เคยไหมที่เคยลืมอะไรบางอย่าง กระทั่งเรื่องง่าย ๆ เป็นต้นว่าลืมโทรศัพท์มือถือ ทั้งที่กำลังใช้อยู่ในมือ ลืมกุญแจรถ ทั้งที่วางไว้อยู่ข้าง ๆ มือของคุณ หรือลองเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาอีกนิด เช่น ลืมเนื้อหาที่จะสอบ แม้ว่าจะอ่านมาอย่างโต้รุ่ง หรือลืมเดดไลน์ที่จะต้องส่งงานให้กับลูกค้า
อาการหลงลืมเหล่านี้สร้างปัญหาให้กับชีวิตของคุณหรือไม่?
บทความนี้จะมาแชร์วิธีฝึกความจำง่าย ๆ ที่คุณสามารถนำไปปฏิบัติได้ แล้วคุณจะไม่ใช่คนขี้ลืมอีกต่อไป

ภาพถ่ายโดย Ivan Samkov จาก Pexels
1. เข้าใจปัญหา
ก่อนที่จะจำอะไร คุณต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาคืออะไร การเข้าใจปัญหาจะช่วยให้คุณกำหนดรูปแบบในใจได้ว่าปัญหาคืออะไร เป็นอย่างไร และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร อย่าพยายามยัดเยียดให้ตัวเองจำให้ได้ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้คุณจำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และในที่สุดคุณก็จะลืมไปอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้นำมาใช้
2. เชื่อมโยง
ไม่ใช่ทุกคนที่จะจำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและจำได้นาน อย่างไรก็ตาม วิธีที่มีประโยชน์มากที่สามารถช่วยให้คุณฝึกความจำได้ก็คือ การเชื่อมโยง เมื่อเจอกับปัญหา ให้ทำความเข้าใจปัญหาก่อน แล้วจึงพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วให้สัมพันธ์กับปัญหานั้น การเชื่อมโยงไม่เพียงแต่ช่วยฝึกความจำเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้คุณรู้จักการวิเคราะห์หาความความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย

ภาพถ่ายโดย George Milton จาก Pexels
3. การทำซ้ำ
การทำซ้ำเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นวิธีที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดในการจำ เรื่องที่พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ นาน ๆ จะช่วยให้สมองจำได้อย่างแม่นยำที่สุด แต่อย่าลืมว่าคุณต้องทำความเข้าใจไปด้วยว่าปัญหาคืออะไร อย่าเพียงแต่ทำซ้ำ ๆ เหมือนเครื่องจักร จำได้ทุกประโยคทุกคำ แต่ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร การทำเช่นนี้จะทำให้สมองของคุณเฉื่อยชาและขี้เกียจจำในที่สุด
4. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
แค่คุณอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย คุณก็คิดว่าตัวเองได้เรียนรู้แล้ว นั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง ถ้าคุณหยุดเรียนรู้ ความจำของคุณก็จะหยุดลง ความรู้ที่เคยสะสมมาก่อนหน้านี้ก็จางหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ภาษาต่างประเทศ ดนตรี การฝีมือ เป็นต้น การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้สมองของคุณจดจำได้ดีขึ้น
5. ตั้งคำถาม
การฝึกความจำไม่ได้ขึ้นอยู่กับการฟัง การติดตาม และการท่องจำเท่านั้น แต่คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย พยายามสร้างสรรค์คำถามในแต่ละปัญหาและหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น การแก้ปัญหาจะทำให้คุณรู้จักใช้ความรู้และความจำของคุณเพื่อค้นหาว่าคำตอบอยู่ที่ไหน และยังเป็นวิธีที่จะช่วยทบทวนความรู้เก่าและช่วยให้คุณฝึกความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
6. มองโลกในแง่ดีและทำจิตใจให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ
คุณจะจำอะไรไม่ได้เลยถ้าคุณรู้สึกกังวล เครียด หรือเหนื่อยมาทั้งวัน คุณควรมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ทำใจให้สบายที่สุดไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร อารมณ์ที่ไม่ดีจะทำให้ทุกอย่างกลับหัวกลับหาง ผลที่ได้ก็คือ ข้อมูลที่คุณเคยจำได้จะค่อย ๆ หายไปและคุณจะลืมในที่สุด

ภาพถ่ายโดย olia danilevich จาก Pexels
7. มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการปฏิบัติ
กิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติจริงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมทางกายเท่านั้น แต่ยังเป็นเวลาที่สมองของคุณกำลังทำงานเพื่อควบคุมการกระทำของคุณ ข้อมูลที่คุณเห็นจะถูกส่งไปยังสมอง ซึ่งต้องผ่านการวิเคราะห์ ประมวลผล และจดจำ นอกจากนี้ กิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงยังสามารถช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจและสมองได้พักผ่อนหลังจากใช้งาน
ให้เวลากับการฝึกความจำทุกวัน มันไม่เพียงแต่ทำให้งานของคุณง่ายขึ้น แต่ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นด้วย อย่าปล่อยให้สมองเฉื่อยชาหรือความจำเสื่อมเพราะความเกียจคร้านของคุณเอง
อ้างอิง: Sưu tầm
https://www.facebook.com/TruongdoanhnhanPR/photos/a.123991011712658/982502862528131/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels