Fail to Success : Vulnerability is not weakness

“Ted Talk คือ เวทีแห่งความล้มเหลว”
ดร. เบรเน่ บราวน์ ประกาศต่อหน้าผู้เข้าร่วมฟังที่นั่งเบียดเสียดกันในห้องประชุมที่สามารถจุคนได้ราว ๆ ห้าพันที่นั่ง
สปอร์ตไลท์พุ่งลงไปที่กลางเวทีรูปวงกลม ขโมยแสงเพื่อแลกกับเงาที่กระจายตัวอยู่รอบนอกของวงกลม สีหน้าของผู้ฟังถูกซ่อนไว้ภายใต้แสงสลัว แต่เพราะดร. บราวน์ได้ยินเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือ เธอจึงพอจะเดาได้ว่า หากไม่ใช่เพราะแค่การแสดงออกตามมารยาท สิ่งที่เธอพูดออกไปก็คงตรงกับความคิดของใครหลาย ๆ คนไม่มากก็น้อย

ทำไม Ted Talk เวทีที่เป็นเหมือนถ้วยรางวัลที่สำรองไว้เฉพาะคนที่สำเร็จได้มีโอกาสถือครอง ถึงได้ถูกมองโดย ดร. บราวน์ ที่เป็นทั้งศาสตราจารย์และนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยฮูสตัน นักเล่าเรื่อง นักจัดรายการ Podcast และเจ้าของหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลก และติดอันดับขายดีอย่างยาวนานหลายเล่มอย่าง Daring Greatly, Rising Strong, Dare to Lead, Braving the Wilderness และอีกมากมาย ว่าเป็นสถานที่รวมตัวของความล้มเหลวกัน?
ดร. บราวน์ไม่ปล่อยให้ความสงสัยมีโอกาสเปลี่ยนเป็นความคลางแคลงใจที่จ้องแต่จะจับผิดได้นานนัก ไม่กี่อึดใจถัดมา เสียงของเธอก็ดังก้องไปทั่วห้องประชุม
“แล้วคุณรู้ไหมว่าทำไมมันถึงได้น่าทึ่งนัก นั่นก็เพราะว่าในจำนวนคนที่ก้าวขาเข้ามาในห้องกว้างที่จุคนได้มากกว่าห้าพันคนนี้ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่กลัวความล้มเหลวอย่างไรล่ะ”

ดร. บราวน์เชื่อว่าก่อนที่ประตูแห่งความสำเร็จจะเปิด ต้อนรับเราด้วยพลุกระดาษและเสียงกลองดังสอดรับกับจังหวะหัวใจที่เต้นอย่างลิงโลด เราได้เจอเข้ากับทางตัน โดนประตูปิดใส่หน้า และหลงเดินผ่านบานประตูเข้าไปเพื่อต้องกลับออกมาอีกครั้งนับไม่ถ้วน
ความหอมหวานของความสำเร็จมาจากการที่เราได้ลิ้มรสความขมฝาดของความล้มเหลวมาก่อน ยิ่งพลาดมากเท่าไหร่ ความสำเร็จ แม้เพียงน้อยนิด ก็ทำให้อิ่มท้องได้นานมากขึ้นเท่านั้น
ความล้มเหลวคือชิ้นส่วนที่จะประกอบความสำเร็จให้เป็นรูปร่าง น่าเสียดายที่หลายคนยังไม่กล้าพอที่จะก้าวพลาด ไม่แม้แต่จะยอมให้มีแผลหรือรอยช้ำเกิดขึ้นบนความพยายาม
ดร. บราวน์ไม่ได้ถูกเชิญให้ขึ้นบรรยายบนเวที Ted Talk เป็นครั้งแรก อันที่จริงต้องบอกว่าเพราะการขึ้นพูดบนเวทีเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วที่ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ดร.บราวน์ยอมรับว่าเธอไม่กล้าออกจากบ้านเป็นเวลาสามวันหลังจากที่ได้รับเสียงปรบมือและความสนใจจากหลากหลายสื่อที่พยายามติดต่อให้เธอได้เข้าไปบรรยายและมอบความรู้ในเรื่องเดียวกับที่เธอได้ขึ้นพูดบนเวที Ted Talk โดยบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ดร. บราวน์ เราชื่นชอบการบรรยายบนเวที Ted Talk ของคุณมาก เราจะยินดีมากหากคุณได้มาบรรยายโดยไม่เอ่ยถึง Vulnerability และ Shame”
หากใครได้มีโอกาส หรือบังเอิญเข้าไปเสิร์ชหาคำว่า ‘Brene Brown Ted Talk’ จะเจอกับคลิปหนึ่งที่ถูกอัพโหลดไว้เมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว และมียอดผู้เข้าชมถึง 13 ล้านครั้ง นั่นเป็นเวทีแรกที่ ดร. บราวน์ได้ขึ้นมาถ่ายทอดสิ่งที่ทำให้เธอได้ขึ้นมายืนเป็นเป้านิ่งท่ามกลางสายตากว่าห้าพันคู่ และอีกเท่าตัวหลังจากนั้น หัวข้อที่เธอเลือกขึ้นมาบรรยายคือสิ่งที่เธอจดจ่อและวิจัยมาตลอด 6 ปี นั่นก็คือ ‘The Power of Vulnerability’

คลิกที่ภาพเพื่อดูวิดีโอ The Power of Vulnerability
และเพราะสิ่งที่เธอได้บรรยายเป็นสิ่งที่เธอบอกให้เลี่ยงที่จะพูด เธอจึงถามต่อไปว่า งั้นจะให้พูดเรื่องอะไร
“นวัตกรรม (Innovation) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการเปลี่ยนแปลง (Change)”
สามสิ่งที่กลายเป็นทักษะสำคัญ คำตอบนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายนัก โดยเฉพาะเมื่อมาจากองค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ในการเอาตัวรอด
คำถามต่อมาก็คือ แล้วอะไรที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลง?
เพราะทักษะทั้งสามด้านนี้ไม่ใช่ตัวโปรดักซ์สมบูรณ์ที่รออยู่ที่สุดเส้นสายพาน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องติดตามและวัดผลอย่างต่อเนื่อง
ใช่ว่าโดนบอกให้ไปมีความคิดใหม่ ๆ มาซิ แล้วจะสามารถหาคำตอบให้เดี๋ยวนั้นโดยปราศจากการคิดวนและทะเลาะกับตัวเองได้อย่างไรอย่างนั้นล่ะ

การจะเริ่มกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้น แล้วจุดเริ่มต้นที่ว่านี่มันอยู่ตรงไหน?
“จะบอกอะไรให้นะ ทั้งนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงกัน ล้วนเกิดมาจาก Vulnerability ทั้งนั้นนั่นล่ะ”
ดร. บราวน์ตอบกลับไป “การจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง คือการทำอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน และการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ เสียเมื่อไหร่”
ก่อนที่เราจะตัดสินใจก้าวเท้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ หรือเริ่มต้นอะไรสักอย่างที่เราไม่คุ้นเคย ชั่วขณะที่ลังเล นั่นเป็นขณะเดียวกับที่ Vulnerability ได้เข้ามาทักทายเราเป็นครั้งแรก

Vulnerability คืออะไร?
ปัญหาของการแปลภาษต่างประเทศอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็คือคำบางคำที่มีในภาษาอังกฤษไม่สามารถแปลออกมาได้ตรงกับความหมายที่คำนั้น ๆ ต้องการจะสื่อได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้บางครั้งเราจำเป็นต้องหยิบยืมคำไทยที่มีอยู่แล้วมาใช้อธิบาย หรือเหมารวมคำที่แปลออกมาแล้วคล้าย ๆ กันไว้ด้วยกัน ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้ตรงตามความหมายจริง ๆ เสียทีเดียว
‘Vulnerability’ หากไปลองหาคำแปลดู จะแปลว่า ‘ความอ่อนแอ’ ซึ่งคำภาษาอังกฤษที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของคำแปลคือ ‘Weakness’
นั่นจึงทำให้หลาย ๆ คนเกิดความเข้าใจผิดและสับสน คิดว่าการที่เรารู้สึกอ่อนแอ (vulnerable) ทำให้เราอ่อนแอ (weak) ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ความหมายของทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดพอสมควร

หากคุณรู้สึกอ่อนแอ (weak) นั่นหมายถึงคุณไม่มีแรง อ่อนกำลัง มีข้อด้อยหรือตำหนิ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่นคนที่มีพละกำลังน้อย งานที่ทำออกมายังมีจุดตำหนิ หรือบริษัทเล็ก ๆ ที่มีจุดอ่อนในด้านทำการตลาด เป็นต้น
ในขณะที่ weakness ดูจะเน้นไปที่เงื่อนไขทางสภาพร่างกาย และสิ่งที่มองเห็นได้จากภายนอกเป็นหลัก ดร. บราวน์แย้งว่า vulnerability เป็นอะไรที่มากกว่านั้นในแง่ของความรู้สึกและในระดับจิตใจ
เพราะฉะนั้น หากรู้สึกอ่อนแอ (vulnerable) นั่นหมายถึงคุณกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงทางอารมณ์ กำลังเปิดเผยตัวตน และโอบอุ้มความรู้สึกไม่แน่นอน

เพราะฉะนั้น Vulnerability จึงไม่ใช้ Weakness
เราจะรู้สึก weak ก็ต่อเมื่อต้องเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แล้วรู้สึกหรือคิดว่าเรา ‘ด้อย’ กว่า
แต่เราจะรู้สึก vulnerable ก็ต่อเมื่อเรากำลังจ้องตากับตัวเองที่สะท้อนบนบานกระจกตรงหน้าเท่านั้น เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนที่ต้องยืนอยู่ระหว่างเส้นแบ่งเขตของพื้นที่ปลอดภัยและสถานที่ที่จะเริ่มการผจญภัยครั้งใหม่และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
และเพราะอย่างนั้น เราจึงอาจพูดได้ว่า Vulnerability คือเครื่องมือชี้วัด ‘ความกล้าหาญ’ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ได้
เพราะการรู้สึก vulnerable คือการกระเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มตัวตนที่แท้จริงและเปิดเผยด้านที่ซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิดสู่สายตาสอดรู้สอดเห็นของโลกภายนอก

ยิ่งคุณยอมจำนนต่อตัวตนที่แท้จริงมากเท่าไหร่ ความกล้าหาญที่จะทำอะไรนอกกรอบ และเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ได้ถูกขังอยู่ในกรงที่เรียกว่า ‘ความคาดหวัง’ ไว้ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Ted Talk ถึงเป็นเวทีแห่งความล้มเหลว
เพราะคนที่ขึ้นมายืนอยู่บนเวทีนี้ล้วนกล้าที่จะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา
กล้าที่จะผิดพลาด 99 ครั้ง เพื่อความสำเร็จเพียงครั้งเดียวที่กำลังจะมาถึง
กล้าที่จะหัวเราะให้กับความผิดพลาดอีกเป็นครั้งที่หนึ่งร้อย เพื่อที่จะมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะล้มเหลว ยอมรับมัน และแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิมในครั้งที่ 101 และถึงแม้จะต้องเจอทางตัน และเปิดประตูผิดบานครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาก็จะไม่ยอมแพ้

เพราะพวกเขาไม่ได้อ่อนแอ แต่เพราะพวกเขา ยอมรับ ‘ความอ่อนแอ’ นั่นจึงทำให้พวกเขากล้าที่จะลองอีกครั้ง
ได้ลองทำ รู้จักกับความผิดพลาด ปรับเปลี่ยนและแก้ไข ลองอีกครั้ง และผิดพลาดอีกครั้ง หรืออาจจะมากกว่านั้น
เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนครั้งที่ล้มเหลว แต่เป็นควมสำเร็จที่รอคุณอยู่อีกฝั่งของบานประตู พร้อมพลุกระดาษและเสียงกลองที่ดังเป็นจังหวะเดียวกับเสียงเต้นของหัวใจที่ดีดตัวสูงราวกับกำลังแข่งกระโดดสูง
แล้วในวันที่คุณคิดว่าไม่ไหวแล้วล่ะ
คุณก็แค่ยอมรับและทำให้ความล้มเหลวครั้งนี้ เป็นความล้มเหลวที่ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนเท่านั้นเอง

คลิกที่ภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
อ้างอิง: https://youtu.be/psN1DORYYV0
ขอบคุณภาพประกอบบทความ : เว็บไซต์ Pexels และ freepik
บทความโดย : ปรียาภา พืชผล | บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ 7D Book & Digital