ใคร ๆ ก็บอกว่าประมูลงานกับภาครัฐมีความเสี่ยง ไม่โปร่งใส เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ ตรวจสอบได้ยาก เล่นพรรคเล่นพวก ไม่เป็นธรรม ปิดกั้นโอกาสคนอื่น ขาประจำได้รับคัดเลือกตลอด คนหน้าใหม่หมดสิทธิ์ ฯลฯ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ระบบการประมูลงานภาครัฐที่เรียกว่า e-Bidding (อีบิดดิ้ง)
หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ระบบจัดซื้อพันธุ์ใหม่”
แล้ว e-Bidding คืออะไรล่ะ?
อย่ามัวแต่รอช้า เราไปทำความรู้จักกับระบบ e-Bidding กันดีกว่า

ภาพถ่ายโดย Vlada Karpovich จาก Pexels
e-Bidding คือ การประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งสินค้าและบริการ ด้วยการทำรายการราคาข้อเสนอทางเทคนิคผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง โดยที่ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ตามวันเวลาที่กำหนด ข้อดีของระบบ e-Bidding มีดังนี้
– ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเราจะไม่รู้ว่ามีใครมายื่นประมูลบ้าง แงละเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิ์มาดูเอกสารเพื่อนำไปบอกกับพรรคพวกได้เหมือนระบบเก่า
– ช่วยสร้างโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความสามรถตรงกับสายงาน
– ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ผู้ยื่นไม่ต้องเดินทางบ่อย ๆ แค่มีอินเทอร์เน็ตของเสนอราคาได้
ทั้งนี้ขั้นตอนการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e-Bidding ก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไปนัก โดยจะมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

ภาพถ่ายโดย Vlada Karpovich จาก Pexels
ขั้นตอนที่ 1 เจ้าหน้าที่จัดทำเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมประกาศเชิญชวน
ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าทำรายการขอจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมร่างขอบเขตของงาน เสนอหัวหน้างานเพื่อความเห็นชอบ
ขั้นตอนที่ 3 หากหัวหน้างานเห็นชอบ ต้องนำร่าง ประกาศ ร่างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ให้สาธารณะชนเสนอแนะ วิจารณ์ หน่วยงานสามารถดำเนินการประกาศร่างให้วิจารณ์ได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
ขั้นตอนที่ 4 หน่วยงานรัฐจะเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผู้ค้าที่สนใจผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ
ขั้นตอนที่ 5 ผู้ค้าที่สนใจจะเข้าร่วมการเสนอราคา ต้องดาวน์โหลดเอกสารประกวดราคา พร้อมทั้งเสนอราคาผ่านระบบ e-GP ตามวันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ
ขั้นตอนที่ 6 เมื่อครบกำหนดเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาผลจึงจะสามารถดาวน์โหลดเอกสารของผู้ค้า พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาคุณสมบัติ และประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ทั้งนี้ ผู้เสนอราคาสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ภายใน 7 วัน

ภาพถ่ายโดย Ivan Samkov จาก Pexels
นอกจากนี้ระบบ e-Bidding ยังเปิดโอกาสให้ทุกอาชีพเข้ายื่นเสนองานได้ แต่ทั้งนี้งานที่ยื่นเสนอต้องสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง ทบวง กรมที่มีในประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะมีกิจกรรมหรือโครงการที่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นประจำทุกปี ทำให้ต้องมีการจ้างงานเป็นจำนวนมากและงานก็มีความหลากหลาย จึงเปิดโอกาสให้คนภายนอกสามารถเข้ามายื่นเสนองานกับภาครัฐได้
สำหรับงานที่นำมาจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ e-Bidding ได้แก่ งานก่อสร้างทุกชนิด งานด้านการเกษตร งานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ งานประชาสัมพันธ์ งานจัดอีเวนต์ งานจัดหาวัสดุต่าง ๆ งานกิจกรรมเพื่อพัฒนาสินค้า งานกิจกรรมอบรมสัมมนา งานสำรวจวิจัย งานบริการต่าง ๆ งานหมวดอาหาร เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ภาพถ่ายโดย Kateryna Babaieva จาก Pexels
e-Bidding นับว่าเป็นระบบที่คิดค้นขึ้นมาโดยภาครัฐที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อย แล้ว e-Bidding จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการทำงานในภาครัฐได้หรือไม่นั้น เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ในทางธุรกิจก็มีโอกาสที่จะทำงานกับภาครัฐได้ แม้ว่าคุณจะไม่เคยทำงานกับภาครัฐเลยก็ตาม แต่ถ้าคุณมีความถนัดงานในสาขาใดแล้ว ให้ลองหมายตางานในกลุ่มนั้นไว้ จากนั้นให้เริ่มต้นคิด ลงมือ วางแนวทาง ประสบการณ์จากข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ แล้วไม่นานคุณก็จะเข้ามาสู่ช่องทางขุมทรัพย์นี้เหมือนกับคนอื่นได้เช่นกัน
ขอเพียงเป้าหมายชัดเจน คุณก็ทำได้!
อ้างอิง: กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (www.oic.go.th)
. . .
เรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels