อย่าตัดสินคนอื่นที่รอยสัก
รอยสักเป็นแค่ศิลปะแขนงหนึ่งที่ใช้ร่างกายแทนผืนผ้าใบในการละเลงลายเส้นเท่านั้น
แต่หลายคนมักมองว่ารอยสักเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะสังคมถูกหล่อหลอมมาให้มองอย่างนั้น เห็นได้จากตัวละครในจอแก้วที่นักเลง ยากูซ่า มาเฟียมักจะมีรอยสักกันเสียส่วนใหญ่ บางคนที่ติดละครหนัก ๆ หรือหูเบามาก ๆ จึงเชื่อตามที่ทีวีบอกและมักจะคิดไปเองว่าคนที่มีรอยสักเป็นคนนิสัยไม่ดี ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคนนิสัยไม่ดีคือคนที่ตัดสินคนอื่นไปก่อนจะได้รู้จักตัวตนของเขาต่างหากล่ะ
หรืออาจจะเป็นเพราะในอดีต ทาสและอาชญากรจะถูกบังคับให้สักยันต์ทุกคน แต่ปัจจุบันก็ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ก็ยังสักเพราะต้องการระบายความเครียดออกมาในรูปของรอยสัก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการแสดงอำนาจ หรือความก้าวร้าวออกมาเพื่อให้ผู้อื่นเกรงกลัว เช่น แก๊งยากูซ่าในญี่ปุ่นที่เป็นตัวอย่างของการสัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมแก๊งมิจฉาชีพ
แต่ทุกคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Don’t judge a book by its cover” หรือ “อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก” กันนะ เช่นเดียวกับคนนั่นแหละ แม้กายภายนอกจะมีรอยสักแต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าภายในใจของทุกคนจะนิสัยไม่ดีอย่างที่ทีวีสอนให้เชื่อกันหรอกนะ

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
เอาเข้าจริง ๆ แล้ว การมีรอยสักไม่ได้เกี่ยวกับตัวตนแต่อย่างใด รอยสักเป็นเพียงแฟชั่น ความเชื่อ ความชอบส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ว่ารอยสักนั้นจะมีความหมายหรือความสำคัญหรือไม่ ฉะนั้นการไม่ก้าวก่ายกันจึงเป็นมารยาทที่ควรกระทำ
แต่ด้วยความหูเบา ความเชื่อที่เชื่อตาม ๆ กันมา หรืออะไรก็ตามแต่ ทำให้คนที่มีรอยสักยังคงประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้านการทำงาน การรับราชการ หรือสายตาที่คนอื่นมองทั้งที่คิดไปกันเองว่ามันสกปรกบ้าง มันดูไม่ดีบ้าง ไร้ความน่าเชื่อถือบ้าง
ฉะนั้น การมีรอยสักไม่ว่าจะใต้ร่มผ้าหรือนอกร่มผ้าจึงทำให้มีโอกาสน้อยนักในการสมัครทำงานในอาชีพต่อไปนี้ ทั้งข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร อัยการ ผู้พิพากษา แพทย์ ทันตแพทย์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน พยาบาล ข้าราชการ
แม้โลกจะหมุนไปไกลแล้ว แต่ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ห้ามผู้มีรอยสักทำอาชีพเหล่านี้ก็ยังคงเชื่อตามที่ตนเองคิด และคิดว่าการไม่มีพนักงานหรือบุคลากรที่ไม่มีรอยสัก ทำให้ภาพลักษณ์ของอาชีพไม่เสียหาย
ความเชื่อในอดีตที่ฝังหัวและมากับยุคปัจจุบันจะพาเราก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร?
ถึงรอยสักจะเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล แต่พอบุคคลภายนอกได้เห็นรอยสักมันก็กลายเป็นเรื่องของเขาและผู้อื่นตามไปด้วยทันที
และยิ่งพอเป็นผู้หญิงแล้ว ก็ยิ่งถูกสวมภาพลักษณ์แย่ ๆ ไปกันใหญ่ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเค้าไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกอ้างเลย
“มุม” ที่ใช้ “มอง” ผู้อื่นของคนเหล่านั้นแคบแสนแคบ
ผู้หญิงที่มีรอยสักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หญิงแรง เป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นผู้หญิงไม่น่าคบ เป็นการเหมารวมคนที่มีลายสัก ซึ่งก็มีไม่กี่อย่าง และส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในทางลบตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น
‘คุณต้อง พรพรรณ ประเพณี’ หญิงผู้ที่เขียนหนังสือเผาทางถอย และเจ้าของรอยสักฟินิกซ์สยายปีกกลางหลัง ได้ออกมาเล่าว่า
“ทุกวันนี้ไปทำงานก็แต่งตัวสุภาพ แต่ไม่ต้องพยายามปิดรอยสักให้มิดชิด เพราะกลัวเพื่อนร่วมงานเห็น
เล่นบทครู มีงานสอนก็ใส่เสื้อโปโลแขนสั้นได้ ไม่ต้องกลัวนักเรียนจะไม่เชื่อถือเพราะรอยสักที่แขน
ใส่ชุดเปิดหลัง ไปงานเลี้ยง ไม่ต้องกลัวลูกค้าเห็นฟินิกซ์สยายปีกที่หลัง”
คุณต้องเติบโตและเจริญก้าวหน้าด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือจากตัวของคุณต้องเอง จนลูกค้าไม่ได้สนใจรอยสักที่ยิ่งใหญ่กลางหลัง เพราะคุณต้องได้ “ขายตัวเอง” ให้ผ่านเป็นด่านแรกแล้ว จึงสามารถนำพาสินค้าหรือบริการเข้าไปถึงใจลูกค้าได้
การ “ขายของ” ลูกค้าจะซื้อตัวคุณก่อนสินค้าและบริการเสมอ
“ส่วนตัวต้องเองนั้น ทุกครั้งที่ไปสอน หลายครั้งคอร์สที่สอนก็ไม่ได้มีเนื้อหาแหวกแนวจนหาที่อื่นไม่ได้ แต่ลูกค้าเลือกต้อง เพราะคนสอนคือ ‘ต้อง’ เพราะเขามั่นใจว่าเรียนกับต้องแล้วชีวิตเปลี่ยน
เคยเจอลูกค้าถูกใจ ให้ไปสอนเพราะมีรอยสัก พอเจอกับลูกค้าก็พบว่าเขาเองก็สักเต็มตัว มันโดน!”
จริง ๆ แล้วใครก็ตามที่มีรอยสักไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเลยว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนดี เชื่อถือได้ ไม่ได้แย่อย่างที่ใครเขาว่าไว้
จึงอยากให้ผู้ที่มีอคติกับรอยสักลองคิดย้อนดูสักเล็กน้อยว่าการแต้มหมึกลงไปบนกายของเขาเองนั้นมันผิดหรือแย่อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนใครสักนิด
มีรอยสักก็ใช่ว่าจะทำร้ายใครก็ได้ ทำตัวไม่ดียังไงก็ได้ คนที่มีรอยสักก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่มีดีมีเลวปะปนกัน เป็นสีเทาเข้มบ้าง เทาอ่อนบ้าง ไม่ใช่แค่ดำหรือขาว
คนบาป คนเลวก็ไม่ได้มีรอยสักกันทุกคน และ
คนเก่ง คนดีก็มีรอยสักได้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ใครเห็น
ข้อมูลจากหนังสือ: “เผาทางถอย” ผู้เขียน พรพรรณ ประเพณี
อ้างอิง:
10 อาชีพที่ถ้าอยากเป็น ไม่ควรมีรอยสัก : facebook.com/WhereyouGo/posts/94083919628528
ทำไมต้องสักยันต์ : bit.ly/37V9hDH
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels