หนี้กตัญญู : มุมมองของคน 2 รุ่น
ชีวิตของลูกที่เกิดมาเป็นของใคร?
ในมุมมองของผู้เลี้ยงดู อาจตอบว่าชีวิตของลูกที่เกิดมาเป็นของลูกเอง ขอแค่ลูกอยู่ดูแลตนเองไปจนแก่เฒ่าก็มากเพียงพอที่จะตอบแทนบุญคุณแล้ว หน้าที่ที่ได้สลับกันเมื่อกาลเวลาเริ่มผ่านเปลี่ยน พ่อแม่ผู้ปกครองเคยเลี้ยงดูลูกจนเติบโต จนลูกได้มีโอกาสดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ผู้ปกครองยามแก่เฒ่าบ้าง
และยังมีความเชื่อที่ว่าการกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่เลี้ยงดูหรือผู้ที่มีบุญคุณต่อเรานั้นถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง
ตั้งแต่เด็กจนโต ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่อง “การกตัญญูรู้คุณ” มาก่อน ว่าแต่ความหมายของคำว่ากตัญญูที่แท้จริง มันคืออะไร? เกิดจากอะไรกันล่ะ?
Koh-Kae X Salmon House ได้ปล่อยวิดีโอสั้น ๆ เรื่อง “พ่อแม่รังแกฉัน ในจักรวาลคู่ขนาน” เสนอมุมกลับของการที่ลูกอยากจะกตัญญูและเชิดหน้าชูตาพ่อแม่ด้วยการเรียนในสิ่งที่ตนไม่ได้ชอบ แต่ตรงข้ามนั้นพ่อกลับบังคับให้ลูกเรียนตามที่ใจของตนเองต้องการ กลับหัวกลับหางให้ผู้(ปกครอง)ที่รับชมได้ฉุกคิดถึงความคิดความอ่านของบุตรหลาน
นอกจากความหวังดีของพ่อแม่ต่อทั้งตนเองและลูกหลานแล้ว ยังมีเรื่องของความกตัญญูที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กตัวน้อย ๆ
นิยามของคำว่ากตัญญูรู้คุณคืออะไร?
บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยที่ผู้ปกครองอ้างว่าให้เด็กทำเพราะอยากให้เด็กหาค่าเทอมด้วยตนเอง จะได้รู้ค่าของเงิน แต่กลับใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมจนเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก
บางคนก็ว่ากตัญญูคือการเลี้ยงดูตอบแทนด้วยการดูแลหรือด้วยเงินทอง แต่ผู้ปกครองบางคนใช้คำว่ากตัญญูหรืออกตัญญูเป็นโซ่ตรวนข้อเท้าเด็กไว้ แต่ให้ลูกบินไปถึงฝันที่ผู้ปกครองฝัน (ไม่ใช่ที่ลูกฝัน) ตามกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น
บ้างก็เชื่อว่าความกตัญญูจะเกิดได้จากการให้กำเนิดเท่านั้น
บ้างก็เชื่อว่าความกตัญญูจะเกิดได้จากการเลี้ยงดูและให้ความรัก
มีทั้งคนที่เชื่อว่าชาตินี้ชาติไหนก็ใช้หนี้บุญคุณไม่หมด
มีทั้งคนที่เชื่อว่าเราไม่เคยมีบุญคุณต่อกัน
แท้ที่จริงแล้ว ความกตัญญูคืออะไรกันแน่
คำว่ากตัญญูทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเด็กและผู้ปกครองบ้าง?

Photo by รายการเจาะใจ
ขอยกตัวอย่างกรณีของ เอิน กัลยกร นาคสมภพ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเนื่องมาจากความเครียดปมปัญหาครอบครัว เพราะคุณเอินเติบโตมาพร้อมความคาดหวังของพ่อแม่ที่ต้องการให้คุณเอินสมบูรณ์แบบ ความคาดหวังของพ่อแม่คุณเอินจึงบีบคั้นและกดดันคุณเอินเกินกว่าจะเป็นความรักความหวังดี ทำให้ชีวิตวัยเด็กของคุณเอินเต็มไปด้วยพลังงานด้านลบ
คุณเอินบอกว่า “ในวัยเด็กเธอไม่มีความสุข ทุกครั้งที่พ่อกับแม่ทะเลาะกัน มักจะเรียกเธอมานั่งถามต่อหน้าว่า ลูกจะอยู่กับใคร? แม้แต่เรื่องเรียน เรื่องงาน พ่อแม่ก็มีความคาดหวังสูงมากว่าลูกจะต้องเป็นคนเก่งเท่านั้น สมัยเด็กแค่ท่องศัพท์หรือสูตรคูณผิด จะถูกตีทันที จึงทำให้เกิดความรู้สึกเก็บกดในใจว่า ถ้าอยากให้พ่อแม่รักต้องทำตัวให้เก่งอยู่เสมอ” (สสส., 2552)
นอกจากนี้คุณเอินยังได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ เมย์ เอ๋ โอ๋ Mama’s Talk ว่า
“สิ่งที่ทำให้เอินกดดันอีกอย่าง คือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ครอบครัวตั้งขึ้น และต้องทำให้ได้ทุกอย่าง ต้องเรียนได้เกรดตามที่แม่ระบุ ห้ามได้ต่ำกว่า ห้ามไปนอนบ้านเพื่อน แค่ไปดูหนังกับเพื่อนยังไม่ได้เลย เวลาแม่ดุห้ามมองหน้า เคยมองหน้า แม่เอานาฬิกาตั้งโต๊ะเขวี้ยงใส่หน้า เวลาแม่ดุจะใช้คำหยาบคายเยอะมาก
แม่เคยพูดว่าชาตินี้ก็ใช้หนี้บุญคุณไม่หมด นอกจากตายจากกัน ซึ่งรุนแรงในความรู้สึกของเอินมาก เป็นคำที่ฝังอยู่ในใจตลอดมา รวมไปถึงเรื่องการใช้ชีวิต เคยถูกบังคับให้กินผลไม้ทั้งอาทิตย์ กินอาหารเสริม และกินยาลดน้ำหนัก เคยแอบไม่กิน แม่รู้เลยบังคับให้กินต่อหน้า กินแล้วต้องอ้าปากให้ดูทุกครั้ง”

Photo by Anna Shvets from Pexels
ความคาดหวังที่สูงเสียดฟ้าเพราะความหวังดีที่มีต่อลูก บางครั้งก็สามารถทำร้ายลูกได้เหมือนกัน เช่นตัวอย่างอื่น ๆ ที่มีให้เห็นในหลายครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่ลูกไม่ชอบ ไม่อยากทำ เพราะหวังดี แต่เป็นการหวังดีที่บางครั้งเด็กก็สงสัยว่าหวังดีต่อตัวลูกเองจริงหรือ? ถ้าหวังดีจริงทำไมจึงไม่สนับสนุนในเส้นทางที่เราจะก้าวเดินล่ะ?
เส้นคั่นระหว่างสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นและสิ่งที่ลูกอยากจะทำกลายเป็นเส้นที่ลูกตัดสินใจด้วยความยากลำบากในการข้ามผ่าน
ตอนเด็กเกิดมานั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หน้าที่ดูแลและเลี้ยงดูจึงเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องเอาใจใส่และสอนให้เด็กที่เปรียบเสมือนผ้าขาวให้เติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระสังคม ดังนั้น ก่อนจะพูดกันถึงเรื่องความกตัญญูก็อยากให้ลองถามตัวเองดูว่าได้เลี้ยงลูกหลานดีพอหรือยัง?

Photo by Andrea Piacquadio from Pexels
นอกจากนี้ สังคมไทยมีความคิดความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรลูกก็ต้องตอบแทนผู้เลี้ยงดูในท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรต่อเขาก็ตาม หลายจึงมีการเกินเลยเรื่องการทำร้ายลูกอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างการหรือจิตใจ โดยไม่สนว่าคำพูดคำจาหรือท่าทีที่ปฏิบัติจะส่งผลร้ายต่อเด็กอย่างไร เกิดปัญหา Child Abuse ที่หลายคนยังไม่ตระหนัก เพราะแค่คำว่าบุญคุณมันค้ำคออยู่เท่านั้น
แต่ก็มีพ่อแม่หลายคนที่แม้จะเชื่อว่าการตอบแทนบุญคุณคือการดูแลดีที่สุด แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ได้ปลูกฝังความคิดให้เด็ก เพราะต่างก็เชื่อว่าลูกจะเรียนรู้จากพ่อแม่ผู้ปกครองว่าควรปฏิบัติอย่างไร
ท้ายที่สุดนี้ ลองถามและตอบกับตัวเองว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของชีวิตของลูกเราและคอยบงการให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ
ชีวิตของลูกที่เกิดมาเป็นของพ่อแม่?
ชีวิตของลูกที่เกิดมาเป็นของผู้ที่เลี้ยงดู?
หรือ ชีวิตของลูกที่เกิดมาเป็นของลูกเอง?
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ
บทความโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels