ความฉลาดทางอารมณ์ (EI) สำคัญอย่างไรต่อการทำงานและการใช้ชีวิต
ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทุกวัน ทั้งโรค COVID-19 ที่กำลังระบาด ทั้งการเติบโตของยุคดิจิทัล หลายบริษัทเร่งและปรับเปลี่ยนองค์กรให้อยู่ในระบบดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติมากขึ้น จึงส่งผลให้งานมีจำนวนลดน้อยลงและในอนาคตอาจจะไม่มีงานให้เราทำอีกเลย ทักษะที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels
ทักษะที่จำเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้าที่รายงานโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) มีทักษะหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence: EI) ในยุคที่หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่างนั้น หากเราฝึกฝนให้ตนเองมีความฉลาดทางอารมณ์ ก็จะทำให้เรามีความแข็งแกร่งและแตกต่าง ซึ่งแม้แต่หุ่นยนต์ก็ไม่สามารถแทนที่เราได้
ทำไมความฉลาดทางอารมณ์ถึงมีความสำคัญ?
ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการตระหนักรู้ ควบคุม และประเมินอารมณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ ตราบใดที่เรามีความอดทนที่จะฝึกฝนทุกวัน คนที่มี EI สูงจะมีความสามารถดังนี้

ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels
1. ผู้ที่มีEI จะมีความตระหนักรู้ในตนเองได้ดี
สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดี มีความมั่นใจในตัวเอง ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนเองเวลามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้สื่ออารมณ์กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ผู้ที่มีEI สูงจะพัฒนาความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้ว่าเวลาไหนควรฟังและควรเข้าใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมและการกระทำของผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง
3. คนที่มีEI สูงมักจะได้รับการยอมรับจากเจ้านาย
71% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า พวกเขาชอบพนักงานที่มี EI มากกว่า IQ (ความฉลาดทางสติปัญญา) พนักงานที่มี EI สูงมักจะมีทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ดี สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำคนเดียวหรืองานที่ทำเป็นทีม
4. คนที่มีEI สูงมักจะเป็นผู้นำที่มีความสามารถ
เพราะเมื่อมีการสื่อสารกัน คนเหล่านี้จะรู้จักรับฟังและเคารพความคิดเห็นของลูกน้อง ทั้งยังเป็นผู้นำที่นึกถึงผู้อื่นและให้ความเคารพต่อพนักงานของตนเองด้วยความเอาใจใส่และความเข้าอกเข้าใจ
5. คนที่มีEI สูงมักจะมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่า
คนเหล่านี้จะตระหนักรู้ถึงอารมณ์ด้านลบของตนเองและรู้จักหาทางควบคุมมัน ดังนั้นคนเหล่านี้จึงมีอารมณ์ภายในที่เข้มแข็งและมักจะมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่าคนอื่น

รูปภาพ Daniel Goleman จาก www.reasonwhy.es
องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์
แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักเขียนชื่อดังผู้เขียนหนังสือ “Emotion Intelligence” กล่าวว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่
1. การตระหนักรู้ในตนเอง(Self-awareness)
นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ควรฝึกฝน เป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดทางอารมณ์ การตระหนักรู้ในตนเอง คือ ความสามารถในการรับรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเอง ซึ่งก็คือเราสามารถเข้าใจความต้องการและการกระทำของตนเองเวลามีปฏิสัมพันธ์กับตนเองและคนรอบข้าง
2. การควบคุมตนเอง(Self-regulation)
คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ในเวลาที่เหมาะสม

ภาพถ่ายโดย RF._.studio จาก Pexels
3. แรงจูงใจ(Motivation)
แรงจูงใจของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์มักจะมาจากความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายที่มีคุณค่าต่อชีวิต
4. ความเห็นอกเห็นใจ(Empathy)
ความเห็นอกเห็นใจ คือ ความเข้าใจ เห็นใจ และแชร์ความรู้สึกกับผู้อื่นด้วยความใส่ใจและความเมตตา
5. ทักษะทางสังคม(Social skills)
ทักษะทางสังคม คือ การรับรู้ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์และทุกวัน
5 วิธีที่จะช่วยให้คุณมีความฉลาดทางอารมณ์ทุกวัน
1. ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง
คนทั่วไปมีอารมณ์ที่อยู่ภายในใจเป็นร้อยเป็นพันหลากหลายอารมณ์ เราจึงควรซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง อย่าปิดกั้นความรู้สึกของตนเอง เสียใจได้ ร้องไห้ได้ จงแสดงออกในสิ่งที่คุณรู้สึกจริง ๆ เป็นวิธีเดียวที่คุณสามารถปลดปล่อยและบรรเทาอารมณ์ของคุณให้เบาบางลงได้
2. ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมของตนเอง
หลายครั้งในชีวิตที่เราตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ตระหนักรู้ในพฤติกรรมของตนเอง สิ่งนี้อาจสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตของเราได้ เราควรใส่ใจกับพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้างให้มากขึ้น ถ้ารู้สึกโกรธจนรู้สึกควบคุมตนเองไม่ได้ ควรออกไปข้างนอก หามุมใดมุมหนึ่งหรือเข้าห้องน้ำเพื่อสงบสติอารมณ์เสียก่อน แล้วทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

ภาพถ่ายโดย Alex Green จาก Pexels
3. รับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง
รับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง หมายถึง การไม่โทษสิ่งต่าง ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความรู้สึกบางอย่างของคุณเกิดขึ้น แต่เราต่างหากที่ต้องตัดสินใจว่าควรจะทำตัวอย่างไร หากรู้สึกอึดอัดกับการกระทำของคนอื่นนั่นก็เพราะว่าเรายอมให้คนคนนั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรามากเกินไป ถ้าเรากล้าที่จะรับผิดชอบความรู้สึกของตนเอง เราก็จะรู้ขอบเขตอารมณ์ของตนเองและสามารถหาวิธีจัดการกับอารมณ์ด้านลบให้กลายเป็นด้านบวกได้
4. เปิดกว้างทางความคิด
การคิดแบบเปิดกว้างทำให้เราไม่ถูกตีกรอบด้วยความคิดและอคติที่ล้าสมัย เราจะค้นพบแนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น การที่เรารู้จักเปิดใจมากขึ้น จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
5. เต็มใจที่จะรับฟัง
หมายความว่าเราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอื่นพูดจริง ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นต้องการจะสื่อสารออกมาและให้ข้อเสนอแนะแก่คนอื่น ไม่ว่าคนอื่นจะพูดในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยหรือไม่สนใจ จงเคารพคนอื่นด้วยการรับฟัง และควรใช้ภาษากาย เช่น พยักหน้า หรือการแสดงสีหน้าแววตาเมื่อสื่อสารกับผู้คน การเต็มใจรับฟังผู้อื่นจะทำให้คุณเข้าใจคนอื่นและมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนอื่นมากขึ้น
. . .
ความฉลาดทางอารมณ์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณเชื่อมโยงกับผู้คนได้ง่ายขึ้น ช่วยในการทำธุรกิจ การเจรจาโต้ตอบ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนแปลกหน้า และนี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมความฉลาดอารมณ์ถึงมีความสำคัญต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของเรา
อ้างอิง: Tony_Dzung
https://www.facebook.com/tonydzung.com.vn/photos/a.920059914689090/4763704766991233/
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
. . .
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels