แบบฝึกควบคุมเงิน ของกล้วย ๆ ที่คุณก็ทำตามได้!
เคยบังคับตัวเองเรื่องเงินไหม? แล้วทำได้หรือเปล่า?
นับจากนี้จะเป็นโปรแกรมควบคุมเงินง่าย ๆ ที่เริ่มไต่ระดับควบคุมเงินของคุณเองให้คงเหลือในกระเป๋ามากกว่าที่เคยมี ลองอ่าน จำ แล้วนำไปใช้นะ
แบบฝึกที่ 1 รู้เอาไว้ว่าคุณเองหาเงินได้จำนวนเท่าไร
แม้จะมีตัวเลขที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากแอปพลิเคชันธนาคารหรือแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ แต่เอาเข้าจริง หลายคนก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าตนเองหาเงินได้เท่าไหร่ ทั้งก่อนและหลังหักภาษี แต่ปัจจุบันมีโปรแกรมที่ช่วยคำนวณสิ่งเหล่านี้ (เสิร์ชหาได้เลย!) ให้คุณได้ทราบถึงรายได้สุทธิที่คุณได้รับ
ดังนั้น เมื่อคุณได้รับเงินเดือนล่าสุดของคุณซึ่งอาจจะบอกถึงรายได้ทั้งหมดในแต่ละเดือนของคุณว่าได้เท่าไหร่ เมื่อนำไปคำนวณภาษีแล้ว รายได้สุทธิคือเท่าไหร่ แล้วจดลงหรือบันทึกลงในโทรศัพท์ของคุณเอาไว้เสีย
ทุกวันนี้คุณหาเงินได้____________บาทต่อเดือน
ก่อนเสียภาษี____________บาท
และหลังเสียภาษี____________บาท

ภาพถ่ายโดย olia danilevich จาก Pexels
แบบฝึกที่ 2 ประมาณเงินแต่ละเดือนที่คุณใช้จ่าย
คนส่วนใหม่มักจะไม่ทราบว่าตนเองเอาเงินไปใช้จ่ายกับอะไรบ้างและใช้จ่ายไปเท่าไหร่ แต่เพื่อความมั่นคงทางการเงินของกระเป๋าคุณเอง ให้ใช้แบบฟอร์มนี้เพื่อประมาณว่าคุณใช้เงินในแต่ละเดือนไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยทั้ง 3 หรืออาจจะ 4 อาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไปจนถึงการต่ออายุสมาชิก Netflix YouTube Spotify
จากนั้นให้เพิ่มอีก 10% สำหรับสิ่งที่เราเรียกว่าค่าใช้จ่ายฉุกละหุก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิด อาจจะสำหรับค่าวินมอไซต์ในวันที่ตื่นไปทำงานสาย ค่าซ่อมรถ ค่ารองเท้าที่พังในวันที่เราต้องใส่ ต่าง ๆ นานา ที่ดูเหมือนว่าจะต้องควักเงินโดยที่คุณไม่ได้คาดคิด
เพื่อให้แน่ใจว่าการประมาณของคุณนั้นถูกต้องและเหมาะสม ลองตรวจสอบมูลค่าของเช็ค ใบเสร็จรับเงิน และใบเสร็จบัตรเครดิตของ 3 เดือนที่แล้ว เมื่อคุณรู้สึกพอใจว่าคุณมีตัวเลขที่ถูกต้องสมเหตุสมผลให้คุณเขียนตัวเลขลงในช่องว่างข้างล่างนี้
ทุกวันนี้คุณใช้เงิน____________บาทต่อเดือน
จากนั้นลบจำนวนเงินทั้งหมดในแต่ละเดือนออกจากรายได้หลังจากเสียภาษีในแต่ละเดือนของคุณ เงินสดของคุณสะพัดไปในทางบวกหรือลบล่ะ?
ฉันหาเงินได้____________หลังจากเสียภาษีในแต่ละเดือน
ฉันใช้เงินโดยประมาณ____________ในแต่ละเดือน
เงินสะพัดในแต่ละเดือน____________
หลังจากคุณเห็นจำนวนตัวเลขในกระดาษเขียนหรือในโทรศัพท์ที่คุณบันทึกเอาไว้ จะทำให้คุณได้คิดว่าคุณสามารถตัดแบ่งทอนเงินไปไว้ที่ไหนได้บ้าง หากเป็นไปได้ ก็ไม่ควรจะไปแตะต้องและเปลี่ยนแปลงแบบแผนการใช้จ่ายของตัวคุณเอง
เป้าหมายที่เห็นได้ชัดของคุณอาจจะเป็นการมีเงินสดสะพัดไปในทางบวก และแบบฝึก 3, 4, 5 และ 6 ต่อจากนี้ ควรจะช่วยให้คุณเป็นเช่นนั้น

ภาพถ่ายโดย Sam Lion จาก Pexels
แบบฝึกที่ 3 ตามดูว่าคุณใช้จ่ายอะไรไปบ้าง
7 วันนับจากนี้ ให้คุณบันทึกทุกบาททุกสตางค์ที่คุณใช้จ่ายออกไป เรียกได้ว่าเป็น “ความท้าทายทางการเงิน 7 วัน” ซึ่งในท้ายที่สุดคุณควรจะทำสิ่งนี้ตลอดทั้งเดือนให้กลายเป็นความท้าทายทางการเงิน 30 วัน แต่สำหรับก้าวแรกเพื่อการเริ่มต้น ลองพยายามทำสิ่งนี้แค่ 7 วันก่อน
168 ชั่วโมงต่อจากนี้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน คุณก็ต้องบันทึกการซื้อของคุณทุกครั้ง ทั้งค่าน้ำปั่น ค่ารถไฟฟ้า ค่าจอดรถ หรือค่าจิปาถะทั้งหลายที่ถูกหยิบออกจากกระเป๋าไปจ่ายนั่นแหละ
แบบฝึกนี้จะกลายเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ เมื่อได้จดบันทึกเงินที่หายไปแล้วก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าเงินที่ใช้อย่างสิ้นเปลืองนั้นเป็นค่าอะไร และคุณก็จะตัดสินใจได้ว่าส่วนไหนจะสามาถตัดทิ้งโดยไม่ใช้จ่ายไปกับมันได้อย่างสมเหตุสมผล
แบบฝึกที่ 4 เริ่มจ่ายด้วยเงินสด
เมื่อคุณเตรียมความพร้อมจาก “ความท้าทายทางการเงิน 7 วัน” ไปจนถึง “ความท้าทายทางการเงิน 30 วัน” แล้ว คุณก็คงจะพร้อมที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตคุณ สิ่งที่ง่ายที่สุดที่คุณสามารถทำได้ เพื่อลดการใช้จ่ายของคุณได้อย่างอัตโนมัติ คือเริ่มต้นจ่ายเงินสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเงินสด ใช่แล้วล่ะ เงินสด! ถึงเวลาที่จะใช้เงินสดอีกครั้งแล้ว!
เมื่อคุณซื้อของต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต พร้อมเพย์ หรือโอนผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร คุณก็ไม่ได้รู้สึกถึง
ความสำคัญของการใช้จ่ายสักเท่าไหร่ แต่คุณลองพกเงินสดติดตัวไว้สัก 2,000 ดูสิ คงยากใช้ไหมล่ะสำหรับการควักเงินออกมาจ่ายเพื่อซื้อเสื้อหรือกางเกงยีนส์ตัวใหม่ราคา 1,500 บาท เพราะเงินสดทำให้เห็นถึงเงินที่หดหายไปได้อย่างชัดเจนจากการยื่นเงินไปหลักพันคือ 2,000 เหลือทอนกลับมาหลักร้อยคือ 500 บาท คงสะเทือนใจมากเป็นแน่
เงินสดจะช่วยให้คุณคิดได้มากขึ้นว่าคุณใช้จ่ายเงินจริงๆ ไปเท่าไรและเพื่ออะไร และเพราะเทคโนโลยีเดี๋ยวทำให้เงินเข้าง่ายและออกง่าย เจอของที่สุดใจปุ๊บ กด CF แล้วโอนเงินปั๊บ การหันมาใช้เงินสดจะก่อให้เกิดความยากลำบากจนทำให้ความรู้สึกอยากใช้เงินและอยากจ่ายลดน้อยลงนะ

ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels
แบบฝึกที่ 5 มาตัดผมทรงใหม่ให้บัตรเครดิตคุณกันเถอะ
ลองพิจารณาบิลใบเสร็จของบัตรเครดิตทั้งหมดของคุณเอง หยิบบัตรที่ใช้จ่ายมากที่สุดออกมา จากนั้นตัดบัตรใบนั้นออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (หรือหากจะให้ง่ายที่สุดก็เก็บมันไว้ในที่ที่ยากต่อการหยิบมาใช้ก็ได้) คิดเสียว่าตัดแต่งผมทรงใหม่ให้กับบัตรเครดิต
การตัดบัตรเครดิตฉับ ๆ นั้น ทำให้หยิบมาใช้ไม่ได้แล้วอย่างเด็ดขาด เป็นการห้ามแบบหักดิบ (เพราะไม่มีให้ใช้อีกแล้ว) ทำให้เงินไม่หล่นหายไปจากกระเป๋าด้วยความสะดวกสบายของบัตรเครดิต
แต่ถ้าหากมันจำเป็นขึ้นมาในภายหลังก็สามารถเดินเรื่องเพื่อขอทำบัตรเครดิตใหม่ได้เสมอนะ

ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels
แบบฝึกที่ 6 อย่าใช้จ่ายมากกว่า 2,000 บาท โดยปราศจากการใช้เวลาคิด 48 ชั่วโมง
คนส่วนใหญ่ใช้เงินเกินตัวไปกับการซื้อที่มีแรงกระตุ้นซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ สำหรับตนเอง ประเด็นคือร้านค้ามักทำให้แรงกระตุ้นนั้นเติบโตและฉุดรั้งเราให้ตกลงสู่หลุมจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา XX% การให้ของแถม 10 อย่าง การให้คูปองเพื่อนำมาใช้อุดหนุนร้านค้านั้น ๆ อีก ร้านค้าเหล่านี้เชี่ยวชาญนักในการตกเหยื่อ
ดังนั้นการกำหนดเงินเอาไว้ตามเท่าที่คุณคิดว่ามันมากเกินไปและไม่สมเหตุสมผลหากจะใช้จ่ายเงินส่วนนี้ เช่น กรณี 2,000 บาท เมื่อกำหนดจำนวนเงินแล้วก็อย่ายอมให้ตัวเองซื้อสิ่งใดก็ตามด้วยเงินจำนวนนั้นหรือมากกว่านั้น โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน อย่างน้อย ๆ ควรให้เวลากับตัวเองได้คิดอย่างรอบคอบ อาจจะเป็น 48 ชั่วโมงเพื่อสงบจิตใจแล้วทบทวนกับตนเอง
หลังจากครบ 2 วันแล้วก็ลองถามตนเองดูว่ายังอยากได้อยู่ไหม เอามาทำอะไร ถ้ายังอยากได้อยู่ก็เอาเลย! ไม่แน่หากเราไปซื้อหลังจากนั้นเราอาจจะได้มันในราคาลดก็ได้นะ
การควบคุมการใช้จ่ายทำให้คุณประหยัดมากขึ้น และสุดท้ายก็จะส่งผลให้คุณได้มีเงินเก็บเพื่อนำมาจุนเจือและใช้ในอนาคตได้อีกต่างหาก ลองทำดูก็ไม่เสียหายนะ!
ข้อมูลจากหนังสือ: “การเดินทาง 70 ก้าวสำหรับสาวที่ต้องการยืนบนขาตัวเอง” ผู้เขียน นิธิณัฐ เกวลิน
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels