หลายคนอาจคิดว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดคือ การพูด พูด แล้วก็พูดต่อไปเรื่อย ๆ
แต่แท้จริงแล้ว “ความเงียบ” และ “ความสงบ” ก็เป็นวิธีการสื่อสารที่ดีที่สุดเช่นกัน
เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นอาวุธที่ช่วยปกป้องเราจากความโกรธของผู้อื่น
แล้ว “ความเงียบ” กับ “ความสงบ” จะทำให้คุณสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร บทความนี้จะช่วยคุณหาคำตอบ

ภาพถ่ายโดย SHVETS production จาก Pexels
1.ฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง
อิปิคเตตัส (Epictetus) นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวไว้ว่า “คนเรามีสองหูและหนึ่งปาก แสดงว่าเราควรที่จะได้ฟังให้มากขึ้นและพูดให้น้อยลง”
คนใจเย็นและมีสติที่เข้าใจคำพูดนี้ดีกว่าใคร ๆ ในวงสนทนา คนเหล่านี้มักจะ “ยืนอยู่ข้างหลัง” อย่างเงียบ ๆ เพื่อให้คนอื่นเป็นจุดสนใจแทน และจะพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
อีกวิธีหนึ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือ ขณะที่คุณกำลังสนทนา จงเตือนตัวเองเสมอว่ายังมีอีกคนหนึ่งอยู่ด้วยก่อนที่คุณจะพูดต่อ

ภาพถ่ายโดย Keira Burton จาก Pexels
2.ถามคำถามให้คนอื่นตอบ
จงฟังแต่ไม่นิ่งเฉย คนที่ใจเย็นและสงบเสงี่ยมจะรู้วิธีถามคำถามที่น่าสนใจเพื่อให้การสนทนาดำเนินต่อไป
คนเหล่านี้จะตั้งคำถามเพื่อให้คู่สนทนาแสดงความคิดเห็น ทัศนคติ และความรู้สึกของพวกเขา เช่น เมื่อคุณเห็นคนรู้จักเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปท่องเที่ยว แทนที่จะพูดว่า “ฉันเคยไปที่นั่นด้วย ทริปนั้นเป็นอย่างนี้…” ให้คุณถามว่า “ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง สนุกไหม? ”
การถามคำถามและการฟังจะทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ๆ หรือเข้าใจมุมมองของผู้อื่นมากขึ้นก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นของเราเอง
3.คิดให้ดีก่อนพูด
คนที่สงบเสงี่ยมมักจะเงียบ แต่เมื่อพวกเขาพูด พวกเขาจะพูดได้ถูกต้อง รัดกุม เฉียบแหลม และชัดเจน เพราะเขามักจะคิดหลายครั้งก่อนจะพูด ซึ่งหมายความว่า เขารู้ดีว่าจะพูดอะไรและจะพูดอย่างไร
นี่ไม่ใช่ทักษะที่ฝึกฝนได้ง่าย ๆ ก่อนอื่น คุณต้องมีสมาธิอย่างมากในการสนทนาและต้องพูดช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน

ภาพถ่ายโดย Keira Burton จาก Pexels
4.อย่าขัดจังหวะผู้อื่น
การขัดจังหวะผู้อื่นเป็นการกระทำที่หยาบคายและไม่สุภาพ คนที่สงบเสงี่ยมมักจะปล่อยให้คนอื่นแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ก่อนที่เขาจะพูดออกมา หรือถ้าจำเป็นต้องพูดอะไรอย่างเร่งด่วน เขาจะถามอีกฝ่ายก่อน
5.พูดเบาๆ อย่าขึ้นเสียง
พูดเบา ๆ ด้วยระดับเสียงที่ดังพอเหมาะ แม้จะอยู่ในระหว่างการโต้เถียงกันก็ตาม
ความขัดแย้งระหว่างการสนทนาอาจทำให้เราพูดออกมาโดยไม่รู้ตัว แต่คนที่มีวุฒิภาวะและใจเย็นจะต้องรู้วิธีควบคุมน้ำเสียงตนเอง

ภาพถ่ายโดย Polina Zimmerman จาก Pexels
6.อย่าโกรธเคือง
เพลโต (Plato) นักปรัชญาชื่อดัง เคยกล่าวไว้ว่า “มีสองสิ่งที่เราไม่ควรโกรธ นั่นคือ สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้และสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
ถูกแล้ว ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเราจะโกรธไปทำไม?
แค่ลงมือทำ! และถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็ลืมมันไปซะ สุดท้ายคุณก็ไม่มีอะไรจะต้องโกรธ
แต่เราเป็นมนุษย์ บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงความโกรธไม่ได้ เพราะมันเป็นวิธีที่ใช้ปกปิดความเจ็บปวดและความไร้หนทางของตนเองได้ มันสามารถเป็นช่องทางสำหรับบางคนในการสื่อสารความต้องการของพวกเขา
ความโกรธเป็นการสื่อสารที่ดี แต่มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ทั้งสิ้น
7.เงียบสงบแต่ไม่อ่อนแอ
ความเงียบสงบที่แท้จริงไม่ใช่การอดกลั้นอารมณ์หรือการยอมแพ้
ความสงบไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งแต่เป็นการแสดงตัวตนและปกป้องความเชื่อของตนเอง ในขณะที่ยังคงเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น
คนที่ใจเย็นสงบเสงี่ยมมักจะเต็มใจที่จะหาทางแก้ปัญหาแทนที่จะตำหนิหรือบ่น

ภาพถ่ายโดย Gary Barnes จาก Pexels
8.เปิดกว้าง
คนที่สงบเสงี่ยมมักจะคิดเสมอว่า โลกนี้กว้างใหญ่มาก มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด คนที่พวกเขาติดต่อด้วยก็มีมากมาย แต่ละคนต่างมีมุมมอง ทัศนคติ และการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้นแทนที่จะบังคับให้สิ่งต่าง ๆ ไปอย่างที่คุณต้องการ คุณควรยอมรับความแตกต่าง นั่นคือพื้นฐานบุคลิกของคนที่เปิดกว้าง
และเพียงแค่เริ่มต้นด้วยความคิดนี้ คุณก็สามารถเติบโตและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
9.มองภาพรวมเป็นหลัก
ความเงียบสงบเป็นเพียงทัศนคติหนึ่งเท่านั้น เหตุผลที่คนบางคนเลือกที่จะใจเย็นก็เพราะพวกเขามักจะมองภาพรวมก่อนเสมอ พวกเขาจะไม่ทำลายความเป็นเพื่อนเพียงเพราะแค่ทะเลาะกัน
พวกเขาจะไม่สร้างความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของพวกเขา
พวกเขารู้จักถอยหลังกันคนละก้าว พวกเขามองว่า “ความอดทน” และ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” จะทำให้เห็นภาพรวมได้ดีขึ้น และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
และถ้าคุณต้องการให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหา คุณต้องหา “ภาพรวม” ในการสนทนาแต่ละครั้งด้วย

ภาพถ่ายโดย Zen Chung จาก Pexels
จงรู้จักวิธีสื่อสารอย่างชาญฉลาด เพราะการสื่อสารเป็นตัวชี้วัดว่าคุณมีความน่าเชื่อถือสำหรับผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน และจงจำไว้ว่าผู้สื่อสารที่ดีไม่ควรพูดเพียงอย่างเดียว ควรเงียบและทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย
อ้างอิง: Lam Rosy (ผู้เขียน)
https://www.facebook.com/TruongdoanhnhanPR/photos/a.125167008261725/951101115668306/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik