ผมได้รับการบ้านจากกองบรรณาธิการแห่ง 7D Book ให้เขียนเรื่องนี้ ก็นั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนอะไรดี เพราะตัวเองไม่เคยทำเงินเดือนละแสนในฐานะนายหน้ามาก่อน จนน้องทวงมาอีกครั้งเลยคิดว่า จะเขียนจากมุมมองในฝั่งที่ตัวเองรู้ในฐานะนายทุนรับขายฝากที่ได้จ่ายเงินให้นายหน้าเดือนละเป็นแสนจริง ๆ หรือถึงหลายแสนในบางเดือน ขอย้ำว่าต่อ 1 คน
นี่คือ 10 เคล็ดลับในการทำเงินเดือนละแสนของนายหน้าขายฝากที่จะทำให้นายหน้าทุกคนอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Photo created by tirachardz
1. มีความซื่อสัตย์
หัวข้อนี้ผมยกมาเป็นอันดับหนึ่งเลย หากคุณมีความซื่อสัตย์ที่ทำให้ทั้งฝั่งทรัพย์ คือ ผู้ขายฝากและนายทุนผู้รับซื้อฝากไว้ใจ จะทำให้เขาไม่ต้องมานั่งกังวลว่าทรัพย์ที่รับมาไม่ดี หรือทรัพย์ที่เขานำไปขายจะโดนโกง หรือแม้กระทั่งการไว้วางใจให้ทำธุรกรรมแทน
ยกตัวอย่างกรณีของผมเองที่ผมรับขายฝากมาโดยไม่เคยเดินทางไปดูทรัพย์หรือทำธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินด้วยตัวเองเลย ผมมอบอำนาจให้นายหน้าทำงานแทนทั้งหมด และการดูทรัพย์ก็จะพิจารณาจากแอปพลิเคชันของกรมที่ดิน และหาข้อมูลจาก Google เป็นหลักเลย
ดังนั้นนายหน้าที่อยู่หน้างานจะมีความสำคัญมาก ๆ ที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ทุน และถ้าหากเขาไว้ใจแน่นอนว่านายหน้าก็กินยาว ๆ ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีทุนหลายคน ไม่จำเป็นต้องไปทำการตลาดหาทุนใหม่เรื่อย ๆ ทำแค่ฝั่งหาทรัพย์เพียงอย่างเดียวก็พอ
2. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ Conflict of Interest
ข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ดูเหมือนสังคมไทยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ แต่ผมในฐานะที่ทำงานกับบริษัทต่างชาติมาเยอะ ต้องบอกเอาไว้เลยว่า เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ ถ้าพิจารณาให้ดีก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความซื่อสัตย์
ผมยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นนายหน้า แต่คุณก็เป็นนายทุนเองด้วย ทรัพย์ไหนสวย ๆ เงินลงทุนไม่สูง โอกาสทำกำไรมีเยอะก็จะเก็บเอาไว้เอง แต่ถ้าทรัพย์ไหนไม่ค่อยสวย มีโอกาสหลุดหรือติดมือสูงก็จะปล่อยให้นายทุนรับไป แบบนี้คุณไม่ได้ทำอะไรผิด แต่นี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และทำไปนาน ๆ มีหรือที่นายทุนจะไม่รู้ แบบนี้ก็จะมีโอกาสถูกลดความไว้วางใจลงได้ ดังนั้น ทางที่ดีคือเราเลือกทำตรงไหนก็จดจ่อไปกับตรงนั้น จะทำให้ทำมาหากินไปได้นาน

Photo created by kues
3. ไม่เอาเปรียบลูกค้าหรือผู้นำทรัพย์มาขายฝาก
เช่น การคิดค่าปากถุงที่มากเกินไป คิดค่าเดินทางที่สูงเกินจริง หรือบางกรณีเช่นลูกค้าต้องการจะไถ่ถอนขายฝากก่อนกำหนด
โดยปกติที่ผมเป็นทุนก็จะเรียกเก็บดอกเบี้ยเฉพาะเดือนที่ผ่านมาแล้วเท่านั้น แต่มีนายหน้าบางคนไปเอาเปรียบลูกค้าโดยการไปเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติมเต็มปีตามที่เขียนเอาไว้ในสัญญาขายฝาก ซึ่งการทำแบบนี้ก็เป็นการเอาเปรียบลูกค้ามากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือนายหน้า แต่ถ้าหากนายหน้าทำเองโดยนายทุนไม่ทราบด้วย ก็น่าจะทำให้รู้สึกไม่ดีทั้งจากฝั่งทรัพย์ คือ ผู้ขายฝาก และฝั่งของผู้ซื้อฝาก คือ นายทุนด้วยเช่นกัน

Photo created by benzoix
4. มีช่องทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้
จริง ๆ แล้วเรื่องนี้น่าจะมาเป็นอันดับต้น ๆ แต่ผมอยากจะบอกว่า ถึงช่องทางการตลาดคุณจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ แน่นอนว่าคุณไม่สามารถไปได้ไกลแน่นอน และยังต้องเหนื่อยอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งทำไป ยิ่งมีชิ่อเสียงที่ไม่ดีก็จะยิ่งทำให้การหากินลำบาก
หากชื่อเสียงดี เราก็สามารถใช้ช่องทางการตลาดเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัว เฟซบุ๊กเพจ หรือช่อง Google เดิม ๆ ยิ่งทำยิ่งจะมีผู้ติดตามมากขึ้น และจะทำให้ต้นทุนทางการตลาดของคุณลดลงไปด้วย
5. เลือกทรัพย์เป็น (จากข้อที่ 3)
แน่นอนว่าเมื่อคุณมีช่องทางการตลาดให้สามารถติดต่อกับลูกค้าได้แล้ว คุณเองก็ต้องมีเกณฑ์ในการคัดกรองทรัพย์เบื้องต้นที่จะเข้าเงื่อนใขของการรับจำนองหรือขายฝากได้ เพราะเกณฑ์ในการคัดกรองทรัพย์เหล่านี้จะช่วยให้คุณประหยัดเวลาในการลงพื้นที่เพื่อดูทรัพย์จริงอีกครั้ง แต่เมื่อไปดูทรัพย์จริงก็จะง่ายในการตรวจสอบ แค่ดูเพียงว่าบรรยกาศโดยรอบในสถานที่จริงเป็นไปตามที่เราคิดเอาไว้หรือไม่ มีปัจจัยอะไรที่ยังเป็นความเสี่ยงได้อีก
หากพิจารณาโดยเกณฑ์เหล่านี้ และเป็นเกณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของนายทุนอยู่แล้วก็จะทำให้งานที่คุณส่งไปมีโอกาสจบกันได้ง่ายมากขึ้น และเราก็รู้ว่างานนายหน้าขายฝากนั้นจบกันได้ง่ายมาก ๆ เพราะส่วนใหญ่จะจบกันที่เงินสด ไม่ต้องมีขั้นตอนการรออนุมัติจากธนาคารให้ยุ่งยากเหมือนนายหน้าซื้อขายบ้าน ดังนั้น เมื่องานผ่านเกณฑ์ก็จะสามารถจบและทำธุรกรรมกันได้อย่างรวดเร็ว อาจจะภายในเวลาเพียงวันเดียวด้วยซ้ำ

Photo created by jannoon028
6. ทำการบ้านมาล่วงหน้า
ข้อนี้ผมเขียนมาจากประสบการณ์โดยตรงจากการติดต่อกับนายหน้าหลายคน เช่น นายหน้าคนหนึ่งส่งงานมาให้ผม มีรูปโฉนด รูปที่ดิน (ทรัพย์) พิกัดที่ดิน และราคาที่เขาต้องการขายฝาก พอผมสอบถามกลับไปว่า ราคาตลาดใกล้เคียงกันซื้อขายกันตารางวาหรือไร่ละเท่าไหร่ ก็ตอบไม่ถูก ทำไมผู้ขายฝากจึงต้องการขายฝาก ก็ตอบไม่ถูก เพราะไม่ได้คุยตรงกับผู้จะขายฝากโดยตรง แค่ส่งต่อจากที่เขาส่งมา ผู้ขายฝากมีรายได้จากอะไร เงินที่ขายฝากจะเอาไปทำอะไร
เพราะคำถามเหล่านี้ เราแค่ต้องการประเมินความสามารถในการจ่ายคืน โดยผมเองที่เป็นนายทุน เราแค่ต้องการดอกเบี้ย ไม่ได้ต้องการจะยึดทรัพย์ใคร แต่ถ้ามันจำเป็นต้องหลุดมาจริง ๆ ก็จะต้องเป็นทรัพย์ที่ต้องขายออกโดยง่ายและทำกำไรได้
ดังนั้น ถ้าผมเจอนายหน้าอย่างที่ว่าถามอะไรก็ตอบไม่ถูกสักอย่าง คงจะคุยได้กันแค่ครั้งสองครั้ง หลังจากนั้นคงต้องทางใครทางมัน เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าเคืองใจเสียมากกว่า แต่กลับกันที่อีกคนทำการบ้านมาอย่างดี สามารถตอบได้ทุกคำถาม และแน่นอนว่า หากได้แบบนั้น ส่งมากี่ทรัพย์ผมก็รับเกือบหมด

Photo created by ijeab
7. ความรับผิดชอบต่อทรัพย์ที่ส่งมา
ผมเองจะดูแลนายหน้าเหมือนกับหุ้นส่วนธุรกิจ ทรัพย์ที่เขารับมาจะต้องเป็นทรัพย์ที่ดี หากกรณีทรัพย์นั้นหลุดมา นายหน้าคนนั้นจะต้องรับผิดชอบในการจัดการกับทรัพย์นั้นด้วย ไม่ว่าจะนำไปขายต่อหรือแบ่งขาย
ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วหากนายหน้าหาทรัพย์ที่ดีมาให้ผม แน่นอนว่าเขาจะได้ส่วนแบ่งตอนขาออกมามากกว่าตอนขาที่รับซื้อทรัพย์เข้ามาด้วยซ้ำ เพราะตอนเข้าเขาจะได้จากค่าปากถุง ส่วนขาออกเขาจะได้ส่วนแบ่งจากกำไรของราคาทรัพย์ชิ้นนั้นเทียบกับราคาที่ซื้อเข้ามา

Photo created by lifeforstock
8. มีอุปกรณ์พร้อม
ทั้งในเรื่องการถ่ายภาพหรือการสื่อสารที่จะสามารถนำเสนอให้ทุนได้เห็นรายละเอียดของทรัพย์ให้มากที่สุด และอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะสามารถช่วยให้คุณใช้ในการสื่อสารด้านการตลาดด้วยเช่นกัน
9. การนำเสนองานที่คุณมี
ที่พูดมาทั้งหมด แม้คุณจะหาทรัพย์มาได้ดีเพียงไร แต่ถ้าหากการนำเสนอที่ไม่ดี ไม่เห็นภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่มีใครเอาด้วย และสิ่งที่ทำมาก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น ศิลปะในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
10. ไม่โลภจนเกินไป
ความโลภคงเป็นบ่อเกิดของกิเลสที่ทำให้เรายิ่งอยากได้อะไรที่มากขึ้นไปเกินจากสิ่งที่ควรจะเป็น และจะทำให้เราเลือกที่จะทำผิดอะไรบางอย่างจากในหลายหัวข้อที่ผมกล่าวมา นั่นจะเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินทั้งหมดที่คุณควรจะได้ในอาชีพของการเป็นนายหน้าขายฝาก
บทความโดย: พี่วิทย์ สุวิทย์ เกื้อหนุน
เจ้าของเพจ ออมที่ดิน กับพี่วิทย์
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels / เว็บไซต์ freepik