5 ข้อง่าย ๆ เขียนสัญญาไว้ ก่อนให้ใครยืมเงิน
เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ใบกระดาษที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายใบเล็ก ๆ นั้นสามารถทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ได้ด้วยคำว่า “หนี้”
“การกู้ยืมเงินกันด้วยปากเปล่า เวลาลูกหนี้เขาเบี้ยว ทางกฎหมายแล้ว เราแทบทำอะไรเขาไม่ได้เลย”
ขจรพัฒน์ สุขภัทราพิรมย์
ผู้เขียน เปลี่ยนหนี้หนักเป็นหนี้เบา, เคลียร์หนี้ทีเดียวจบ
หากไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว การจะให้ยืมเงินกันก็คงไม่แปลกสักเท่าไหร่นัก และถ้าหากซื่อสัตย์ต่อกันสักนิด การจะให้ทำสัญญาเป็นหลักฐานการยืมเงินก็คงจะไม่ลำบากเลย
แต่ถ้าใครไม่ยอมเซ็นสัญญานั้น ๆ ก็ไม่ต้องให้เขายืมเสียก็จบ
แล้วไอ้การทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเขาทำยังไงล่ะ? ไม่ยากเลย

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 กำหนดไว้ว่า
“การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
ถ้าอ่านแค่นี้ เวลามีใครมายืมเงินเรามากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป และจำเป็นต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ก็ให้เขาลงชื่อรับเงินไว้ ก็น่าจะเพียงพอแล้วใช่ไหม
ผิดแล้ว… ยังไม่พอหรอก
แม้กฎหมายจะไม่ได้บอกไว้ว่าจำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าลูกหนี้เป็นหนี้เราแบบไหน อย่างไร แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าเขามีหนี้สินพึงจะต้องชำระให้แก่เรา
หากเอกสารมีข้อความเพียงว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)” ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินและใครต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้ใคร ที่จะแสดงให้เห็นว่าใครเป็นหนี้ใคร หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่ใคร เอกสารดังกล่าวก็ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
ดังนั้น สิ่งที่ต้องเขียนลงไปในหลักฐานที่จะให้เขาเซ็นซื่อรับเงินจากเรา คือ
1. มีข้อความว่า ใครเป็นผู้กู้
2. และได้กู้จากใคร
3. และจะสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อไหร่
4. ถ้ามีดอกเบี้ยก็ใส่ไปด้วย
สุดท้ายสำคัญมาก
5. ต้องให้ผู้กู้ลงชื่อ
ถ้าเขาเบี้ยวเราก็ฟ้องได้ หากมีครบ 5 ข้อนี้ แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับเป๊ะ ๆ แต่หากเขียนไว้ กันไว้ดีกว่าแก้ เมื่อมีปัญหาจึงจะครอบคลุมได้ครบหมด ฟ้องได้แน่นอน
ในกรณีที่ให้ยืมไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ก็สามารถทำสัญญาย้อนหลังได้ โดยทำเป็นสัญญาขึ้นมาใหม่ หรือทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ก็ได้ทั้งนั้น เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าหลักฐานในการกู้ยืมดังกล่าวจะต้องทำขึ้นในขณะที่มีการกู้ยืม ดังนั้นหากจะทำหลังจากที่ให้เงินยืมไปแล้วก็ไม่เป็นไร

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
หรือหากเป็นกรณีที่ลงชื่อผิด คือ ผู้กู้ลงชื่อในช่องของผู้ให้กู้ล่ะ จะเป็นอะไรไหม?
คำตอบก็คือ ไม่มีปัญหา ต่อให้ลงชื่อผิดช่อง ขอเพียงแค่มีข้อความตาม 5 ข้อข้างต้น มีลายเซ็นของผู้กู้ ก็เพียงพอที่จะฟ้องร้องได้แล้ว
และถ้าหากผู้ให้กู้ไม่ได้ลงชื่อไว้ ก็เป็นไรอีกนั่นแหละ เพราะ กฎหมายบังคับให้ผู้กู้/ผู้ยืมเท่านั้นที่ต้องลงชื่อไว้ ผู้ให้กู้/ผู้ให้ยืมจะลงชื่อหรือไม่ก็ได้ เพียงแค่เนื้อหาในหนังสือต้องมีชื่อของผู้ที่ให้กู้ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ตาม 5 ข้อข้างต้นนั้น
นอกจากนี้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 ยังมีวรรคสองให้ดูกัน สำหรับผู้กู้หรือลูกหนี้
ในกรณีที่เราไปใช้หนี้เพื่อน เราไว้ใจมัน นึกว่าใช้แล้วก็จบหนี้กัน แต่เพื่อนรักดันหักเหลี่ยมโหด เอาหลักฐานที่เราลงชื่อไว้ว่าไปยืมเงินมาฟ้องให้เราใช้เงินมันอีกครั้ง
เหมือนกรณีการกู้ยืมเงินกันด้วยปากเปล่า ไม่มีหลักฐาน เวลาเจ้าหนี้เขาโกงไป ทางกฎหมายแล้ว เราก็ทำอะไรเขาแทบไม่ได้เลยเช่นกัน เพราะเราไม่มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ต่อหน้าศาลว่าเราได้ใช้เงินเขาไปแล้ว

ภาพถ่ายโดย Burst จาก Pexels
ตอนยืมมีหลักฐาน แต่ตอนคืนไม่มีหลักฐาน จากหนี้เบาก็มีโอกาสกลายเป็นหนี้หนักได้
ดังนั้น จึงควรทำหนังสือขึ้นมาใหม่ว่าเราได้คืนเงินจำนวนไหร่ พร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ใคร และใครคนนั้นก็ได้รับเงินดังกล่าวคืนเป็นจำนวนถูกต้องครบถ้วนทุกประการ พร้อมให้เขาลงชื่อรับเงินคืนให้เป็นที่เรียบร้อย
หรืออีกวิธีก็คือ เอาหลักฐานตอนที่เรายืมเงินเขาคืนมาแทงเพิกถอน ขีดฆ่าทิ้ง หรือฉีกทิ้งไปเลยก็ได้
หลักฐานการกู้ยืมเงินยังมีอีกมากมายหลายแบบ กรณีไม่รู้หรือไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าสิ่งที่เรามีสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้หรือไม่ การปรึกษาทนายความก็อาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่า
ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากคำคมไว้ว่า
“Never lend money to a friend. It’s dangerous. It could damage his memory.”
อย่าให้เพื่อนยืมเงินเชียวนะ มันอันตรายมาก เพราะมันอาจจะไปทำลายความจำของเขา
Sam Levenson
ข้อมูลจากหนังสือ: “เคลียร์หนี้ทีเดียวจบ” ผู้เขียน ขจรพัฒน์ สุขภัทราพิรมย์
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels