คุณเคยอ่านบทความเกี่ยวกับครอบครัวที่มั่งคั่งหรือคนที่มีฐานะดี มีทรัพย์สินมหาศาล แต่จบลงด้วยการบอกว่าพวกเขายังรู้สึกว่าตัวเอง “จน” อยู่หรือไม่?
อย่าเพิ่งหมั่นไส้พวกเขากันล่ะ!
หลายคนสามารถหาเงินได้ 350,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียงปีเดียว แต่กลับยังไม่รู้สึกพอหรือรู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยเลยสักนิด พวกเขามักจะบ่นและพยายามทำงานให้หนักมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอะไรนัก เพราะคนมักจะตกอยู่ใน “กับดัก” การหาเงินและรู้สึกว่าตัวเองยังมีไม่มากพอเหมือนคนอื่น ๆ พวกเขามักจะรู้สึกว่าพวกเขายังไม่พอใจกับเงินที่พวกเขาหามาได้และยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น

Jeff Bezos (www.ceochannels.com)
แต่มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งอาณาจักร e-Commerce ยักษ์ใหญ่ Amazon เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าเอาเหงื่อและน้ำตาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อทำงานหนักอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า พิจารณาดูความเป็นจริงทางการเงินของตัวเอง ยิ่งคุณคาดหวังเงินมากเท่าไร คุณจะมีเงินมากเท่านั้น”

ภาพถ่ายโดย Tima Miroshnichenko จาก Pexels
1. ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข
เงินที่คุณได้รับสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างคุณและคนอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ งาน อัตราของสกุลเงิน ตลอดจนคุณค่าของสิ่งที่คุณทำ แต่นักวิจัยกำลังถกเถียงกันว่าการมีเงินส่งผลต่อความสุขของเราหรือไม่?
จากการศึกษาพบว่า ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าต้องมีเงินเท่าไรจึงจะทำให้คุณมีความสุข ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีรายได้มากกว่า 75,000 ดอลลาร์ต่อปี และคนอื่นมีรายได้เพียง 50,000 ดอลลาร์ต่อปี คุณจะรู้สึกพอใจกับจำนวนเงินของคุณ ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำเงินได้ 50,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่คนอื่นทำเงินได้ 75,000 ดอลลาร์ต่อปี คุณจะเริ่มรู้สึกกังวลเพราะคิดว่าตัวเองทำงานไม่หนักพอที่จะได้เงินจำนวนนั้น
จากข้อมูลที่มีการศึกษาเอาไว้ ส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วยและคิดว่าการมีรายได้มากขึ้นจะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าเงินทุก ๆ ดอลลาร์ที่ได้รับทำให้ชีวิตไม่มีความสุข
2. ตั้งเป้าหมายทางการเงินของคุณ
วิธีคำนวณและควบคุมเงินของคุณได้ดีที่สุดคือ การตั้งเป้าหมายทางการเงิน คุณต้องกำหนดเงินที่คุณต้องใช้จ่ายให้แน่นอน และคุณต้องมีความสุขกับการใช้จ่ายเงินจำนวนนั้นด้วย ซึ่งการกำหนดเป้าหมายทางการเงินจะทำให้คุณสามารถออมเงินเพื่อใช้ในยามบั้นปลายของชีวิตหรือเพื่อเกษียณอายุก่อนกำหนด แนะนำว่าคุณควรสร้างนิสัยประหยัดเงินทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพื่อที่คุณจะได้มีเงินเก็บและชีวิตได้อย่างสะดวกสบายในภายหลัง

ภาพถ่ายโดย Tima Miroshnichenko จาก Pexels
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือสำหรับคำนวณเงินอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถใช้ได้ แต่คุณสามารถลองคิดด้วยวิธีง่าย ๆ ของ แบรด สตอลเลอรี (Brad Stollery) นักเขียนชื่อดังชาวแคนาเดียน ซึ่งเขาได้เล่าไว้ว่า
สมมติว่าคุณเป็นหนึ่งในห้าคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน คุณทั้งห้าคนมีหนี้สินและค่าครองชีพใกล้เคียงกัน อายุเท่ากัน มีสุขภาพแข็งแรงพอ ๆ กัน มีชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง จะมีคนมาหาคุณแต่ละคนพร้อมกับเช็กเปล่าและปากกาหนึ่งด้าม
จากนั้นคนเหล่านั้นได้บอกว่า “ให้เขียนตัวเลขบนเช็ก หลังจากเขียนตัวเลขลงไป คุณก็จะเกษียณได้ทันที แต่มีเงื่อนไขว่าคุณจะไม่ได้รับเงินพิเศษจากแหล่งใด ๆ อีกตลอดชีวิตของคุณ”

ภาพถ่ายโดย Tima Miroshnichenko จาก Pexels
แต่ถ้าใครเขียนจำนวนเงินต่ำที่สุดลงไปในเช็ก คนคนนั้นก็จะได้รับเงินจำนวนนั้นทันที ส่วนอีก 4 คนก็จะไม่ได้อะไรเลย วิธีนี้ทำให้คุณต้องตั้งเป้าหมายหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ตัวคุณเอง และต้องให้น้อยกว่าคนอื่น ๆ อีก 4 คน วิธีนี้ยังช่วยให้คุณคำนวณสิ่งที่คุณต้องการในชีวิตได้ดีขึ้นและสามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเพื่อไม่ให้เสียเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์
แม้ว่าหลังการแข่งขันนี้คุณอาจจะแพ้ แต่สิ่งที่คุณจะได้คือ คุณจะรู้ว่าคุณต้องการเงินเท่าไรกันแน่ เพื่อที่คุณจะได้พยายามหาเงินจำนวนนั้นต่อไปโดยไม่รู้สึกเหนื่อยหรือวิตกกังวลว่าตัวเองทำงานไม่หนักพอเหมือนคนอื่น

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
นี่เป็นวิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถนำไปทดลองใช้ได้เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่คุณต้องการในชีวิต ถ้าคุณจมอยู่กับเงินมากเกินไป คุณจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย สูญเสียตัวตน และเสียเวลาไปกับสิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อมจนเกินไป
คุณจะคิดว่าคุณรวย ก็ต่อเมื่อคุณคิดว่าตัวเองมีเงิน “พอ” แล้ว อย่าหมกมุ่นกับเรื่องเงินมากจนเกินไป แต่ก็อย่าละเลยกับการใช้เงินเป็นอันขาด อยู่แบบพอดี แล้วชีวิตจะเป็นสุข
อ้างอิง: Cafef
https://www.facebook.com/Babylons.JSC/photos/a.139929752716461/4050039118372152/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels