การผัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของคุณได้ และยังทำให้คุณรู้สึกมั่นใจน้อยลงด้วยเพราะว่าคุณไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นลงไปได้

William James (cr.www.loa.org)
วิลเลียม เจมส์ (William James) หรือมักเรียกกันว่า ‘บิดาแห่งจิตวิทยาอเมริกัน’ กล่าวว่า “ไม่มีอะไรเหนื่อยยากมากไปกว่าการต้องยึดมั่นกับงานที่ยังไม่เสร็จตลอดไป” เมื่อต้องเผชิญกับงาน คุณมีทางเลือกสองทาง คือ หนึ่ง ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำทันที หรือ สอง เสียสมาธิไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญและเพียงแค่ทำงานให้เสร็จในนาทีสุดท้าย หรือที่แย่กว่านั้นคือ คุณไม่ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม การผัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของคุณได้ และยังทำให้คุณรู้สึกมีความมั่นใจน้อยลงเพราะว่าคุณไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นได้
เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนตี 5 ซึ่งเป็นเวลาที่คุณสัญญากับตัวเองว่าจะลุกขึ้นและออกไปวิ่ง คุณจะตื่นทันไหม? หรือคุณจะกดปุ่มปิดเสียงแล้วกลับไปนอนต่อ? สถานการณ์เดียวกันนี้จะดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลาหลายวัน ไม่เพียงแต่การที่ต้องตื่นแต่เช้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย คุณสงสัยหรือไม่ว่าทำไมไม่ใช่แค่คุณเท่านั้นที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง แต่หลายคนมีนิสัยนี้เช่นเดียวกับคุณ?

ภาพถ่ายโดย Ketut Subiyanto จาก Pexels
นิสัยผัดวันประกันพรุ่งมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
ความเกียจคร้าน: นี่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เพราะคุณกลัวงาน คุณจึงผัดวันประกันพรุ่งและยืดเวลาออกไปโดยทำสิ่งที่ง่ายกว่าและสบายกว่า เช่น ดูสิ่งบันเทิงต่าง ๆ เล่นเฟซบุ๊ก
ความเบื่อหน่ายและขาดแรงจูงใจ: คุณไม่ยอมทำในสิ่งที่คุณต้องทำเพราะคุณไม่รู้สึกว่าเมื่อคุณทำมันจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คุณไม่อยากทำนั่นเอง
ความสมบูรณ์แบบ: น่าแปลกที่คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบมักมีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งเพราะคนเหล่านี้มีความต้องการและคาดหวังในผลลัพธ์สูง ทำให้พวกเขาเลือกที่จะทำสิ่งที่สำคัญน้อยกว่ามากกว่าจะมุ่งความสนใจไปที่งานหลัก

ภาพถ่ายโดย Marcus Aurelius จาก Pexels
ประเมินความสำคัญของงานต่ำเกินไป: บางครั้งคุณยังไม่ได้ลงมือทำงานเพราะคิดว่างานนั้นไม่ยากมาก ไม่ต้องใช้เวลามากเพื่อให้ทำงานให้เสร็จ ดังนั้นคุณมักจะเลื่อนงานเหล่านี้ไปทำทีหลัง
รอคอยและตื่นเต้นกับ “เดดไลน์“: มีหลายคนที่รอจนกระทั่งเดดไลน์เสมอก่อนที่จะลงมือทำงาน เพราะพวกเขาคิดว่าแรงกดดันจะทำให้พวกเขามีสมาธิและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ไม่ว่าเราจะผัดวันประกันพรุ่งด้วยเหตุผลใด แต่ก็ต้องยอมรับว่า การผัดวันประกันพรุ่งนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อชีวิตและการทำงานทั้งสิ้น
และนี่คือ 7 วิธีที่จะช่วยให้คุณเอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
1. สร้างรายการสิ่งที่ต้องทำ (To do list)
รายการสิ่งที่ต้องทำไม่เพียงแต่มีประโยชน์สำหรับการบริหารเวลาเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในการเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งได้อีกด้วย ถ้าจำเป็น ให้ใส่วันที่ไว้ข้าง ๆ แต่ละรายการไว้ด้วย หากงานมีกำหนดเวลาเดดไลน์ ให้ประเมินว่าแต่ละงานจะต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเสร็จ จากนั้นให้เพิ่มเวลานั้นเป็นสองเท่า เพื่อไม่ให้คุณประเมินระยะเวลาการทำงานของแต่ละโปรเจกต์ต่ำเกินไป

ภาพถ่ายโดย Vlada Karpovich จาก Pexels
2. ทำทันทีเสมอ
จงทำงานให้เสร็จภายในไม่กี่นาที คนที่ผัดวันประกันพรุ่งไม่เพียงแต่ชอบเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองไปทำสิ่งที่ ‘ผิด’ แต่พวกเขายังยืดเวลาการเริ่มต้นทำสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ ให้ช้าลงด้วย จากผลการศึกษาของนักเรียนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อต่อสู้กับสิ่งนี้
ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ไวซ์แมน (Richard Wiseman) ได้กล่าวถึง Zierganick Effect (ปรากฏการณ์ที่คนเกิดความรู้สึกค้างคาในสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ) ซึ่งอธิบายได้ว่า เมื่อคุณเริ่มทำบางสิ่งบางอย่าง สมองของคุณจะตื่นอยู่จนกว่าคุณจะทำมันเสร็จ การเริ่มต้นภารกิจมักเป็นส่วนที่ยากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่จะลงมือทำทันที และสมองของคุณก็จะจดจ่ออยู่กับงานนั้น ๆ

ภาพถ่ายโดย Olya Kobruseva จาก Pexels
3. กำหนดเดดไลน์สั้น ๆ ให้ตัวเอง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของการผัดวันประกันพรุ่ง เพียร์ส สตีล (Piers Steele) นักวิจัยด้านการจัดการพฤติกรรมของมนุษย์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “มีข้อสังเกตมานานแล้วว่ายิ่งเหตุการณ์อยู่ห่างไกลออกไปเท่าใด ก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้คนน้อยลงเท่านั้น” ดังนั้นคุณจึงควรแบ่งงาน จัดลำดับความสำคัญของงาน และกำหนดเดดไลน์สั้น ๆ ให้ตัวเอง

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels
4. ทำสิ่งที่ยากและสำคัญก่อน
นาฬิกาชีวภาพประจำวันของเรา หรือที่รู้จักในชื่อ Circadian Rhythm ชี้ให้เห็นว่าช่วงที่เราตื่นตัวมากที่สุดคือประมาณ 10.00 น. จากนั้นเราก็จะค่อย ๆ เสียสมาธิในช่วงบ่ายและช่วงเย็น ยิ่งงานยากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งต้องการพลังงานและความมุ่งมั่นมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คุณควรทำงานที่ยากและสำคัญที่สุดก่อนเพราะการเริ่มต้นยามที่คุณเหนื่อยแล้วนั้นเป็นเรื่องยากมากและมักจะทำให้งานต้องเลื่อนออกไปอีกวัน

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
5. กำจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิ
เป็นการยากที่จะทำงานให้เสร็จลุล่วงเมื่อคุณให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่ในโทรทัศน์หรือ เฟซบุ๊กของคุณอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคุณควรปิดสิ่งที่รบกวนสมาธิ เช่น เพลง โทรทัศน์ และโซเชียลมีเดีย และใช้เวลานั้นมุ่งความสนใจไปที่งานที่ทำอยู่ตอนนี้อย่างเต็มที่

ภาพถ่ายโดย George Milton จาก Pexels
6. ทำให้งานยากขึ้น
คำนี้อาจฟังดูขัดกับสัญชาตญาณของเรา แต่จริงหรือที่ว่างานที่ยากจะทำให้คนอยากล้มเลิกงานที่ยังทำไม่เสร็จกลางคัน? เห็นได้ชัดว่าไม่จริง ผู้คนส่วนใหญ่มักกล่าวกันว่าพวกเขารู้สึกพึงพอใจมากขึ้นหากพวกเขาสามารถทำงานที่ยากให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เพื่อสู้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี คุณอาจรู้สึกเบื่อหน่ายไปบ้าง แต่ถ้าลองทำให้งานยากขึ้นเล็กน้อยก็จะให้ประโยชน์กับคุณได้มาก ตราบใดที่คุณยังสามารถทำได้อยู่

ภาพถ่ายโดย KoolShooters จาก Pexels
7. ให้รางวัลกับตัวเอง
เมื่อคุณทำงานเสร็จแล้ว (หรือแม้แต่งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ) สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องให้รางวัลตัวเองสำหรับความพยายามของคุณ วิธีนี้จะช่วยให้จิตใต้สำนึกของคุณรู้สึกมีความสุขเมื่อทำงานเสร็จ ซึ่งเป็นการสร้างกลไกการรับความสุขเมื่อทำงาน และค่อย ๆ ทำให้คุณผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง ให้โอกาสตัวเองได้ดื่มด่ำกับสิ่งที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการชมการแข่งขันกีฬา เล่นเกม ดูรายการโทรทัศน์ที่คุณโปรดปราน หรือรับประทานอาหารอร่อย ๆ
. . .
จุดอ่อนที่สุดของคนที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือ การผัดวันประกันพรุ่ง ดังนั้นจงเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตัวเอง แล้วคุณจะมีชีวิตที่ดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิง: bancongcafe
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4428542323846398&id=1430480313652629
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
. . .
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels