คุณอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างกับคำว่า “EQ” หรือ” Emotional Quotient” หรือ “ความฉลาดทางด้านอารมณ์”
ถ้าพูดง่าย ๆ EQ ก็คือ การรู้อารมณ์ของตัวเองนั่นเอง สามารถควบคุมหรือระงับอารมณ์ของตัวเองได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น ทักษะด้าน EQ จะช่วยให้เราเก็บอารมณ์ได้ดี เข้าใจอารมณ์ของคนอื่น มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เข้าสังคมได้ดี มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ สามารถรับแรงกดดันต่าง ๆ ได้ดี คิดในแง่ดีอยู่เสมอ ไม่หมกมุ่นกับสิ่งที่บั่นทอนจิตใจ ฯลฯ
คุณจะเห็นว่า การมีทักษะด้าน EQ ให้ประโยชน์กับคุณมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงาน

ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels
คนเราจะประสบความสำเร็จได้ นอกจากจะอยู่ที่สติปัญญา (IQ) ทักษะที่ชำนาญ หรือความสามารถที่เก่งกาจแล้ว อารมณ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
แม้ว่าคุณจะฉลาดปราดเปรื่องสักแค่ไหน แต่ถ้าคุณอารมณ์เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงอยู่เสมอ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จ
ดังนั้น ลองมาตรวจสอบตัวเองกันว่าคุณมีอารมณ์แบบคน EQ ต่ำหรือไม่ ถ้าคุณมีนิสัยแบบ 10 ข้อดังต่อไปนี้ จงรับมือให้ดี เพราะนี่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมี EQ ต่ำ!

ภาพถ่ายโดย SHVETS production จาก Pexels
1. เครียดง่าย
คนที่มี EQ ต่ำมักจะตกอยู่ในภาวะเครียดและวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง และถ้าคุณไม่แก้ไขความเครียดและความวิตกกังวลนั้นล่ะก็ มันจะกดดันร่างกายและจิตใจของคุณ และปัญหาก็จะตามมาแน่นอน ส่วนคนที่มี EQ สูงจะรู้จักวิธีการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดี พวกเขาตรวจสอบอารมณ์ด้านลบของตัวเองเสมอ และจัดการกับมันก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลงไปกว่าเดิม
คนที่มี EQ ต่ำมักจะพึ่งพาวิธีอื่น ๆ ในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง พวกเขามีแนวโน้มที่จะวิตกกังวล ซึมเศร้า ใช้ยาเสพติด หรือมีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายเป็นสองเท่าจากคนปกติ
2. ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง
คนที่มี EQ สูงจะรู้วิธีสร้างสมดุลระหว่างความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ความอ่อนโยน การตระหนักรู้ในตัวเอง และการมีขอบเขต สิ่งเหล่านี้สามารถกำจัดข้อขัดแย้งในใจของพวกเขาได้ เมื่อคนที่มี EQ สูงรู้สึกวิตกกังวล พวกเขามักจะตอบสนองไปในเชิงบวกหรือเฉย ๆ
นอกจากนี้ คนที่มี EQ สูงมักจะเป็นตัวของตัวเองสูง รู้จักปลดปล่อยอารมณ์โกรธในเวลาที่เหมาะสม ไม่เกรี้ยวกราดใส่คนอื่น วิธีนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถต่อสู้กับคนที่แข็งแกร่งกว่าได้โดยไม่ต้องสร้างศัตรู

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels
3. อธิบายอารมณ์ตัวเองยาก
ทุกคนมีอารมณ์ แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถตระหนักรู้อารมณ์ของตัวเองได้เมื่อมันเกิดขึ้น จากการวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีเพียง 36% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่สามารถทำได้ อันที่จริงแล้วทักษะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการไม่สามารถตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเอง มักจะทำให้เราจัดการกับอารมณ์ได้ไม่ดีและตัดสินใจได้ไม่ดีนัก
คนที่มี EQ สูงสามารถควบคุมอารมณ์ได้เพราะตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเองและสามารถอธิบายอารมณ์ของตัวเองเวลาที่มันเกิดขึ้นได้ ในขณะที่หลายคนอธิบายอารมณ์ของตัวเองด้วยคำง่าย ๆ เช่น “อารมณ์ไม่ดี” แต่คนที่มี EQ สูงสามารถอธิบายอารมณ์ของตัวเองได้หลากหลายกว่านั้น เช่น “โกรธ” “หงุดหงิด” “วิตกกังวล” ยิ่งคุณใช้อธิบายอารมณ์ของคุณได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งเข้าใจอารมณ์ สาเหตุ และวิธีจัดการกับอารมณ์ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

ภาพถ่ายโดย Yan Krukov จาก Pexels
4. คิดเร็วและอีโก้สูง
คนที่มี EQ ต่ำมักจะคิดเร็วและติดอยู่กับความคิด พวกเขาสนใจแต่มุมมองหรือความคิดของตัวเองและไม่สนใจหลักฐานที่คนอื่นนำมาโต้แย้ง พวกเขาจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้องความคิดของตัวเอง ซึ่งอาจเรียกได้ว่า พวกเขามี “อีโก้สูง” นิสัยนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้า เพราะความคิดหรือมุมมองของพวกเขาจะกลายเป็นกลยุทธ์หลักของทั้งทีม และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ความเสียหายก็จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนคนที่มี EQ สูงมักจะคิดอย่างรอบคอบกว่า เพราะพวกเขารู้ดีว่าความคิดแรกที่ผุดขึ้นมามักจะเกิดจากอารมณ์ พวกเขาใช้เวลาในการคิด พิจารณาผลลัพธ์ที่จะตามมา และคำนึงถึงความคิด ความต้องการ และมุมมองของคนอื่นด้วย และท้ายที่สุดพวกเขาก็จะค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. ยึดติดอยู่กับอารมณ์เชิงลบ
ความโกรธ ความคับแค้น ความอิจฉาทำให้เกิดความเครียดได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) ได้ทำการศึกษาและชี้ให้เห็นว่า ความเครียดเรื้อรังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้ การยึดติดอยู่กับความโกรธ ความคับแค้น หรือความอิจฉาเป็นการนำความเครียดมาใส่ตัวเอง คนที่มี EQ สูงจะรู้วิธีหลีกเลี่ยงอารมณ์เหล่านี้และรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น แต่ยังทำให้สุขภาพของคุณดีขึ้นอีกด้วย

ภาพถ่ายโดย Elijah O’Donnell จาก Pexels
6. ไม่รู้จักปล่อยวางความผิดพลาด
คนที่มี EQ สูงจะไม่หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาด พวกเขาจะปล่อยวาง แต่พวกเขาจะไม่ลืมความผิดพลาดนั้น ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจึงสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อความสำเร็จในอนาคตของพวกเขาได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ พวกเขาสามารถสร้างสมดุลระหว่างการหมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดและการลืมความผิดพลาดได้เป็นอย่างดี
การหมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดจะทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา แต่การลืมความผิดพลาดก็อาจทำให้ง่ายต่อการทำผิดพลาดซ้ำ เคล็ดลับในการสร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองสิ่งนี้อยู่ที่ความสามารถในการเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นบทเรียนเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อคุณล้มเหลว

ภาพถ่ายโดย Moose Photos จาก Pexels
7. สื่อสารได้ไม่ราบรื่น
เมื่อคุณขาด EQ คุณจะพบว่าเป็นการยากที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น คุณมักจะเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ และไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ อันที่จริงแล้วทักษะในการสื่อสารนี้ แม้แต่คนที่มี EQ สูงก็ไม่สามารถถ่ายทอดทุกความคิดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาจะรู้ว่าถ้าคนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด พวกเขาจะปรับวิธีการสื่อสารและวิธีถ่ายทอดความคิดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น
8. ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ตื่นเต้น
ทุกคนต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่สามารถกระตุ้นหรือทำให้ตัวเองตื่นเต้นได้ ตัวอย่างเช่น สถานการณ์บางสถานการณ์ หรือคนบางคน เป็นต้น คนที่มี EQ สูงจะอธิบายหรือรับรู้สิ่งที่สามารถกระตุ้นพวกเขาได้ และสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือคนที่กระตุ้นพวกเขาได้
9. หน้าชื่นอกตรม
คนที่มี EQ สูงไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นมิตรอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่มี EQ สูงคือคนที่รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด บางครั้งการเก็บกดหรือซุกซ่อนอารมณ์เศร้า ไม่พอใจ หรือโกรธด้วยการแสร้งทำเป็นมีความสุขหรือคิดบวกเสมอนั้นไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป คนที่มี EQ สูงจะรู้จักการใช้อารมณ์เชิงลบและอารมณ์เชิงบวกอย่างพอดี มีสติ และเหมาะสมกับสถานการณ์

ภาพถ่ายโดย Elijah O’Donnell จาก Pexels
10. ไม่ค่อยเปิดใจ
ถ้าคุณเข้าใจตัวเองและตระหนักรู้ในตัวเองจริง ๆ คุณจะไม่โกรธเคืองกับคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น คนที่มี EQ สูงมักจะมีความมั่นใจและเปิดใจกว้าง พวกเขามีภูมิต้านทานสูงต่ออารมณ์เชิงลบของคนอื่น บางครั้งพวกเขาก็ชอบล้อเลียนตัวเองหรือปล่อยให้คนอื่นล้อเลียนพวกเขาได้ตามสบาย แต่พวกเขาจะมีขอบเขตอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรคืออารมณ์ขัน อะไรคือการสร้างความอับอาย
คุณอาจจะเป็นคนทำงานเก่ง ชำนาญในทักษะต่าง ๆ มากมาย แต่จงจำไว้ว่า “อารมณ์” ก็เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้คุณทำงานได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จงพัฒนาทักษะด้าน EQ ของคุณควบคู่ไปกับ IQ จะดีที่สุด แล้วคุณจะเป็นมนุษย์ทำงานที่คนอื่นยอมรับอย่างแน่นอน
อ้างอิง: Cafebiz
https://www.facebook.com/tonydzung.com.vn/photos/a.920059914689090/5084623114899395/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik