สำเร็จไม่ได้แปลว่าใช่…ไม่สำเร็จไม่ได้แปลว่าแย่
เข้าใจซะใหม่นะ

Why we should not focus on goals
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว เรามาลองเกลาสมองและลองฝึกจินตนาการกันดูบ้างดีกว่า
ลองนึกดูว่าคุณมีเป้าหมาย อะไรก็ได้ที่คุณอยากที่จะทำให้สำเร็จ
วางไว้หลวม ๆ หน่อย คุณคิดว่าสิ่งที่คุณตั้งเป้าไว้น่าจะสำเร็จได้ภายใน 1 เดือน

ตั้งเป้าหมายพร้อมกำหนดเวลาเรียบร้อย คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนการวางแผน วางให้เป็นขั้นเป็นตอน กำหนดไว้ให้ชัดเจนเลยว่าข้อที่ 1 ต้องทำอะไร และข้อที่ 2 จะต้องมีรายละเอียดแบบไหน
พอเสร็จเรียบร้อย กระดาษเปล่า ๆ ก็เต็มไปด้วยเส้นลากของปากกา วาดเป็นตารางซึ่งแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม แต่ละช่องถูกเติมเต็มด้วยประโยคและเครื่องหมายตกใจ แสดงให้เห็นว่าคุณจริงจัง และแทบจะอดใจรอทำตามขั้นตอนที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จไม่ไหว
คุณแปะแผ่นกระดาษที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณหนึ่งเดือนหลังจากนั้นบนผนังข้างโต๊ะทำงาน เพื่อที่ว่าจะได้เป็นสิ่งย้ำเตือนคุณก่อนนอน และกำหนดสิ่งที่จะต้องทำหลังตื่นนอน
คุณคิดว่าแผนนี้มันโคตรจะเพอร์เฟ็ค นั่นก็เพราะว่าคุณได้วางแผนแบบ SMART Goal Setting ทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายของคุณนั้นไม่ล่องลอย วัดได้ มีความท้าทายแต่ก็ยังอยู่ในความเป็นไปได้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงและมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ไม่ว่าอย่างไร เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ต้องสำเร็จแน่ ๆ

คุณที่เชื่อมั่นอย่างสุดใจดำเนินชีวิตภายในระยะเวลา 1 เดือนนั้นด้วยความกระตือรือร้น ทำตามขั้นตอนที่เขียนไว้บนกระดาษแผ่นนั้นอย่างเคร่งครัด
30 วันผ่านไปหลังจากที่คุณแปะแผ่นกระดาษไว้บนผนังเหนือโต๊ะทำงาน คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ไม่ล่ะ ดูเหมือนว่าคำถามดูจะคลุมเครือไปสักหน่อย เราลองมาแบ่ง ‘สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากทำตามเป้าหมายที่ตั้งไ้ว้’ เป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ‘ความรู้สึก’ และส่วนที่ 2 คือ ‘สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น’ กันดีกว่า
ความเป็นไปได้ในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ตามที่เรามักจะเห็นบ่อย ๆ มีอยู่แค่ 2 แบบ : นั่นก็คือ สำเร็จ กับ ล้มเหลว

ความเป็นไปได้หมายเลขหนึ่ง: สำเร็จ
ความรู้สึกของคุณปั่นป่วนอย่างบอกไม่ถูก แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่แย่หรือเลวร้ายอะไร ออกจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความสุขและความภูมิใจที่ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จมันเอ่อขึ้นมาจนคุณหุบยิ้มไว้ไม่อยู่ การทำอะไรสักอย่างได้ตามเป้าหมายไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่าย ๆ นั่นจึงเป็นเรื่องปกติหากคุณจะรู้สึกเหมือนเท้าเหยียบไม่ติดพื้น แต่หลังจากนั้นล่ะ
หลังจากที่ความรู้สึกเชิงบวกเริ่มกลับเข้าที่ และเป้าหมายของคุณได้รับการเติมเต็มเรียบร้อย อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น?
แล้วถ้าเกิดแผนที่วางไว้เพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จดันไม่ออกมาเหมือนที่ตั้งใจเอาไว้ ผลลัพธ์ขัดกับสิ่งที่ต้องการ หรือเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เป็นเป้าหมายเดียวกับที่ใครอีกหลายคนตัดสินใจตบเท้ามุ่งเดินไปทางนั้นเหมือนกัน มีหลายคนที่ทำสำเร็จ คุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่คุณสามารถพูดได้เต็มปากหรือไม่ว่าคุณคือคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง?

นั่นคือความเป็นไปได้หมายเลขสอง: ล้มเหลว
เป็นความรู้สึกที่ไม่ดีนัก อันที่จริงอาจจะคล้ายกับความรู้สึกดิ่งเหมือนก้าวพลาดจนตกหน้าผา ดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทรจนหายใจไม่ออก หรือแม้แต่ความรู้สึกเสียดายที่ได้ทำอะไรสักอย่างพลาดไปอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้ง ๆ ที่เรื่องบางเรื่องสามารถปล่อยผ่านไปได้
แต่เพราะสมองของคนเราไม่เชี่ยวชาญด้านการปล่อยวางเหมือนในด้านการขุดคุ้ยและประมวลข้อมูล เสาะหาเหตุผลมารองรับความล้มเหลวจนทำให้เรารู้สึกท้อ และอดโทษตัวเองไม่ได้

จริงอยู่ว่าการตั้งเป้าหมายคือการกำหนดจุดประสงค์ในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่าหลากหลายไปตามความต้องการและความคาดหวังของแต่ละคน แต่นั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ หรือ?
ถ้าเราทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ นั่นหมายถึงจุดประสงค์ในการใช้ชีวิตของเราก็จบลงไปด้วยใช่หรือไม่
ถ้าเราล้มเหลวและไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ นั่นหมายความว่าเราเป็นคนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลล้มเหลว และไม่เหมาะสมกับความสำเร็จอย่างที่เสียงในหัวพร่ำบอกหรือเปล่า?
ที่ผ่านมาเรามักจะแฟนซีกับชุดความคิดของการตั้งเป้าหมายและการทำเป้าหมายให้สำเร็จ หลายคนตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนัก 5 กิโลภายใน 3 เดือน บางคนบอกว่า ฉันจะมีเงินเก็บเป็น 2 เท่าภายในครึ่งปี การตั้งเป้าหมายไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือควรล้มเลิก แต่จุดโฟกัสไม่ควรจะมีแค่คำว่า ‘เป้าหมาย’ และ ‘ทำให้สำเร็จ’ แต่ควรจะให้ความสำคัญที่ตัว ‘กระบวนการ’ หรือ ‘ขั้นตอน’ มากกว่า

คุณคิดว่าอะไรทำแล้วได้ 4 บ้าง
2+2 ได้ 4 คำตอบแทบจะกระโดดออกจากปากของคุณโดยอัตโนมัติ
แล้วถ้าถามต่อล่ะ ว่านอกจาก 2+2 แล้ว มีอย่างอื่นที่มีผลลัพธ์เท่ากับ 4 อีกไหม
บางคนเสนอความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกสองสามรูปแบบ ในขณะที่บางคนสมองหยุดทำงานไปเรียบร้อย
มันเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อมีการตั้งเป้าหมาย สิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังที่จะทำให้สำเร็จ และเมื่อทำไม่ได้ตามที่คิดไว้ การลงโทษตัวเองก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

คุณตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนัก 5 กิโลภายใน 3 เดือน
สายตาของคุณจะจดจ่ออยู่แค่ผลลัพธ์ นั่นทำให้กระบวนการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายถูกผลักไปอยู่ที่อีกมุมหนึ่งของห้อง การลดน้ำหนักทำได้หลากหลายรูปแบบ แต่เมื่อถูกกดดันด้วยระยะเวลาที่กำหนด นั่นทำให้การมองเห็นของคุณแคบลงจนไปจำกัดการมองเห็นถึงตัวเลือกอื่น ๆ
คุณเลือกทานแต่ผักและผลไม้ทุกมื้อ บางคนกังวลกับแคลลอรี่ที่บริโภคในแต่ละวันจนไม่กล้าออกไปทานข้าวนอกบ้าน ในขณะที่หลายคนหันไปพึ่งอาหารเสริมและยาลดความอ้วนที่ให้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง
คุณอดทนทำจนครบ 3 เดือนด้วยความคิดที่ว่า พอครบกำหนดและทำได้ตามเป้าเมื่อไหร่ ค่อยไปมีความสุขกับพิซซ่า เค้กและไอศกรีมทีหลังก็ไม่สาย
ถ้าคุณกำลังคิดแบบนี้อยู่ ลองจินตนการต่อถึงเรื่องราวหลังจากนั้นอีกสักหน่อย

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น 3 เดือน?
คุณกลับไปทานแป้งและขนมปกติ ออกไปทานข้าวและกลับไปดื่มหลังเลิกงาน และทิ้งอาหารเสริมให้หมดอายุคาตู้เก็บของในครัวด้วยความรู้สึกว่าคุณควรจะได้รับรางวัลหลังจาก 3 เดือนหฤโหดที่คุณเคร่งครัดและเข้มงวดกับตัวคุณเองใช่หรือไม่
เช่นเดียวกับคนที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บเงินให้ได้ 2 เท่าภายในครึ่งปี คุณจะเฝ้าหาแต่วิธีที่จะเก็บเงินให้ได้ตามเป้า ประหยัดและอดใจ รอจนกว่าจะพ้นครึงปีนี้ไปก่อนเถอะ หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที

การกำหนดเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดีเพราะมันมอบจุดประสงค์และขั้นบันไดในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อาจพูดได้เลยทีเดียวว่าจะเป็นสิ่งที่ออกแบบชีวิตของคุณในแบบที่คุณอยากให้เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การตั้งเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตไม่น่าเบื่อและมอบความท้าทายให้ก้าวผ่านได้ นั่นไม่ได้หมายความว่า เป้าหมายคือทั้งหมดของชีวิต
ถ้าคุณทำเป้าหมายสำเร็จก็ยินดีด้วย แต่ถ้าคุณเกิดก้าวพลาดและล้มก่อนถึงเป้าหมาย ชีวิตคุณก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่คำว่าล้มเหลว
อาจจะพูดได้ว่า สิ่งที่มาพร้อมกับการตั้งเป้าหมายก็คือ:
เส้นที่แบ่งชัดเจนถึงความสำเร็จและความล้มเหลว;
ความรู้สึกกดดันระหว่างการเดินทางไปถึงเป้าหมาย;
และสุดท้าย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทำตามเป้าหมายทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบโยนของใส่ตะกร้า เราเก่งมากในการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ไว้ตามหัวข้อหรือหมวดหมู่ที่เราได้กำหนดเอาไว้ ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ มันง่ายและสะดวกในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ
คนที่ทำได้ตามเป้าหมายคือคนที่สำเร็จ
คนที่ทำไม่ได้ตามเป้าก็กลายเป็นคนล้มเหลว
นั่นเป็นชุดความคิดที่อันตราย เพราะนั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมองความเป็นตัวตนและความสามารถของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลำตัวของคุณจะหยัดตรง และอาจจะยืดอกสักเล็กน้อยเพราะคุณได้ทำเป้าหมายได้สำเร็จ ในทางตรงกันข้าม คนที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายก็อาจจะเดินห่อตัว ไหล่ตกและก้มมองแต่พื้นแทนที่จะเสี่ยงไปสบกับสายตาที่มองมาอย่างดูแคลน
เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของความสงสาร เราจึงมักจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ความกดดันเริ่มจากตรงนั้น
เพราะความคาดหวังจากทั้งตัวเองและคนรอบข้างกดทับลงมาบนไหล่ ทำให้แค่จะหายใจยังลำบาก จริงอยู่ว่าความกดดันมีข้อดีตรงที่เป็นแรงผลักดันให้ทำตามเป้าหมายได้ แต่อย่าลืมว่าเมื่อความกดดันมีมากเกินไป การจะก้าวเท้าเดินไปข้างหน้าก็อาจจะต้องชะงักกลางทางเพราะทนแบกรับน้ำหนักต่อไปไม่ไหวก็ได้
เท้าที่ลังเลระหว่างเส้นความสำเร็จและความล้มเหลวไม่กล้าแม้แต่จะเหยียบลงบนพื้น เพราะไม่ว่าจะวางเท้าลงไปตรงไหน คำตัดสินก็ดูจะเตรียมพร้อมไปรอบด้าน
เมื่อเป็นอย่างนั้น การคาดหวังที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อยเลยทีเดียว
การเปลี่ยนที่หรือจุดที่จะมองจึงอาจทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นมาสักหน่อย
นั่นหมายความว่า แทนที่จะมองแต่ตัวเป้าหมาย ลองปรับให้จุดรวมสายตาไปอยู่ที่กระบวนการแทน

และแทนที่จะอดทนและคิดว่า ‘ค่อยมีความสุขหลังจากที่ทำเป้าหมายสำเร็จ’ ให้ลองคิดถึงวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายอย่างยั่งยืนและมีความสุขด้วยก็อาจจะทำให้การทำตามเป้าหมายมีอะไรที่มากกว่าความสำเร็จชั่วครั้งชั่วคราว และความล้มเหลวที่จะติดอยู่เป็นแผลใจไปตลอดก็ได้
เพราะคนที่ตั้งเป้าหมายมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันก็คือการทำให้สำเร็จ ตัวเป้าหมายจึงไม่ใช่ตัวชี้ชัดถึงควาสำเร็จที่แท้จริง
คนที่เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกต่างอยากกลับบ้านพร้อมเหรียญทอง
คนที่ต้องการลดน้ำหนักให้สำเร็จ ล้วนอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
คนที่อยากสอบให้ได้ที่หนึ่งก็เพราะต้องการท้าทายความสามารถของตัวเอง
และคนที่ต้องการเก็บเงินให้ได้เป็นสองเท่าของที่มีอยู่ก็เพียงแค่อยากมีสภาพคล่องทางการเงินที่อยากไหลลื่นขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่ต่างกันคือรายละเอียดของเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ:
1. เป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ต้องการทำให้สำเร็จ
2. เป็นเป้าหมายที่อาศัยความต่อเนื่องและยั่งยืนจึงจะทำให้สำเร็จ

แค่ใจสู้ทำให้เป้าหมายสำเร็จไม่ได้ และความสำเร็จไม่มีทางลัด
สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริงจึงอยู่ที่ กระบวนการ
การฝึกฝนและไม่ฝืนทำอะไรที่ไม่ใช่เพียงเพราะต้องทำตามเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนดจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ
คุณไม่สามารถลดน้ำหนักภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนได้ หากหลังจากนั้นคุณกลับมาทานอาหารแบบเดิม
คุณไม่สามารถเก็บเงินเป็นสองเท่าได้หากหลังจากนั้นจะถลุงใช้จนเกลี้ยงเพราะความรู้สึกอัดอั้นจากการประหยัดและตระหนี่แทนที่จะวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ

การโฟกัสที่กระบวนการ
ทำอย่างต่อเนื่องและติดจนเป็นนิสัย วัดผลเรื่อย ๆ และปรับแก้เมื่อพบข้อบกพร่องจึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุด
เพราะเป้าหมายไม่ได้จำกัดแค่คุณเท่านั้นที่จะทำให้สำเร็จได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การมองไปรอบ ๆ ระหว่างการเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย หยุดเมื่อรู้สึกเหนื่อย และเดินต่อเมื่อลมหายใจกลับมาเป็นปกติ

หากไม่ชนะโอลิมปิกครั้งนี้ ก็กลับมาใหม่ครั้งหน้าพร้อมกับแผนการซ้อมที่เข้ากับตัวเองมากขึ้น
หากไม่ได้ที่หนึ่งในการสอบครรั้งนี้ ก็ลองทบทวนดูว่าพลาดตรงไหนและกลับไปปรับแก้ให้ดีขึ้น
และหากคุณล้มเหลวในครั้งนี้ไม่ว่าจะในเรื่องอะไรก็ตาม ให้บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร เพราะนั่นเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นอดีตที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่คุณสามารถเรียนรู้จากมันได้

คลิกที่รูปภาพ เพื่อสั่งซื้อหนังสือ
ขอบคุณภาพประกอบบทความ : เว็บไซต์ Pexels และ freepik
บทความโดย : ปรียาภา พืชผล | บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ 7D Book & Digital