกระเทือนชีวิตแค่ไหน มันก็จะปรากฏ “หน้าต่างแตก” มากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดคุณก็จะนําตัวคุณไปอยู่กับเศษซากของความแหลกเละ
นิสัยคุณ วัตรปฎิบัติของคุณ จะเป็นเศษกระจกฝังลึกไปสู่คนรอบข้าง ที่เมื่อจะย่างเท้าก้าวเดิน ก็จะมีแต่ความเจ็บปวด
“อย่าเห็นความดีเล็ก ๆ แล้วไม่ทำ อย่าเห็นว่ามันเป็นความเลวเล็กน้อยก็รับได้” ถ้าจำไม่ผิด ขงเบ้งเป็นคนพูดไว้ในสามก๊ก
หากคุณไม่สามารถควบคุมกิเลสเล็ก ๆ ได้ในเบื้องต้น รู้สึกยืดหยุ่นและรับได้กับสิ่งที่ผิดต่อคุณธรรมในบางอย่าง ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นสิ่งใหญ่โต ที่คุณไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป
อย่าปล่อยให้ “ผลจากหน้าต่างแตก” ทําลายชีวิตคุณ
จริง ๆ แล้ว “เอฟเฟกต์หน้าต่างแตก” สามารถใช้กับปัญหามากมายในชีวิตได้
ในปี 1980 การจัดการรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กมันวุ่นวายมาก และที่นี่ก็เป็นสถานที่ที่มีสถิติอาชญากรรมสูงสุด สิ่งนี้ทําให้ผู้คนจํานวนมากกลัวการนั่งรถไฟใต้ดิน
กรมการขนส่งนิวยอร์กจึงจ้าง David Gangsi มาเป็นผู้อํานวยการรถไฟใต้ดิน – – หลังจากรับงาน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทําความสะอาด ลบภาพวาดที่ไร้สาระ, ที่สื่อถึงการเมายา, ความขี้เกียจ, ภาพโสเภณี ทุกที่ทุกสถานี ไม่ใช่แค่การทําความสะอาดของเก่า เขายังต้องจ้างคนมาคอยลบภาพที่มีคนมาวาดซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกวัน

ภาพถ่ายโดย Kaique Rocha จาก Pexels
เขาจัดตั้งหน่วยซุ่มเพื่อตรวจจับคนพวกนี้ แล้วก็ลงโทษอย่างหนัก ในอีกไม่กี่ปีต่อมาผู้สืบทอดตำแหน่งจาก David Gangsi ยังมุ่งเน้นที่จะจัดการการปัญหาในแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง มีปรากฏการณ์การหลบหนีนายตรวจ มีคนจำนวนมากไม่ซื้อตั๋วในการใช้บริการรถไฟใต้ดิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะจับคนขี้โกงเหล่านี้และใส่กุญแจมือ มาเรียงแถวเพื่อให้คนที่ขึ้นรถไฟได้เห็น
ในช่วงกลางปี 1990 สถานการณ์รถไฟใต้ดินในนิวยอร์กเริ่มดีขึ้น ปลายทศวรรษที่ 90 อัตราอาชญากรรมที่นี่ลดลง 75% จาก 10 ปีก่อน และกลายเป็นหนึ่งในรถไฟใต้ดินที่ปลอดภัยที่สุดในอเมริกา
ในชีวิตก็เช่นกัน หากคุณไม่อยากให้ชีวิตของคุณถูกทําลายจากรูเดียวจุดเดียว สิ่งแรกที่เราต้องทําคือการซ่อม “หน้าต่างแตก” ให้ทันเวลา
บทความโดย: กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels