ถ้าตอนนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือสอบ แต่อ่านอย่างไรก็ไม่เข้าหัวสักที หมกมุ่นอยู่กับการฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ แต่ก็ทำไม่ได้สักที วุ่นวายอยู่กับการแก้ปัญหาในการทำงาน แต่ปัญหาก็ถาโถมเข้ามาไม่รู้จักจบจักสิ้น ฯลฯ
จงเงยหน้าขึ้นมาแล้วอ่านบทความนี้ซะ! แล้วคุณจะเรียนรู้และทำได้เต็ม 100 แน่นอน
อันดับแรกที่คุณต้องทำก็คือ คุณต้องรู้ว่าคุณกำลังเรียนรู้อะไรอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะใหม่ วิชาใหม่ ปัญหาใหม่ ฯลฯ แต่ละเรื่องจะมีความแตกต่างกันออกไปและมีวิธีเรียนรู้โดยเฉพาะ เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองอยากเรียนรู้อะไรแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ และการเรียนรู้ก็จะเป็นเรื่องกล้วย ๆ สำหรับคุณ

ภาพถ่ายโดย Polina Tankilevitch จาก Pexels
1. แบ่งเนื้อหาที่จะเรียนรู้ออกเป็นส่วน ๆ และเรียนรู้ส่วนที่สำคัญที่สุดก่อน
การแบ่งเนื้อหาที่คุณจะเรียนรู้ออกเป็นส่วน ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้คุณควบคุมการเรียนรู้ของคุณได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณรู้เนื้อหาที่สำคัญที่สุดที่คุณควรจะจำได้อีกด้วย
ธีโอดอร์ คอฟมัน (Theodore Kaufman) นักธุรกิจและนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายยิว กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ ยิ่งเราแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วน ๆ ได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งรู้ว่าส่วนไหนคือส่วนที่สำคัญที่สุดและช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการมากที่สุด”
เมื่อแบ่งเนื้อหาที่เราจะเรียนรู้ออกเป็นส่วน ๆ แล้ว จากนั้นให้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญก่อน แล้วคุณจะเห็นว่าความสามารถของคุณพัฒนาขึ้นในเวลาอันสั้น

ภาพถ่ายโดย Vanessa Garcia จาก Pexels
2. เรียนรู้จากผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆ
ไม่ว่าคุณจะพยายามเชี่ยวชาญในด้านใด ก็ย่อมมีคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ ดังนั้น วิธีที่เร็วที่สุดในการเรียนรู้ในสิ่งที่คุณต้องการคือ การเรียนรู้จากผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริง ๆ พยายามค้นหาให้ได้ว่าพวกเขาทำได้อย่างไรตั้งแต่เริ่มต้น
โทนี่ ร็อบบินส์ (Tony Robbins) ไลฟ์โค้ชผู้สร้างแรงบันดาลใจและสอนด้านการพัฒนาตนเองชื่อดังระดับโลก กล่าวว่า “ไม่สำคัญว่าคุณอายุเท่าไร เพศอะไร และมาจากไหน แต่การหาต้นแบบจะช่วยให้คุณสามารถบรรลุความฝันของคุณได้เร็วขึ้นในเวลาอันสั้น”
นอกจากนี้ คุณอาจชวนเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน (ที่ประสบความสำเร็จแล้ว) ไปพูดคุย ดื่มกาแฟ ดูหนัง หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับต้นแบบของคุณก็ดีไม่ใช่น้อย
3. เรียนรู้จากแหล่งต่างๆ
จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ยิ่งคุณหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกันมากเท่าไร คุณก็จะสามารถเรียนรู้และซึมซับข้อมูลได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น
ทำไมล่ะ?
เพราะการหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มากมายจะส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ของสมอง และเมื่อสมองหลายส่วนทำงานพร้อม ๆ กัน เราก็จะซึมซับความรู้ได้ดีขึ้นและจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
อย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ลองฟังพอดแคสต์ ดูยูทูบ ใช้แอปฯ ในมือถือเพื่อฝึกฝนตัวเองและจดบันทึกสิ่งที่คุณเรียนรู้ ใช้โปรแกรม Zoom เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหรือชั้นเรียน เป็นต้น

ภาพถ่ายโดย MART PRODUCTION จาก Pexels
4. ใช้เวลา1/3 ไปกับการเรียนรู้ และ 2/3 ไปกับการฝึกฝน
คุณอาจจะใช้เวลาไปกับการอ่านและเรียนรู้ ถ้าคุณเรียนรู้และลงมือทำทันที อย่าคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก แต่ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนแล้วล่ะก็ คุณควรฝึกฝนก่อนที่จะลงสนาม
แล้วเราควรจะใช้เวลาไปกับการฝึกฝนเท่าไรและใช้ไปกับการเรียนรู้เท่าไรล่ะ?
แดน คอยล์ (Dan Coyle) ผู้เขียนหนังสือ “The Talent Code” และ “The Little Book of Talent: 52 Tips for Improving Your Skills” ได้คิดค้นกฎที่เขาเรียกว่า “Rule of Two-thirds”
ซึ่งหมายความว่าเราควรใช้เวลาเพียง 1/3 ไปกับการเรียนรู้ และอีก 2/3 ควรใช้ไปกับการฝึกฝน คอยล์กล่าวกับนิตยสารไทม์สว่า “สมองของเราพัฒนาด้วยการฝึกฝน ไม่ใช่แค่การได้ยิน” และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการใช้เวลา 2/3 ไปกับการฝึกฝนด้วยตัวเองจึงดีกว่าการเรียนรู้ด้วยการหนังสือเพียงอย่างเดียว

ภาพถ่ายโดย SHVETS production จาก Pexels
5. หมั่นฝึกฝนอย่างน้อย 20 ชั่วโมง
จากการศึกษาพบว่า การใช้เวลา 20 ชั่วโมงไปกับการฝึกฝนอย่างตั้งใจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังนั้น เมื่อคุณกำลังฝึกฝนอยู่ ให้ตั้งใจฝึกฝนอย่างน้อย 20 ชั่วโมง หรือ 40 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 1 เดือน
“เวลา” เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการฝึกฝน แต่ก็เป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน และในการฝึกฝน คุณไม่ควรฝึกฝนแบบซ้ำไปซ้ำมาทุก ๆ วัน เพราะคุณอาจจะ “ผิดหวัง” กับผลลัพธ์ได้
“ความผิดหวัง” เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าและการเติบโตของเรา แต่ถ้าคุณตั้งใจไว้ว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงในการฝึกฝน คุณก็จะมีกำลังใจและมีความพยายามมากขึ้น
6. รับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปฝึกฝน
ขณะที่คุณกำลังฝึกฝนตัวเองอยู่ อย่าลืมประเมินตัวเอง และเมื่อมีปัญหาให้รีบแก้ไขทันทีก่อนที่จะสายเกินไป
มัลคอล์ม แกลดเวล (Malcolm Gladwell) กล่าวไว้ในหนังสือสารคดีเรื่อง “Outliers: The Story of Success” ว่า สิ่งที่ทำให้วงเดอะบีทเทิลส์ (The Beetles) แตกต่างจากวงอื่น ๆ ในตอนนั้นไม่ใช่แค่การฝึกซ้อมเท่านั้น แต่คือการที่พวกเขามักจะแสดงสดต่อหน้าผู้ชมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้รับฟีดแบ็กจากผู้ชมทันที
ความคิดเห็นและฟีดแบ็กอาจมาจากที่ปรึกษา เพื่อน ครอบครัว หรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับทักษะที่คุณกำลังเรียนรู้อยู่ ความคิดเห็นและฟีดแบ็กจะทำให้คุณรู้ข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของตัวเองมากขึ้น ยิ่งคุณได้รับคำติชมและแก้ไขปัญหาได้เร็วเท่าไร การเรียนรู้ของคุณก็จะยิ่งพัฒนาได้ดีขึ้นเท่านั้น

ภาพถ่ายโดย Polina Tankilevitch จาก Pexels
7. สร้างเดดไลน์ให้ตัวเอง
กฎของพาร์กินสัน (Parkinson’s Law) กล่าวไว้ว่า “งานจะขยายตัวมันเองเสมอ เพื่อให้เราใช้เวลาไปกับมัน”
จำรายงานที่คุณทำตอนอยู่มหาวิทยาลัยได้ไหม? แม้ว่าคุณจะมีเวลาทำทั้งเทอมก็จริง แต่คุณสามารถทำรายงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์ได้ไหม?
เคล็ดลับในการเปลี่ยนกฎของพาร์กินสันให้เป็นประโยชน์คือ การกำหนด “เดดไลน์” ของตัวเอง เมื่อคุณให้เวลาตัวเองน้อยลงในการทำบางสิ่งให้สำเร็จ คุณจะทำมันได้อย่างมีประสิทธิมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันจะทำให้คุณต้องผลักดันตัวเองเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปอย่างที่คุณต้องการ

ภาพถ่ายโดย Anastasia Shuraeva จาก Pexels
8. โฟกัสและโฟกัส
ถ้าคุณต้องการเรียนรู้ให้เร็วที่สุด การมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่และการใส่ใจกับทักษะที่คุณกำลังพยายามจะฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
การทำงานหลายอย่างพร้อม ๆ กัน เป็นนิสัยที่ติดตัวใครหลาย ๆ คน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลงและมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
จากสถิติ มีเพียง 2% ของประชากรโลกเท่านั้นที่มีความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีก 98% ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงถึง 40% และมีโอกาสที่จะทำงานผิดพลาดเพิ่มขึ้นอีก 50% เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว อย่าจับปลาสองมือจะดีที่สุด

ภาพถ่ายโดย Eren Li จาก Pexels
9. นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการซึมซับข้อมูลและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เมื่อเราตื่นขึ้นมา ความสามารถในการซึมซับและจดจำความรู้จะดีขึ้น แต่ถ้าเราอดนอน เราจะเรียนรู้ข้อมูลได้ยาก เพราะสมองไม่ตื่นตัวมากพอที่จะพิจารณาและเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ได้

ภาพถ่ายโดย George Milton จาก Pexels
10. อย่ารีบยอมแพ้เมื่อคุณเพิ่งเริ่ม
คนส่วนใหญ่มักจะยอมแพ้ง่ายมาก โดยเฉพาะเวลาเงินหมด รู้สึกกลัว เสียสมาธิ หรือท้อแท้
เมื่อเราเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นเวลาที่สมองของเราจะหลั่ง “โดปามีน” (เป็นสารแห่งความสุขที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และไวต่อการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ) ออกมามากที่สุด
เมื่อช่วงเวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ของเราจบลง เราจะเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่อยากก้าวต่อไป และพร้อมที่จะยอมแพ้

ภาพถ่ายโดย ready made จาก Pexels
ถ้าคุณเป็นแบบนี้บ่อย ๆ ให้ใช้เคล็ดลับข้อ 5 คือการหมั่นฝึกฝนอย่างน้อย 20 ชั่วโมงเข้ามาช่วย และถ้าคุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดไปได้ สัญญาณที่ดีก็จะปรากฏขึ้นทันที
แม้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ไม่มีอะไรที่คุณทำไม่ได้ แค่มีความมุ่งมั่นและความพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคง่าย ๆ และนำเคล็ดลับทั้ง 10 ข้อนี้ไปใช้ คุณก็จะเรียนรู้ได้อย่างเต็ม 100 แน่นอน
แล้วคุณจะเห็นว่าคะแนนสอบในครั้งถัดไปดีขึ้นทันตาเห็น!
ที่มา: HBRBusinessSchool
อ้างอิง: https://www.facebook.com/tonydzung.com.vn/photos/a.920059914689090/5081625971865776/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik