วัย 30 นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เป็นวัยที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว และเป็นวัยที่ควรเริ่มสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้แล้ว
ถ้าคุณควบคุมเงินได้ก่อนอายุ 30 ล่ะก็ คุณก็จะมีชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่แน่ว่าคุณอาจซื้อคอนโดเล็ก ๆ ได้ด้วยเงินของคุณเอง โดยที่ไม่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ นี่อาจจะฟังดูโอเวอร์เกินจริง แต่ไม่ใช่เลย ตราบใดที่คุณปฏิบัติตามหลักการใช้เงินในกระเป๋าของคุณอย่างเคร่งครัดด้วยวิธีดังต่อไปนี้

ภาพถ่ายโดย snowing จาก freepik
1. ระบุค่าใช้จ่ายและงบประมาณของคุณ
ถ้าคุณไม่รู้จำนวนเงินที่คุณใช้ในแต่ละเดือน คุณก็จะไม่สามารถควบคุมการเงินของคุณได้ คุณควรจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายรายเดือน โดยให้ระบุสิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายและจำนวนเงินที่ต้องการใช้ให้ชัดเจน
2. ลดค่าใช้จ่ายโดยการ “อย่าซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น“
“ถ้าคุณยังคงซื้อของที่ไม่จำเป็น ไม่ช้าก็เร็ว คุณจะต้องขายสิ่งที่คุณจำเป็นต้องใช้” ให้พิจารณาว่าสิ่งที่คุณต้องใช้ในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง เมื่อซื้อสิ่งที่จำเป็นแล้ว พยายามอย่าซื้อเพิ่ม อย่างน้อยก็จนกว่าคุณจะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
3. ทำอาหารที่บ้าน
ปัจจุบันการกินอาหารฟาสต์ฟูดเป็นเรื่องง่าย และการส่งอาหารแบบเดลิเวอรีก็มีมากมายและรวดเร็ว แต่อันที่จริงแล้ว การกินอาหารนอกบ้านหรือสั่งอาหารเดลิเวอรีมักจะมีราคาแพงกว่าการทำอาหารเองที่บ้านถึง 2.5 เท่า ดังนั้นถ้าต้องการประหยัดเงิน ให้ทำอาหารกินเอง แล้วคุณก็จะได้กินอาหารเพื่อสุขภาพและยังประหยัดเงินได้อีกด้วย

ภาพถ่ายโดย snowing จาก freepik
4. อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นหนี้
การเป็นหนี้จะทำให้ชีวิตคุณเหนื่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหนี้เหล่านั้นเกินความสามารถที่คุณจะจ่ายไหว คุณจะไม่สามารถควบคุมการเงินของคุณได้ถ้าชีวิตของคุณเต็มไปด้วยหนี้สินและต้องมานั่งใช้หนี้ทุก ๆ เดือน
5. ถอนเงินสดจำนวนคงที่เพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน
คุณสามารถควบคุมการใช้จ่ายของคุณโดยการถอนเงินสดจำนวนคงที่เพื่อใช้จ่ายในเดือนนั้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าคุณมีเงินอยู่เท่าไรและช่วยลดการใช้จ่ายเกินตัว

ภาพถ่ายโดย Gustavo Fring จาก Pexels
6. ลองท้าทายตัวเองด้วยการ “อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน 1 อาทิตย์”
ถ้าไม่ใช้เงินหนึ่งอาทิตย์ คุณจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่? แน่นอน เรายังต้องการเงินเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน แต่ถ้าคุณสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน วิธีนี้จะทำให้คุณรู้ว่าสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ในชีวิตของคุณคืออะไร
7. ใช้ส่วนลดหรือโปรโมชันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ประหยัดได้ด้วยการใช้ส่วนลดหรือโปรโมชันของร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ส่วนลด คูปอง และโปรโมชันทั้งหลายจะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้ แต่จำไว้ว่า ควรให้ความสนใจเฉพาะโปรโมชันของสิ่งของที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
8. เปิดบัญชีออมทรัพย์
หลายคนทำงานมาหลายปีแต่ไม่มีเงินเก็บ เพื่อให้มีภาพทางการเงินที่ชัดเจน คุณต้องรู้ว่าคุณต้องออมเงินเท่าไร ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อความประหยัด ควรคิดถึงอนาคตมากกว่าเอาแต่ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย
9. กระจายแหล่งรายได้ของคุณ
แหล่งรายได้ที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการควบคุมการเงินของคุณ เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากถ้าคุณมีแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียว คุณควรทำสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในเวลาว่างและหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมตามความสามารถของคุณเอง

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels
10. วางแผนทางการเงิน
หลายคนรู้แค่วิธีรับเงินเดือนและใช้จ่ายไปเดือนแล้วเดือนเล่า แต่ถ้าคุณต้องการควบคุมการเงินของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น คุณต้องมีความชัดเจนว่าจะใช้เงินของคุณอย่างไร และวางแผนเป้าหมายทางการเงินในอนาคตของคุณ
11. เรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้างเงินให้กับตัวเอง
เมื่อพูดถึงการลงทุน หลายคนจะนึกถึง “ความเสี่ยง” ขึ้นมาทันที ความคิดนี้จะทำให้คุณสูญเสียโอกาสมากมายในการสร้างเงินให้กับตัวเอง คุณจะไม่รู้สึกเสี่ยงจากการลงทุน ถ้าคุณรู้จักตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) และนำเงินของคุณไปลงทุนอย่างชาญฉลาด

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
12. อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงิน
ความรู้คือพลัง ดังนั้นควรอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงินให้มากขึ้นเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านนี้มากขึ้น ความเข้าใจทางการเงินจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด มีข้อมูลมากขึ้น และเพิ่มเงินในกระเป๋าของคุณได้มากขึ้น

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
ถ้าคุณอายุยังไม่ถึง 30 ยินดีด้วย! คุณยังมีเวลาอีกมากในการเก็บเงินและควบคุมการเงินของคุณ แต่ถ้าคุณอายุ 30 แล้ว และยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ให้รีบเก็บเงินและควบคุมเงินของคุณเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของคุณในวันข้างหน้า
อ้างอิง: Hải Đăng จาก Theo Trí Thức Trẻ
https://www.facebook.com/TruongdoanhnhanPR/photos/a.123991011712658/987984128646671/
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels และ freepik