เทคนิคการจำของ Feynman ที่แม้แต่ Bill Gates ยังต้องใช้

Richard Feynman from silviutolu.com
ริชาร์ด เฟย์นแมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์ที่รางวัลโนเบล เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจดจำสิ่งที่เขาอ่านอย่างยิ่ง ซึ่งแม้แต่ บิล เกตส์ (Bill Gates) ก็ได้นำเทคนิคการจำของ Feynman มาใช้จนประสบความสำเร็จ จนเขาถึงกับขนานนาม Feynman ว่า “ครูที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยมีมา”
หนังสือทำให้คุณมีสมองที่ชาญฉลาด การเรียนรู้จากนักคิดที่ยิ่งใหญ่คือหนทางที่รวดเร็วที่สุดที่จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี มีความความมั่งคั่ง และมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม อย่างไรก็ตามการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคุณได้ แม้ว่าคุณจะอ่านหนังสือได้ถึง 52 เล่มต่อปีก็ตาม ถ้าคุณไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

Dale Carnegie from theguardian.com
เดล คาร์เนจี (Dale Carnegie) เคยกล่าวไว้ว่า “ความรู้ที่อ่านย่อมไม่มีประโยชน์หากไม่ได้นำไปใช้ และก่อนที่จะนำไปใช้ คุณก็ควรจะต้องจำสิ่งที่คุณอ่านให้ได้เสียก่อน”
ทำไมหลายคนถึงลืมสิ่งที่ตัวเองอ่าน
เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจการเรียนรู้ที่แท้จริง พวกเขาคิดว่าแค่เพียงอ่าน ดู หรือฟัง พวกเขาก็มีความรู้แล้ว แม้ว่าคุณจะมีความจำดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณไม่เข้าใจการเรียนรู้ที่แท้จริง สิ่งที่คุณอ่านทั้งหมดก็จะเป็นเพียงข้อมูลทั่วไปเท่านั้น
เพื่อป้องกันการถูกกระตุ้นมากเกินไป สมองของเราจะกลั่นกรองและลืมสิ่งที่เราได้รับมาเกือบทั้งหมด หากเราจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราคงไม่สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้แน่นอน แต่คนส่วนใหญ่กลับทำเหมือนว่าสมองของพวกเขาสามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ ในแต่ละปีพวกเขาอ่านหนังสือหลายเล่ม แท้จริงแล้วการให้ความสำคัญกับปริมาณมากเกินไปแทนที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่อ่านจริง ๆ จะทำให้พวกเขาลืมในสิ่งที่อ่าน และในที่สุดสำหรับพวกเขา การอ่านก็จะกลายเป็นแค่ความบันเทิงเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 1850 อาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เคยกล่าวไว้ว่า “การอ่านหนังสือก็เหมือนกับอ่านสิ่งที่คนอื่นกำลังคิดแทนเรา เราเพียงแต่ต้องนำกระบวนการคิดของเขาหรือเธอมาทบทวนซ้ำ ๆ ดังนั้นการเรียนรู้ที่แท้จริง เราต้องรู้จักคิดเอง”
คนที่อ่านหนังสือโดยไม่หยุดคิดมักจะจำสิ่งที่พวกเขาอ่านไม่ได้ นั่นก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่สามารถนำสิ่งที่พวกเขาอ่านไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลย คุณสามารถสังเกตเห็นคนเหล่านี้ได้ง่ายๆ
ตัวอย่างเช่น พวกเขาบอกว่าพวกเขาอ่านหนังสือแต่กลับสรุปอะไรออกมาไม่ได้เลย บางทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยขณะที่อ่านหนังสือเล่มนั้น เหมือนกับที่ มอร์ติเมอร์ แอดเลอร์ (Mortimer Adler) นักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่า “ถ้ามีใครบางคนบอกว่า ฉันรู้ว่าฉันคิดอะไรอยู่ แต่ไม่สามารถอธิบายออกมาได้ แสดงว่าคนคนนั้นก็ไม่รู้ว่าตัวเองคิดอะไรอยู่”
การสอนคนอื่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรับความรู้เข้าสู่สมองของคุณ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบว่าคุณจำสิ่งที่คุณอ่านได้หรือไม่ เพราะก่อนที่คุณจะสอน คุณต้องทำหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นกรองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบข้อมูล และการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจด้วยศัพท์ของคุณเอง

Photo by cottonbro from Pexels
แล้วเราจะจำสิ่งที่เราอ่านได้อย่างไร
สำหรับเทคนิคเรื่องความจำ ไม่มีใครสามารถเอาชนะ Feynman ได้ บุคคลที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเขาอ้างว่า Feynman สามารถอธิบายกระบวนการที่ซับซ้อนที่สุดด้วยภาษาที่ง่ายที่สุด พวกเขาจึงพากันขนานนาม Feynman ว่า “ผู้อธิบายที่ยิ่งใหญ่”
เทคนิคการจำของ Feynman เป็นวิธีการที่ช่วยให้เราจดจำสิ่งที่เราอ่านได้โดยใช้แนวคิด การเชื่อมโยง และโครงสร้าง มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจดจำสิ่งที่คุณอ่านโดยอธิบายมันออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด
เทคนิคการจำของ Feynman ไม่ใช่แค่เทคนิคที่ดีที่ใช้ในการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นประตูไปสู่วิธีคิดที่แตกต่างไปจากเดิม ช่วยให้คุณรู้จักแยกย่อยความคิดและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ได้ เทคนิคการจำของ Feynman ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ได้กับการอ่านของคุณ ดังนี้

Photo by cottonbro from Pexels
1. เลือกหนังสือที่คุณอยากจำ
หลังจากที่คุณอ่านหนังสือที่คุณอยากจำเสร็จแล้ว ก็ให้นำเอากระดาษสีขาวออกมาบันทึกชื่อหนังสือ จากนั้นก็จดหลักการและประเด็นสำคัญทั้งหมดที่คุณต้องการจำลงไป หลายคนทำผิดพลาดในขั้นตอนนี้ เพราะบางคนก็ทำแค่คัดลอกสารบัญหรือไฮไลท์ไว้เท่านั้น การทำเช่นนี้จะทำให้เราจำข้อมูลที่อ่านไม่ได้และไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย
สิ่งที่ควรทำก็คือ จดจำแนวคิดหลักของหนังสือด้วยตนเอง ขั้นตอนนี้คุณต้องใช้สติปัญญาของตัวเอง การคิดเกี่ยวกับแนวคิดหลักของหนังสือ จะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลให้กับคุณ
ขณะที่เขียนประเด็นสำคัญลงในกระดาษ พยายามใช้ภาษาที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ บ่อยครั้งเราใช้ศัพท์ยาก ๆ เพื่อปิดบังความไม่รู้ของเรา “คำที่เล่นใหญ่” และ “คำที่ดูฉลาด” จะทำให้เราไม่เข้าใจประเด็นสำคัญ

Photo by Polina Tankilevitch from Pexels
2. แสร้งว่าคุณกำลังอธิบายเนื้อหาให้เด็กอายุ 12 ขวบฟังอยู่
ข้อนี้อาจฟังดูง่าย แต่มันไม่ง่ายเลย แท้จริงแล้วการตีความที่ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เพราะเมื่อคุณอธิบายแนวคิดตั้งแต่ต้นจนจบให้เด็กอายุ 12 ขวบฟัง คุณต้องลดความเชื่อมโยงและความซับซ้อนของแนวคิดให้มากที่สุด ถ้าคุณไม่มีเด็กอายุ 12 ขวบอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ ให้มองหาเพื่อนที่สนใจกับปัญหานั้น ลองบันทึกข้อความเสียงเพื่ออธิบายให้พวกเขาฟังหรือเขียนคำอธิบายของคุณ เช่น รีวิวใน Amazon, Goodreads หรือ Quora แล้วดูว่าพวกเขามีแนวคิดที่ไปในทิศทางเดียวกับคุณหรือไม่

Photo by cottonbro from Pexels
3. บันทึกสิ่งที่คุณยังไม่เข้าใจและอ่านซ้ำอีกครั้ง
การอธิบายประเด็นสำคัญของหนังสือจะช่วยให้คุณเข้าใจในสิ่งที่คุณเข้าใจและยังไม่เข้าใจได้เป็นอย่างดี เมื่อคุณพบสิ่งที่คุณยังไม่เข้าใจ (เช่น พลาดประเด็นสำคัญ มีปัญหาในการใช้คำ หรือการเชื่อมโยงความคิดเข้าด้วยกัน) คุณถึงจะเริ่มเรียนรู้ได้จริง ๆ และถ้าคุณรู้สึกว่าติดขัดตรงไหน ให้หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่านซ้ำจนกว่าจะสามารถอธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ ของคุณเองได้
การเติมช่องว่างให้ความรู้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้คุณจำในสิ่งที่คุณได้อ่านจริง ๆ และหากคุณข้ามขั้นตอนนี้ คุณก็จะหลอกตัวเองว่าคุณมีความรู้แล้ว

Photo by Alina Vilchenko from Pexels
4. ลดความซับซ้อนในคำอธิบายของคุณ
คุณอาจสามารถอธิบายและจดจำแนวคิดของผู้แต่งได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของหนังสือ อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจ ให้ทำตามขั้นตอนนี้เพื่อให้คำอธิบายของคุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้แก่ การอ่านออกเสียง บันทึกย่อ และจัดระเบียบประเด็นหัวข้อให้ง่ายที่สุด หากคำอธิบายของคุณฟังดูง่ายขึ้น นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าคุณทำสำเร็จแล้ว เมื่อคุณอธิบายประเด็นสำคัญของหนังสือเป็นภาษาง่าย ๆ ได้ แสดงว่าคุณเข้าใจสิ่งที่คุณอ่านแล้วจริง ๆ
เทคนิคการจำของ Feynman เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้การอ่านหนังสือของคุณสร้างปัญญาและความรู้ให้กับคุณ เป็นเทคนิคที่ทำลายความคิดเดิม ๆ และสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ของคุณขึ้นมาได้ หากคุณกำลังมองหาวิธีที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และต้องการให้ตัวเองฉลาดขึ้น เทคนิคการจำของ Feynman อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
อ้างอิง: ผู้เขียน: cafebiz
อ้างอิง: https://www.facebook.com/DamMeVaKhatVong/photos/a.111728830658481/311125537385475/
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
. . .
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels