คุณเป็นหนี้ขั้นไหน ต้องทำอย่างไรเพื่อปลดหนี้?
หากคุณเป็นลูกหนี้ คุณรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่?
- ไม่รู้ยอดหนี้
- ไม่รู้ว่าเป็นหนี้เสีย
- ไม่ทราบดอกเบี้ย
- ไม่ทราบดอกเบี้ยปรับ
- ไม่รู้ว่าโดนฟ้อง
- ไม่รู้ว่าต้องไปศาล
- ไม่รู้ว่าจะโดนบังคับคดี
- ไม่รู้ว่าบ้านจะโดนยึด
- ไม่รู้ว่าจะโดนฟ้องล้มละลาย
หากคุณไม่รู้ ก็จงสืบสาวดูเสียให้รู้ทั้งหมดตามข้างต้น เพราะรู้ช้าก็ยังดีกว่าไม่รู้และไม่ขวนขวาย ตามที่มีผู้เคยกล่าวเอาไว้ว่า การไม่รู้ก็ยังน่าอายน้อยกว่าการปฏิเสธการเรียนรู้ หากคุณรู้ยอดหนี้ หากคุณทราบดอกเบี้ย หรือหากคุณรู้ว่าบ้านจะโดนยึด คุณก็จะได้ทราบว่าคุณกำลังยืนอยู่ตรงไหนของการชดใช้หนี้
เมื่อรู้แผนที่ของเขาวงกตและรู้ว่าตนเองกำลังยืนอยู่ตรงไหน ก็จะทำให้คุณรู้ทางที่จะต้องเดินไปต่อจนค้นพบกับทางออก เช่นเดียวกัน ถ้าคุณรู้ว่าคุณเป็นหนี้ขั้นไหนก็จะสามารถแก้ปมหนี้ได้อย่างตรงจุด
ลองคิดและทบทวนดูว่าคุณกำลังยืนอยู่บนบันไดหนี้ขั้นไหนกันแน่

ภาพถ่ายโดย Nitin Sharma จาก Pexels
ขั้นที่สร้างความกังวลใจหรือเปล่า?
ไม่ว่าใครก็น่าจะเคยยืมเงินเพื่อนกันใช่ไหม แค่เงินไม่กี่บาทยังเดือดเนื้อร้อนใจจะคืนเงินเพื่อนให้ได้ เพราะรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองมีภาระที่แบกไว้มากมายเหลือเกิน ฉะนั้นไม่ต้องว่าไปถึงเงินหมื่นเงินแสนเลย แค่นี้ก็สามารถสร้างความวิตกได้แล้ว
ส่วนหนี้ที่กระทบต่อรายรับรายจ่ายของคุณนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ต้องมานั่งคิดครุ่นว้าวุ่นว่าหลังจากหักลบกลบหนี้เดือนนี้แล้วจะพอเหลือกินเหลือใช้บ้างหรือเปล่า แค่คำว่าหนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดให้หายไปจากชีวิตแล้ว เพราะหากหนักข้อเข้าก็อาจจะเกิดสิ่งที่เลวร้ายอย่างที่สุดขึ้นมาได้ ดังข่าวที่เคยเห็นผ่านตาในหลาย ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะ ปลิดชีพตนเองหนีหนี้ ครอบครัวแตกแยกเพราะหนี้ โดนฆ่าล้างครอบครัวเพราะปัญหาหนี้สิน
“ถ้าหนี้นั้นกระทบรายได้ กระทบรายจ่าย และสร้างความกังวลใจ ควรรีบวางแผนแก้ไขหนี้ทันที” — นพ.ธีรวัฒน์ เนียมสุวรรณ์ (เจ้าของเพจหมอหนี้)
ขั้นที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือเปล่า?
หากตัวคุณเองเป็นคนสร้างหนี้ขึ้นมา ก็ไม่ควรจะทำให้ผู้อื่นเดือดเนื้อร้อนใจไปตามไป ๆ กันด้วยการมาหยิบยืมเงินจากคนรอบ ๆ ตัว เป็นหนี้จากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นยังพอจะเข้าใจ แต่ถ้าหากเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ แล้วล่ะก็ ลองถามตัวเองดูว่ามันคุ้มไหมที่จะต้องเป็นหนี้เพราะสิ่งนั้น ๆ
- ถ้าเป็นหนี้ชั่วคราวเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ควรมีเงินหมุนสำรองที่ไม่ต้องถึงมือคนอื่นยื่นเงินให้ยืม จากนั้นเฝ้าดูว่าควรแก้ไขตรงไหน
- ถ้าเป็นหนี้ที่เกิดจากการขาดสภาพคล่องชั่วคราว เช่น ต้องจ่ายประกันชีวิตพร้อมค่าเทอม ค่าประกันรถยนต์ แบบนี้ควรมีเงินสำรองสักก้อน เอาเงินสำรองมาใช้ก่อน หรือปรับเปลี่ยนงวดการส่งประกัน ไม่ให้ต้องเป็นรายจ่ายพร้อมกัน หรือถ้าไม่มีเงินเก็บ ควรแบ่งเงินไว้ชำระสิ่งเหล่านี้โดยแบ่งเก็บทุก ๆ เดือน
- ถ้าอยากใช้เงินไปกับสิ่งของที่มีความสุข มีคุณค่าทางจิตใจ หรือเป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับตนเองก็ควรจะเก็บหอมรอมริบเรื่อย ๆ แล้วจึงนำส่วนนั้นมาใช้จ่าย เพื่อไม่เป็นการเบียดเบียดรายได้ของคุณเอง
ขั้นที่สร้างความอดอยากให้กับครอบครัวหรือเปล่า?
หากมีบัญชีส่วนกลางแต่คุณเองกลับหยิบยืมมาใช้แต่ไม่คืน ก็จะทำให้เงินส่วนกลางของครอบครัวหดหายไปเรื่อย ๆ จนอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ครอบครัว ทำเอาทั้งครอบครัวขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ ดังนั้นจึงควรมีวินัยกับตนเองให้มากเพื่อป้องกันโรคชักหน้าไม่ถึงหลังติดต่อไปสู่สมาชิกภายในครอบครัว

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
ถ้าหากคุณเหยียบบันไดหนี้ทั้ง 3 ขั้นตามที่พูดถึงไว้ข้างต้น ก็น่าจะรู้ตัวแล้วว่าตนเองกำลังตกที่นั่งลำบาก ดังนั้นวิธีต่อไปนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณไม่ใช่น้อย ซึ่งก็คือ การหยุด
หยุดการส่ง เพื่อเก็บเงิน
หยุดการส่ง เพื่อรอการทวงถาม
หยุดการส่ง เคลียร์หนี้นอกระบบ (ถ้ามี)
หยุดการส่ง เพื่อเริ่มต้นใหม่
อ่านบทความ “หมดหนี้เร็วด้วยการหยุดจ่ายหนี้” เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม (คลิก)
หากคุณมัวแต่กลัวว่าจะเสียเครดิตบูโรก็คงยากที่จะเคลียร์หนี้ได้ แล้วคุณจะทำยังไงไม่ให้เสียเครดิตบูโรล่ะ? จะกู้ธนาคารเอามาหมุนใช้หนี้เหรอ? แต่ถ้าธนาคารเห็นว่าหนี้คุณเยอะ เขาก็ไม่ให้กู้แล้ว เพราะถ้ายิ่งกู้ก็ยิ่งคั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องลำบากหรือยุ่งยากเดือดร้อน เหมือนดินพอกหางหมู
หนี้เก่าไม่ลด แถมรายจ่ายเพิ่ม แล้วเมื่อไหร่จะหมดหนี้

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
หยุดแล้ว Re-start คือการเริ่มต้นใหม่ โดยการเริ่มต้นที่ดีและง่ายที่สุดเลยคือ การขอเครดิตบูโรมาดู
Re-start แล้วเช็กดูว่า คุณเป็นหนี้ที่ไหนบ้าง?
Re-start แล้วเช็กดูว่า คุณเป็นหนี้ทั้งหมดเก่ไร?
Re-start แล้วเช็กดูว่า ดอกเบี้ยแต่ละยอดหนี้เสียปีละกี่เปอร์เซ็นต์
Re start แล้วเช็กดูเครดิตบูโรว่า คุณเป็นหนี้เยอะแค่ไหน?
Re-start แล้วเช็กดูเครดิตโรว่า รายละเอียดของหนี้เป็นอย่างไร?
Re-start แล้วเช็กดูว่า รายได้ต่อเดือนเท่าไร?
Re-start แล้วเช็กดูว่า รายจ่ายต่อเดือนเท่าไร?
Re-start แล้วทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว
การเริ่มต้นแม้ไม่ได้ดีที่สุด แต่ย่อมดีกว่าการหยุดอยู่ที่เดิม
“อย่าทำแบบประมาณการณ์ เราอยู่กับชีวิตจริง เรื่องจริง และผมเขียนจากสิ่งที่ผมแก้ไขได้จริง ๆ แม้บางครั้งต้องอับอาย บางครั้งเสียเครดิต แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมใส่ใจเลย ผมใส่ใจครอบครัว ผมอยากมีเงินออม ผมอยากปลดหนี้ ผมอยากใช้หนี้ 50 ล้านแบบชิล ๆ ส่งไปเรื่อย ๆ ไม่กดดัน แล้วหารายได้เสริมที่เป็นทางออกที่ดี ผมอยากหยุดงานพักผ่อน ไปเที่ยว ทำบุญ ทำงานสร้างสรรค์สังคมบ้าง ติดบูโรแค่สามปี ถ้าเราไม่กู้ก็ไม่เห็นต้องสนใจ” — นพ.ธีรวัฒน์ เนียมสุวรรณ์ (เจ้าของเพจหมอหนี้)
ข้อมูลจากหนังสือ: “100 วิธีเอาตัวรอดจากหนี้” ผู้เขียน นพ.ธีวัฒน์ เนียมสุวรรณ์
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels