ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ เสียเงินไปแต่ได้เงินกลับ ยังไงกันนะ?
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ให้ความหมายของ การประกันชีวิต ไว้ว่า เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่าย ให้แก่ผู้ได้รับภัย
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ยังได้แบ่งแบบของการประกันชีวิตพื้นฐานออกเป็น 4 แบบ คือ แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ แบบชั่วระยะเวลา และแบบเงินได้ประจำ โดยทั้ง 4 แบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป
ในทีนี้จะกล่าวถึงเพียงการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
เลือกประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ของเจ้าไหนดี?
ในส่วนของการเลือกบริษัทในการทำประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ ควรศึกษาให้แน่ใจก่อนว่าตนเองต้องการแบบไหน ขั้นแรกอาจจะศึกษาจากเว็บไซต์ของแต่ละบริษัท เมื่อได้ข้อมูลคร่าว ๆ แล้วก็สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมจากตัวแทนได้โดยอาจจะตั้งคำถาม ดังนี้
งบจำกัด
- มีงบสำหรับจ่ายเบี้ยประกันปีละ 20,000 มีประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์แผนไหนแนะนำบ้าง
ความคุ้มครอง
- วงเงินคุ้มครองของแผนแต่ละแผนเป็นเท่าไหร่
- กรมธรรม์นั้น ๆ คุ้มครองกี่ปี อาจจะแบ่งเป็น 15/5 17/7 20/10 ตัวเลขแรกบอกถึงจำนวนปีที่คุ้มครองชีวิต ส่วนตัวเลขหลังสัมพันธ์กับอัตราการชำระเบี้ย คือ จำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ย
ข้อมูลการชำระเบี้ย
- ชำระกี่ปีและเท่าไหร่
- สามารถชำระเบี้ยรายปีได้หรือไม่ และการชำระเบี้ยรายปีประหยัดกว่าการชำระเบี้ยรายเดือนมากแค่ไหน
- การรับเงินคืนมีเงื่อนไขอย่างไร เช่น ครบกำหนดกี่ปีจึงได้รับเงินคืน ได้รับเงินคืนเท่าไหร่ และสามารถคงเงินคืนไว้ในกรมธรรม์ได้หรือไม่

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels
อื่น ๆ
- กรมธรรม์นี้สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ไหม
- กรมธรรม์นี้ต้องตรวจสุขภาพหรือไม่
- กรมธรรม์นี้สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไหมหรือต้องติดต่อตัวแทนโดยตรง
จากข้างต้นเป็นคำถามที่สามารถใช้ถามตัวแทนประกันชีวิตได้ เมื่อสอบถามและรวบรวมข้อมูลของบริษัทประกันชีวิตที่น่าสนใจได้แล้วก็ให้นำมาเปรียบเทียบกันและเลือกให้ตรงกับความต้องการและความสามารถในการชำระเบี้ยของตนเอง
ประโยชน์ของการทำประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์
1. ด้านการออม
การทำประกันชีวิตช่วยให้สามารถเก็บหอมรอมริบได้ จากการอดออมแบบกึ่งบังคับที่ผู้เอาประกันภัยต้องชำระเบี้ยประกันรายเดือนหรือรายปี
การทำประกันชีวิตไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้เหมือนธนาคารที่ให้ฝากเงินออมทรัพย์ แต่มีสัญญาตกลงกันไว้ว่า หากมีชีวิตอยู่ครบตามที่กรมธรรม์กำหนด ก็ได้เงินประกันภัยคืน
หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้เงิน และเงินประกันก็เป็นทางเลือกสุดท้าย สามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้ ทว่าต้องถูกหักค่าธรรมเนียมของการเวนคืนกรมธรรม์ เนื่องจากการประกันชีวิตมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาวนั่นเอง

ภาพถ่ายโดย Kristina Paukshtite จาก Pexels
2. ด้านการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้เอาประกันภัย
ประกันชีวิตช่วยสร้างความมั่นคงให้ทั้งกับชีวิตและเงินในอนาคตได้ ซึ่งหากสามารถชำระเบี้ยได้ทั้งหมดแล้ว หลังจากนั้นก็จะได้เงินทดแทนเมื่อครบกำหนดกรมธรรม์ นอกจากนี้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ในกรณีทุพพลภาพก็จะได้รับเงินค่าประกันไว้สำหรับเลี้ยงชีพได้นั่นเอง
3. ด้านการให้ความคุ้มครองและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้ที่อยู่ในอุปการะคุณ
การทำประกันชีวิตช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและค่าใช้จ่าย เนื่องมาจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัวได้ จึงไม่ต้องห่วงว่าถ้าหากไปสบายแล้วภาระจะตกไปอยู่ที่คนข้างหลัง เพราะประกันชีวิตช่วยแบกรับส่วนนี้แทน

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels
4. ด้านการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เนื่องจากรัฐบาลได้ส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้นจึงสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับแบบทั่วไป และ 200,000 บาทสำหรับแบบบำนาญ เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใส่ใจและทำประกันชีวิตไว้เป็นหลักประกันอนาคตของตน
5. ด้านอื่น ๆ
ในส่วนของเงินประกันชีวิต เมื่อครบกำหนดกรมธรรม์แล้วก็สามารถเตรียมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ แต่เมื่อมีความจำเป็นก่อนครบกรมธรรม์สามารถกู้เงินได้ตามหลักเกณฑ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาใช้
หลาย ๆ คนอาจมองว่าการประกันชีวิตเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ และการทำประกันชีวอิตอาจเป็นการแช่งชักหักกระดูกตนเองให้ถึงตายได้ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วประกันชีวิตเป็นเพียงแค่สิ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวเราเองในยามที่อายุมากขึ้น และเบี้ยประกันชีวิตของแต่ละช่วงอายุนั้นมากน้อยแตกต่างกัน ดังนั้นการทำไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะวันข้างหน้าย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้และหลีกหนีอนาคตได้แม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่เองก็ตาม
ข้อมูลอ้างอิงจาก oic.or.th/th/consumer/การประกันชีวิต (คลิกเพื่ออ่าน)
บทความโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels