การมีความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเพิ่มความสุข ทำให้สุขภาพดี และลดความเครียดลงได้ จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะมีความสุขและเครียดน้อยกว่า บทความนี้จะกล่าวถึงเคล็ดลับขั้นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

ภาพถ่ายโดย Tim Douglas จาก Pexels
1. อยู่กับความคาดหวังที่เป็นจริง
ไม่มีใครสามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากให้เป็นได้ ความสัมพันธ์ที่ดี หมายถึง การยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นและไม่พยายามเปลี่ยนแปลงพวกเขา

ภาพถ่ายโดย Gary Barnes จาก Pexels
2. พูดคุยกัน
การสื่อสารมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่ดี แต่ไม่ใช่แค่การพูดคุยกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำสิ่งต่อไปนี้
- มีเวลา ต้องอยู่ที่นั่นจริง ๆ
- ตั้งใจฟัง อย่าขัดจังหวะหรือวางแผนล่วงหน้าในสิ่งที่คุณจะพูดต่อไป พยายามเข้าใจมุมมองของพวกเขาอย่างเต็มที่
- ถามคำถาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจเรื่องที่พวกเขาพูด ควรถามเกี่ยวกับประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น และความสนใจของพวกเขา
- แบ่งปันข้อมูล จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการแบ่งปันข้อมูลช่วยเริ่มต้นความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี บอกให้คนอื่นรู้ว่าคุณเป็นใคร แต่อย่าบอกข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปและเร็วเกินไป

ภาพถ่ายโดย Monstera จาก Pexels
3. มีความยืดหยุ่น
เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกไม่เคยชินกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เราเติบโตขึ้น
4. ดูแลตัวเองด้วย
ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน แต่ก็ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับคนทั้งสองคนด้วย

คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
5. ไว้ใจกัน
หากคุณวางแผนร่วมกับใครแล้ว ให้ทำตามแผนนั้น หากคุณรับผิดชอบและทำตามแผนนั้นสำเร็จ ความสัมพันธ์นั้นย่อมเป็นความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคง
6. ทะเลาะกันแบบแฟร์ๆ
ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักมีความขัดแย้งกันบ้าง ซึ่งหมายความว่าคุณไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณเกลียดกัน

ภาพถ่ายโดย Liza Summer จาก Pexels
- ทำใจให้เย็น ๆ ก่อนแล้วค่อยคุยกัน การสนทนาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าอารมณ์ของคุณเย็นลงเล็กน้อย และอย่าพูดอะไรที่อาจจะทำให้คุณเสียใจได้ในภายหลัง
- ใช้คำพูดเชิงบวก (I statements) แบ่งปันความรู้สึกของคุณและบอกสิ่งที่คุณต้องการโดยไม่ต้องมีการตำหนิกันหรือยั่วยุอารมณ์ของอีกฝ่าย เช่น “เวลาที่คุณไม่โทรหาฉัน ฉันรู้สึกว่าคุณไม่แคร์ฉันเลย” ลองเปลี่ยนเป็น “คุณไม่โทรหาฉันเลยเวลาที่คุณไม่อยู่ ฉันเดาว่าคงมีฉันคนเดียวที่แคร์กับความสัมพันธ์นี้”
- ใช้คำพูดที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา พยายามอธิบายพฤติกรรมที่คุณไม่พอใจตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์และการตัดสิน ให้มุ่งประเด็นไปที่ปัญหา ไม่ใช่ตัวบุคคล

ภาพถ่ายโดย Jasmine Carter จาก Pexels
- โฟกัสกับเรื่องปัจจุบัน บทสนทนาจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเก่า ๆ ถ้าคุณนำทุกสิ่งทุกอย่างที่รบกวนจิตใจคุณมาทับถมรวมกัน หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เสมอ” และ “ไม่เคย” และพยายามแก้ไขปัญหาทีละประเด็น
- รับผิดชอบต่อความผิดพลาด ขอโทษถ้าคุณทำอะไรผิด แล้วมันจะไม่ยากถ้าคุณจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องอีกครั้ง
- ยอมรับว่าปัญหาบางอย่างไม่ได้แก้ไขได้ง่าย ๆ คุณไม่สามารถแก้ไขความแตกต่างหรือปัญหาทั้งหมดได้ แต่ละคนย่อมแตกต่างกันทั้งค่านิยม ความเชื่อ นิสัย และบุคลิกภาพ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกันเสมอไป แต่การสื่อสารกันจะช่วยให้คุณเข้าใจซึ่งกันและกันและจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดีแต่ก็มีบางสิ่งที่หยั่งรากลึกและอาจไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องรู้เองว่าคุณสามารถยอมรับอะไรได้บ้างหรือเมื่อความสัมพันธ์ไม่ดีสำหรับคุณอีกต่อไป

คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
7. รับรองว่าเป็นเรื่องจริง
จอห์น ก็อตต์แมน (John Gottman) นักวิจัยด้านความสัมพันธ์กล่าวว่า คู่รักที่มีความสุขจะมีอัตราส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์หรือความรู้สึกในเชิงบวก 5 ครั้งต่อการโต้เถียงหรือความรู้สึกเชิงลบ 1 ครั้ง ดังนั้น คุณควรแสดงความรักและความอบอุ่นให้มากขึ้นอีกสักนิด

ภาพถ่ายโดย Ketut Subiyanto จาก Pexels
8. ดูแลชีวิตของคุณให้สมดุล
คนอื่น ๆ อาจช่วยให้ชีวิตของเราน่าพึงพอใจ แต่พวกเขาไม่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของเราได้ ค้นหาสิ่งที่คุณสนใจและมีส่วนร่วมกับมัน ความสัมพันธ์ที่ดีจะมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
9. มันเป็นกระบวนการ
อาจดูเหมือนว่าทุกคนมีความมั่นใจและสามารถเชื่อมโยงกันได้ แต่คนส่วนใหญ่มักกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมและการเข้ากันได้ แต่การพบปะผู้คนและทำความรู้จักกับพวกเขาต้องใช้เวลา ความสัมพันธ์ที่ดีจะสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ

ภาพถ่ายโดย Ketut Subiyanto จาก Pexels
10. เป็นตัวของตัวเอง
การเป็นตัวของตัวเองนั้นง่ายกว่าและสนุกกว่าการแกล้งทำหรือการเลียนแบบคนอื่น ความสัมพันธ์ที่ดีจะต้องเกิดจากตัวตนของคนคนนั้นจริง ๆ
. . .
แม้ว่าความสัมพันธ์ของแต่ละคนแต่ละรูปแบบจะแตกต่างกัน แต่เคล็ดลับเหล่านี้สามารถใช้ได้กับความสัมพันธ์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับครอบครัว รวมทั้งความสัมพันธ์แบบโรแมนติก

คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
อ้างอิง: ดัดแปลงจากบทความของมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตตและสภาส่งเสริมการเคารพความเท่าเทียมทางเพศแห่งวิทยาลัยแอมเฮิร์สท์
https://www.amherst.edu/campuslife/health-safety-wellness/counseling/self_care/healthy_relationships/10_tips_for_health_realtionships
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels