ออมเงินให้อยู่หมัด ต้องซัดด้วยวิธีไหน?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เงินเดือนยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษี
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รายได้แต่ละวันพอกินพอใช้
หากคุณเป็นคนที่ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ
ลองทบทวนดูว่าตอนนี้คุณมีเงินเก็บอยู่เท่าไหร่ ทุกวันนี้ออมเงินบ้างไหม ใช้จ่ายจนเกินตัวบ้างหรือเปล่า?
ถ้าจะให้พูดกันตรง ๆ ล่ะก็ หากไม่เริ่มเก็บออมเงินตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตอาจจะต้องอยู่อย่างลำบากก็เป็นได้ ลองนึกภาพตัวเองต้องประทังชีวิตด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละไม่ถึง 3 หลักท่ามกลางเศรษฐกิจที่เหลวแหลกแบบนี้ดูสิ แค่คิดก็ท้อแท้แล้วใช่ไหมล่ะ
ฉะนั้น ลองไหม ลองมาเก็บเงินใส่กระปุกกัน อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากล่ะ ยังไม่ทันได้เริ่มเลยก็ตัดกำลังใจตัวเองกันเสียแล้ว เพื่ออนาคตที่สดใส ลองเช็กตามหัวข้อด้านล่างแล้วลองปรับใช้วิธีสำหรับออมเงินกับตัวเองดูนะ

ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels
เงินเยอะแต่ไม่พอออม
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเงินเดือนหลักหมื่นแถมยังเริ่มต้นด้วยเลข 3 แต่ยังไง้ยังไงเงินก็หมดไปกับการจับจ่ายใช้สอย ไม่มีพอจะออมเลยสักนิด ไม่ว่าจะหนี้ที่ต้องใช้หรือใช้กินใช้อยู่ งั้นลองแบบนี้เป็นไง
เมื่อได้เงินเดือนมา สมมติเป็น 30,000 ก็ให้จัดสรรปันส่วนกันตั้งแต่ตอนนี้เลย อาจจะแบ่งตามนี้
- ค่ากิน 30% = 9,000 บาท
- ค่าที่พัก 25% = 7,500 บาท
- ค่ารถ 18% = 5,400 บาท
- ค่าเดินทาง เช่น น้ำมัน 7% = 2,100 บาท
- ค่าโทรศัพท์ 5% = 1,500 บาท
- และสุดท้ายก็เหลือแบ่งออมอีก 15% = 4,500
และหากออม 4,500 บาทได้ทุกเดือนเช่นนี้ 1 ปีก็จะได้ทั้งหมด 4,500 × 12 = 54,000 บาทเลยทีเดียว และหากออมแบบนี้ไปได้อีก 5 ปีก็จะมีเงินเก็บถึง 54,000 × 5 = 270,000 บาท
ทว่าที่คำนวณให้ดูด้านบนเป็นแค่ตัวอย่างที่กะประมาณเองเท่านั้น แต่ถ้าหากคุณสามารถลดรายจ่ายตรงไหนลงได้ แน่นอนว่าเงินเก็บของคุณก็จะพุ่งขึ้นไปมากกว่านี้ เช่น หากปรับค่ากินลงเหลือประมาณ 5,000 แล้วนำไปออมเพิ่มอีก 4,000 ก็จะกลายเป็นว่าคุณมีเงินออมถึง 8,500 บาทเลยเชียว และปีนึงคุณก็จะเก็บได้มากขึ้นอีกถึง 48,000 บาท!
วิธีการจัดสรรปันส่วนตั้งแต่ต้นเดือนนี้จะได้ผลก็ต่อมื่อคุณมีระเบียบวินัยกับตัวเอง ไม่ยุ่งในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่นำเงินเก็บไปใช้กับการกิน หากคิกว่ามันยากก็ลองปรับลองหย่อนไม่ให้มันตึงจนเกินไป ให้ตัวเองนำกลับมาใช้ได้จริงจะดีกว่าวิธีการที่เคร่งแล้วทำไม่ได้นะ
ใช้เงินเกินตัว
เคยพร่ำเพ้อกับตัวเองบ้างไหมว่า ‘ทำไมเงินเดือนนี้ไม่พอใช้ล่ะ?’ ทั้ง ๆ ที่คุณก็คำนวณเอาไว้อย่างดิบดีแล้ว บางทีคุณอาจจะไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวแต่ไม่ยอมรับก็ได้ว่าเงินที่หายไปนั้นมันไปอยู่ตรงไหน
มันอาจจะไปอยู่กับเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ตัวใหม่ น้ำหอม ทั้ง ๆ ที่ของเก่ายังใช้ได้และสภาพดีอยู่
มันอาจจะไปอยู่กับกระเป๋าถือ กระเป๋าเงินใบใหม่ ทั้ง ๆ ที่ใบเก่ายังใหม่เอี่ยมอยู่
มันอาจจะไปอยู่กับมื้ออาหารหลักร้อย 3 มื้อ โดยที่คุณไม่ได้คำนวณรายจ่ายตนเองเลยว่ามีกำลังพอจะไปอุดหนุนส่วนนั้นหรือไม่
ไม่ได้ห้ามว่าแต่ละคนห้ามใช้ไปกับสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ คุณสามารถใช้เงินของคุณเองได้กับทุกสิ่งที่คุณพอใจ แต่ก็ต้องดูความหนาของกระเป๋าตังค์คุณเองด้วยมามีพอจะจับจ่ายและไม่เดือดร้อนตนเองหรือเปล่า เพราะบางทีอาจไม่ได้เดือดร้อนแค่ตัวเองเท่านั้นแต่นำพาความเดือดร้อนไปให้คนรอบข้างด้วยการไปหยิบยืมเงินเขามาด้วย
ฉะนั้นในแต่ละเดือนควรรู้ตัวเอง ประมาณการณ์และวางแผนให้ดีว่าไม่ควรใช้กับสิ่งนั้นสิ่งนี้มากจนเกินไปและทำให้ไม่มีเงินเก็บ โดยสามารถนำวิธีข้างต้นมาปรับใช้กับตนเองได้ เช่น หากมีเงินเดือน 15,000 อาจแบ่งดังนี้
- ค่ากิน 5,000 บาท
- ค่าที่พักอาจจะหาที่ที่ใกล้ที่ทำงานมากที่สุดเพื่อให้สามารถเดินเท้ามาทำงานได้ 5,000 บาท
- เมื่อที่พักใกล้ที่ทำงาน จึงไม่มีค่ารถและค่าเดินทาง
- ค่าโทรศัพท์ 1,000 บาท
- และสุดท้ายก็เหลือแบ่งออมอีก 4,000
ไม่ต้องเป๊ะตามนี้แต่ก็พยายามแบ่งเพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บสำหรับใช้ในวันข้างหน้าด้วยนะ

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีออมแทนซื้อ คือ หากคุณอยากได้ของชิ้นไหนที่มีอยู่แล้วซึ่งยังไม่พัง ไม่เก่า และยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ แต่คันไม้คันมืออยากจะซื้อเหลือเกิน ให้คุณฮึบไว้ แล้วนำเงินนั้นไปหยอดกระปุกและห้ามแตะต้องมันโดยเด็ดขาด เท่านี้ก็จะได้เงินเก็บแทนของใหม่ที่ตอนนี้ยังไม่ควรซื้อแล้ว
หรือถ้ามัวแต่คิดว่าเงินเดือน 15,000 มันจะไปพอออมอะไร ไว้รอเงินเดือนขึ้นก่อนดีกว่า แล้วผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ก็ไม่มีทางมีเงินเก็บได้ง่าย ๆ หรอก
ใจแข็งแล้ววางแผนให้ดีเสีย เงินออมก็ไม่หายไปไหนหรอก
เงินพออยู่จากหาเช้ากินค่ำ
คุณอาจจะสงสัยว่าเงินแค่หาเช้ากินค่ำมันจะออมได้ยังไง วันนึงใช้ก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว งั้นลองแบบนี้ดีไหม? ออมไปทีละเล็กละน้อยแบบมีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ไม่ว่าจะเงินเหลือ 5 หรือ 10 บาทแต่ก็อย่าได้ดูถูกพลังของเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เชียวเพราะถ้ายิ่งออมก็ยิ่งพอกพูนขึ้นกลายเป็นเงินหลายบาทได้ในอนาคต
หรือหากไม่มีจริง ๆ ก็ออมแค่ตอนที่มีโอกาสก็ได้ อาจจะเป็นตอนที่ซื้อกับข้าวแล้วเงินเหลือทอน ถ้าไม่ต้องนำไปใช้กับอย่างอื่นต่อ เราก็นำเงินส่วนนั้นไปออมได้ ไม่แน่ว่าหากคุณหันกลับมาอีกทีเงินที่ค่อย ๆ ออมนั้นอาจจะกลายเป็นเงินก้อนแบบไม่รู้ตัวไปแล้วก็ได้
ทั้งนี้ วิธีการข้างต้นจะไม่ได้ผลเลยถ้าคุณไม่มีวินัยในตัวเอง ใจอ่อนไปกับสิ่งของที่อยากได้ แล้วควักเงินขึ้นมาซื้อในที่สุด ให้คุณลองนึกภาพเงินในบัญชีที่แตะ 6 – 7 หลักไว้ แล้วมุ่งตรงอย่าหันเหออกด้านข้างเชียวล่ะ ท่องไว้ เพื่ออนาคตที่หลุดพ้นจากกรงขังด้านการเงิน ซัดกรงให้กระจุยไปซะ!
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels