ด้วยโรคระบาดที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร เศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนกู่ไม่กลับ เสถียรภาพทางการเมืองที่ระส่ำระส่าย ปัญหาภัยพิบัติมากมายที่ถาโถม ทำให้ “เงิน” กลายเป็นเรื่องปวดหัวสำหรับใครหลาย ๆ คนในตอนนี้
หลายคนอยากจะใช้เงินทำนั่นทำนี่ แต่ก็ไม่กล้าใช้ เพราะไม่มั่นใจกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หลายคนจึงเลือกที่จะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตไปก่อน แต่ก่อนที่คุณจะใช้จ่ายเงินนั้น ลองบอกหน่อยได้ไหมว่า คุณใช้จ่ายอย่างไร? ใช้จ่ายได้ถูกต้องหรือไม่? มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินรึเปล่า?
ถ้าคุณยังตอบไม่ได้ ไม่เป็นไร บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีบริหารจัดการเงินง่าย ๆ ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ คุณเองก็สามารถทำได้

ภาพถ่ายโดย jcomp จาก Freepik
1.เงินเป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่าคณิตศาสตร์
คุณอาจจะสงสัยว่าจิตวิทยาส่งผลต่อการใช้เงินอย่างไร? ลองมาดูพฤติกรรมเหล่านี้
เสพติดการชอปปิงเพราะเครียดและเชื่อว่าการชอปปิงจะช่วยคลายเครียดได้
ชอบซื้อเสื้อผ้ามาก แม้จะยังใส่ไม่หมด แต่ก็ซื้อจนไม่มีที่จะเก็บ
ใช้เงินไปกับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เพราะกลัวเสียหน้า
หมดเงินไปกับเกมออนไลน์ เพราะอยากเอาชนะคู่ต่อสู้ในเกม

ภาพถ่ายโดย freepic.diller จาก Freepik
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี พวกเขาแค่หาเงินได้ไม่เพียงพอสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้เท่านั้นเอง และเวลาที่พวกเขาซื้อของเหล่านี้ พวกเขามักจะไม่ค่อยคิดและไม่มีเหตุผล ดังนั้น สรุปได้ว่า การจัดการเงินอย่างชาญฉลาดต้องใช้ความคิดมากกว่าการคำนวณ
เราไม่มีทางจัดการเงินของเราได้อย่างเพอร์เฟกต์ เราไม่สามารถบังคับความต้องการของเราได้ และเราก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับมันด้วย เพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่เราควรรู้วิธีลดพฤติกรรมทางจิตวิทยา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการจัดการเงินของคุณ คุณสามารถใช้มาตรการดังต่อไปนี้
– อย่าดูโฆษณาบ่อย ๆ ยิ่งคุณเห็นโฆษณาน้อยลงเท่าไร โอกาสที่คุณจะซื้อของที่ไม่จำเป็นก็น้อยลงเท่านั้น
– อยู่ให้ห่างจากสิ่งล่อตาล่อใจ ถ้าคุณเป็นนักชอปตัวยง ควรอยู่ให้ห่างจากห้างสรรพสินค้าเข้าไว้
– ใช้ระบบอัตโนมัติ เมื่อได้เงินเดือน คุณควรลองใช้ระบบโอนเงินอัตโนมัติไปยังบัญชีออมทรัพย์ของคุณทันที วิธีนี้จะทำให้คุณไม่มีเงินสดอยู่ในมือและใช้จ่ายมากจนเกินไป
– คิดก่อนซื้อ คิดให้รอบคอบก่อนซื้อ ถ้าเป็นสินค้าราคาแพง อย่ารีบซื้อ ให้ใส่ลงในตะกร้าของคุณก่อน จากนั้นตรวจสอบเงินในกระเป๋าของคุณและประเมินความสำคัญของสิ่งที่คุณจะซื้อ

ภาพถ่ายโดย Freepik
2.ใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่คุณได้รับ
“การที่จะปลดหนี้และสร้างความมั่งคั่งได้นั้น คุณต้องใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่หามาได้”
คำพูดนี้อาจจะฟังดูง่าย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำได้ แต่ถ้าคุณอยากทำได้ล่ะ? ก็มีวิธีเช่นกัน
– ใช้จ่ายให้น้อยลง หรือประหยัดมากขึ้น การออมเงินเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
– ทำเงินมากขึ้น ถ้าคุณไม่สามารถประหยัดเงินได้ ก็ต้องหาเงินให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำโอที ทำงานพาร์ตไทม์เปลี่ยนงานที่ได้เงินเดือนสูงกว่า เริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กของตัวเอง ขายของที่ไม่ใช้แล้ว ฯลฯ แต่งานเหล่านี้ก็ต้องแลกกับเวลาของคุณด้วย

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
3.จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน
การจ่ายเงินให้ตัวเองก่อนหมายความว่า หลังจากที่คุณได้รับเงินเดือน ก่อนที่คุณจะจ่ายบิลค่าโน่นนั่นนี่ ซื้อของ หรือใช้ทำอย่างอื่น ให้แบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับตัวคุณเองก่อนและนำเงินจำนวนนี้จะเข้าบัญชีออมทรัพย์ทันที แล้วคุณจะประหลาดใจกับจำนวนเงินในบัญชีออมทรัพย์ของคุณ
ทำไมต้องจ่ายเงินให้ตัวเองก่อนล่ะ?
โดยปกติแล้ว ถ้าคุณเพิ่งเริ่มทำงาน การประหยัดเงินค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะคุณจะมีค่าใช้จ่ายมากจนเงินไม่พอใช้ และไม่มีเงินเหลือเก็บ
ดังนั้น คุณควรแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของคุณเสียก่อน จากนั้นค่อยจ่ายบิล ส่วนเงินที่เหลือคุณก็สามารถนำไปใช้จ่ายได้ตามสบาย เมื่อถึงเวลานั้น คุณจะเริ่มใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นและตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเอง

ภาพถ่ายโดย Freepik
4. เริ่มจากสิ่งเล็กๆ
คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเป้าไปที่เรื่องใหญ่ ๆ ที่ยากจะทำได้ก่อนเสมอ แต่กลับลืมสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป
ถ้าเป้าหมายของคุณใหญ่ขนาดที่ต้องการจะซื้อบ้านหรือซื้อรถ ช่วงแรก ๆ คุณอาจมีแรงจูงใจพอที่จะเก็บออมเพื่อเป้าหมายนั้น แต่คุณจะต้องใช้เวลานานมากและอาจทำให้คุณท้อได้ง่าย ๆ
ก่อนที่คุณจะคว้าเป้าหมายใหญ่ ๆ ได้นั้น คุณควรจะประหยัดรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ก่อนดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเก็บคูปอง การใช้โปรโมชัน หรือเปรียบเทียบราคาในแต่ละร้านค้า ฯลฯ
ทีนี้ เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณประหยัดได้ มันก็จะกลายเป็นเงินที่มากขึ้นได้ง่าย ๆ
5. สิ่งใหญ่ๆ ก็สำคัญ
ทั้งนี้ คุณไม่ควรสนใจกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มากจนเกินไป จนลืมเรื่องใหญ่ ๆ
แม้ว่าการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การเก็บคูปอง การใช้โปรโมชัน หรือเปรียบเทียบราคาในแต่ละร้านค้า จะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มาก แต่การทำ “สิ่งใหญ่ ๆ ” จะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มากกว่า
“สิ่งใหญ่ ๆ” ที่ว่านั้นคืออะไร? ก็พวกข้าวของเครื่องใช้หรือสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ อย่างไรล่ะ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
แล้วเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง?
ง่าย ๆ ก็คือ เมื่อคุณซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้ คุณก็สามารถหาวิธีที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพวกมันได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อเอากำไร ให้เช่า ใช้ประกอบอาชีพส่วนตัว ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะซื้อก็คือ

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels
– ค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่คุณต้องการจะซื้อและลิสต์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ คุณภาพ รายละเอียด รุ่น สี การใช้งาน ฯลฯ
– กำหนดงบประมาณล่วงหน้า หลังจากค้นหาข้อมูลสินค้าที่คุณต้องการจะซื้อแล้ว ให้กำหนดงบประมาณที่คุณสามารถจ่ายได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้กำหนดงบประมาณไว้ สเป็กของสินค้าก็จะลดลงมาสักนิดก็ได้
– เปรียบเทียบสินค้าและราคาที่ลิสต์เอาไว้
– เลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
– ตัดสินใจซื้อ
– อย่าลืม ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองด้วยการเก็บเอกสารการรับประกันสินค้าและกล่องสินค้าเอาไว้ให้ดี เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เอกสารและกล่องสินค้าจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการซ่อมได้มาก หรือสามารถเปลี่ยนสินค้าใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels
6.อย่าพึ่งพาคำแนะนำด้านการเงินมากเกินไปเลือกทำสิ่งที่เหมาะกับคุณที่สุด
ไม่มีคำแนะนำใดที่เหมาะสมหรือเพอร์เฟกต์สำหรับทุกคน 100% บางคำแนะนำอาจจะเหมาะสมสำหรับคนหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้
ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในการจัดการทางการเงินคือ การกำหนดหลักการที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น พยายามออมเงินให้ได้ 50% ของรายได้ ทั้งที่เป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ หรือพยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ชอบเดินห้างสรรพสินค้าทุกวัน เป็นต้น กว่าที่จะรู้ มันก็มักจะสายเกินไป

ภาพถ่ายโดย frimufilms จาก Freepik
ดังนั้น คุณควรจำไว้ว่าถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในด้านการเงิน บางครั้งคุณควรต้องเลิกสนใจคำแนะนำของคนอื่น เพียงแค่เลือกทำสิ่งที่เหมาะกับคุณที่สุดก็พอ
แม้ว่าจะเกิดโรคระบาด เกิดทุพภิกขภัยรุนแรงแค่ไหน รัฐบาลจะง่อนแง่นมากเพียงใด เศรษฐกิจจะย่ำแย่มากขนาดไหน แต่ถ้าคุณสามารถบริหารจัดการเงินเป็น มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน มันก็จะเป็นเกราะอันแข็งแกร่งที่จะช่วยปกป้องคุณและพาคุณข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แน่นอน
อ้างอิง: HBRBusinessSchool
https://www.facebook.com/hbr.edu.vn/photos/a.188981365023587/939458166642566/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik