
ภาพโดย Marc Mueller จาก Pexels
เคยได้ยินคำว่า พรสวรรค์กับพรแสวง กันใช่หรือเปล่า ใครก็ต่อใครมักจะพูดว่าทุกคนมีพรสวรรค์อยู่ในตัว บางคนค้นพบแล้วก็ป่าวประกาศและเชื่ออย่างเต็มประตู ส่วนคนที่ยังไม่เจอ เมื่อไหร่จะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้สักที พวกเขาก็มีความสามารถแค่รอการมาของอะไรบางอย่างที่ทำให้เขายิ่งใหญ่กว่าเดิมเท่านั้น
ในออฟฟิศมักมีคนหลายประเภท บางคนเก่งมาก ไม่ว่างานประเภทไหนก็จัดการได้หมด ไม่แปลกใจที่เจ้านายจะชื่นชมและมองเป็นตัวเลือกแรกในการสั่งงานเสมอ อีกประเภทคือกลุ่มคนที่อาจไม่ได้เก่งมากเท่ากลุ่มแรก แต่ทักษะการสื่อสารชนะขาด รู้จักไปหมดทั้งออฟฟิศ เดินไปไหนก็มีแต่คนทักทาย
อยากให้คนอื่นมองเราเป็นแบบไหน ?
ทั้งสองแบบมีบางอย่างเหมือนกัน คือทักษะความถนัดที่ชัดเจนในแบบของตัวเอง อยู่องค์กรเดียวกันก็จริง แต่หน้าที่และบทบาทก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันสักหน่อย
ลองคิดดูว่า ออฟฟิศที่มีแต่คนเก่งเต็มไปหมด วันทั้งวันแทบจะไม่มีเสียงคุยกัน เพราะเขาเลือกใช้เวลาในการทำงานให้เป็นประโยชน์ดีกว่า แม้ว่าจะมีเจตนาที่ดีคือต้องการให้งานออกมาดีที่สุดก็ตาม
หรือถ้าออฟฟิศไหนมีแต่คนขยัน ถึงแม้ว่าเวลางานจะทำเต็มที่ แต่เมื่อเสร็จสิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย ก็อาจนั่งคุยกันจนบางครั้งลืมพัฒนาตัวงาน และงานก็จะกลายเป็น Routine ไปโดยหมดแพสชั่น
ถามว่าถ้าเราเป็นเจ้านายก็คงไม่เลือกทั้งสองแบบ จริงไหม?
ทีนี้ยังมีบางคนที่บอกว่าตัวเองไม่ได้เก่ง แถมยังไม่ขยันอีกด้วย แล้วจะใช้ชีวิตในออฟฟิศให้อยู่รอดได้อย่างไรกัน เพราะหันไปทางนั้นก็คนเก่ง หันทางนี้ก็มีคอนเนคชั่นที่เหนียวแน่น เราจะเอาอะไรไปสู้ได้
คำตอบคือไม่ต้องสู้เลยที่เป็นมันดีอยู่แล้ว เพราะว่าทุกองค์กรอยากได้ทั้งคนเก่งและขยันไปพร้อมกัน คนประเภทนี้จะพาความสำเร็จเข้ามาในบริษัทได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง แต่ต้องแลกมากับการท้าทายความสามารถในด้านต่างๆ
เปรียบเสมือนตอนนี้คุณกำลังเป็นแก้วเปล่า รอการเติมเต็มของความสามารถบางอย่างอยู่ เริ่มที่ความเก่ง ทุกคนรู้ว่าสามารถสร้างขึ้นได้ ฝึกในด้านที่ไม่ถนัดมากขึ้น ซึ่งการจะทำให้สม่ำเสมอได้ต้องอาศัยความขยันเป็นตัวขับเคลื่อนด้วย
เช่นนี้ คนทุกคนหรือของทุกชิ้นมีค่าเสมอ การมีอยู่ร่วมกันก็คงดีกว่ามีอยู่แบบเดียว
ความขี้เกียจ ดูเป็นคำที่รุนแรง ราวกับใช้สำหรับต่อว่าหรือกดให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปเรื่อย แต่มันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันนะ ขึ้นอยู่กับการตีความให้ถูกต้องเท่านั้น
คนขี้เกียจไม่ใช่คนที่ไม่ทำอะไรเลยนะ อย่าเข้าใจผิด แต่คนขี้เกียจสังเกตว่าเขาจะหาทุกวิธีเพื่อให้งานถึงเป้าหมายโดยใช้แรงและเวลาที่น้อยที่สุด เรื่องบางเรื่องจริงอยู่ว่าไม่มีสูตรทางลัด แต่หากไม่ลองหาทางแล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันไม่มี
การมีนิสัยขี้เกียจแบบนี้ ช่วยให้ได้มีกระบวนการวิเคราะห์เกิดขึ้น สมองจะคิดทางเอาตัวรอดออกมาได้สารพัด ที่นี้ก็เป็นหน้าที่ของสามัญสำนึกแล้วว่าจะเลือกตัดสินใจทางไหน

ภาพโดย Artem Podrez จาก Pexels
ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตำนานนักวิทยาศาสตร์ผู้เปลี่ยนโฉมทฤษฎีที่เป็นไปไม่ได้หลายเรื่องให้เกิดขึ้นจริงได้ นอกจากจะเป็นบิดาแห่งวิชาพันธุ์ศาสตร์ เขายังถูกยกให้เป็นต้นแบบแห่งการขี้เกียจอีกด้วย
ในช่วงชีวิตวัยเด็กก่อนที่จะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังตลอดกาล เขาก็คือเด็กผู้ชายธรรมดาที่มีจุดเด่นเรื่องความขี้เกียจ ถึงขั้นที่ว่าไม่เคยตั้งใจเรียนสักนิดเดียว แอบหลับในคาบเรียน การบ้านไม่ทำส่ง และอีกสารพัด งานอดิเรกก็แสนจะเรียบง่ายคือการนั่งอยู่เฉยๆคนเดียว นั่งมองคนอื่นเล่นกันอย่างสนุกสนาน
ซึ่งภายนอกที่แสดงออกมาอาจจะไม่มีอะไร แต่เชื่อว่าภายในหัวของเขากำลังทำกระบวนการบางอย่างอยู่แน่ ทำให้ในอนาคตเขาถึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์แบบนี้
หรือแม้แต่ช่วงชีวิตที่โตขึ้นเมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว มีการเปิดเผยว่าเขาก็ยังต้องใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะกลั่นกรองออกมาได้ในแต่ละชิ้นที่พร้อมไปด้วยคุณภาพไม่น้อย
นอกจากนี้หากมีการรวบรวมรายชื่อของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ที่เคยถูกตราหน้าว่าขี้เกียจก็มีอีกสารพัด และแต่ละคนคือบุคคลระดับโลกทั้งนั้น แทบไม่อยากเชื่อสายตาว่านี่หรือคนขี้เกียจ
แต่อย่าลืมว่าความขี้เกียจเคยเกิดขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้อยู่กับพวกเขาตลอดเวลา ต้องมีบางมุมที่ต้องใช้ความขยันเข้าครอบงำ เพื่อเอาชนะมาให้ได้ เพราะผลงานที่ออกมาคือเครื่องทดสอบว่าแม้ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยขี้เกียจ แต่ก็จะมีอีกหลายครั้งที่พวกเขาขยันแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น
จุดแข็งของคนขี้เกียจคือการจัดเรียงลำดับที่สำคัญมาก คนเหล่านี้จะไม่ยอมให้อะไรมาทำให้เสียเวลาเป็นอันขาด ทุกการกระทำต้องมีความหมายและผลลัพธ์ที่ชัดเจน ขั้นตอนยุ่งยากที่คนอื่นเคยทำตัดออกไปได้เลย เพราะวิธีลัดที่รวดเร็วกำลังจะเกิดจากไอเดียของคนขี้เกียจ ซึ่งมันก็ทำให้ผ่อนคลายในการทำงาน ไม่ต้องมานั่งเครียดทำตามสิ่งที่เคยทำกันมา ทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดหรือเปล่า
จุดแตกต่างระหว่างคนขี้เกียจกับคนขยัน คือการทำงานด้วยอารมณ์ที่สบายมากกว่า หลักการคิดจะไม่ใช่แค่ให้ได้ชิ้นงานออกมาทันส่ง แต่เขาจะพยายามหาตัวช่วยทุ่นแรงทุกอย่างได้ ตัดขั้นตอนเพื่อวิธีที่เร็วกว่าโดยที่คุณภาพก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปกว่าเก่าเลย
การคิดค้นวิธีการลัดด้วยตัวเอง ถ้ามันเวิร์คขึ้นมาเมื่อไหร่ เหมือนการจุดไฟชีวิตให้ลุกโชน ช่วงเวลาที่น่ากลัวที่สุดของคนขี้เกียจคือตอนที่พวกเขาเริ่มขยัน เพราะมันหมายความว่าเขาจะมีทักษะด้านการหาทางออกที่รวดเร็ว และยังมีกำลังในการค้นหาสิ่งต่างๆเพิ่มเติม อนุภาคจะมหาศาลขนาดไหน น่าสนใจ
สุดท้ายเราไม่สามารถตัดสินใครได้หรอกว่าขยันแล้วจะดี หรือคนฉลาดเท่านั้นประสบความสำเร็จแน่ แค่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ออกมาดีที่สุดก็พอ แต่หากจะให้มากไปกว่านั้น ถ้าเลือกใช้ความขี้เกียจให้ถูกทาง ใช้ความฉลาดให้ถูกที่ เมื่อเจอสถานการณ์อะไรก็ตาม เราก็พร้อมแก้ไขให้มันเป็นเรื่องที่ดีเสมอ..
..
อ้างอิง:
เรียบเรียงโดย กฤตเมธ อันสมัคร
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ 7DBook&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก Pexels