
ภาพโดย andrea piacquadio จาก Pexels
เรามักเห็นเรื่องราวในมุมของการทำงานในสิ่งที่รักหรือสิ่งที่ชอบมากันพอสมควร นั่นก็หมายความว่า การทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบมันคือเรื่องเลวร้ายในชีวิตเลยไหม ก็คงไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะว่ารู้หรือไม่ การที่คนเราทำในสิ่งที่เราไม่ถนัดก็มีเรื่องดี ๆ ซ่อนอยู่เหมือนกัน
ในการใช้ชีวิตของทุกคน ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงิน” คือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ เพื่อให้เอาตัวรอดจากวิกฤตต่าง ๆ ที่พบเจอในแต่ละวัน ทั้งปัญหาปากท้อง ค่าเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดสารพัดเกินกว่าจะนึกถึง มันก็เป็นที่มาของเหตุผลที่ว่าทุกคนต้องทำงานไปเพื่ออะไร?
ใคร ๆ ก็ต่างชอบพูดกันว่า ‘จงทำงานที่ชอบ’ จะทำให้มีความสุข มีแรงขับเคลื่อนต่าง ๆ นานา ซึ่งก็ถูกเผงทั้งหมด แต่ทุกคนไม่เคยสงสัยกันบ้างเหรอว่า แล้วคนที่เขาทำงานที่อาจจะไม่ชอบ แต่จำเป็นต้องทำด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันจะไม่มีความสุข อย่างที่ใคร ๆ บอกไว้จริงหรือ?
มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เวลาทำงานจะต้องเจองานที่ไม่ชอบ เพราะว่าไม่มีใครถนัดไปหมดเสียทุกอย่างหรอก ยกตัวอย่างเช่น ร้านรับซ่อมรองเท้า ทำไมเขาถึงไม่ผลิตรองเท้าขึ้นมาเองเลยล่ะ ทั้งที่เขารู้แทบจะทุกชิ้นส่วนของรองเท้าเป็นอย่างไร ใช้กาวอะไร หนังชนิดไหน หรือรอยเย็บในรูปแบบใด ก็เพราะเขาไม่ได้ถนัดในการผลิตรองเท้าไง เขาถนัดการซ่อมรองเท้ามากกว่า หน้าที่ของเขาคือแก้ไขส่วนที่ชำรุดเสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้มีประสิทธิภาพเช่นเดิม
ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับมือกับงานได้ทุกประเภท แต่ถามตามตรง ในชีวิตจริงเราเลือกรับงานที่เราชอบได้อย่างเดียวเหรอ จริงอยู่ว่าบางอาชีพอาจจะทำได้เช่น คนขับรถรับส่ง หรือ แม่ค้า แต่ในสักวันพวกเขาก็จะต้องเจอลูกค้าต่างชาติหรือปัญหาอื่น ๆ เข้ามา สุดท้ายก็ต้องปรับตัวอยู่ดี แม้แต่ฟรีแลนซ์ที่มีอิสระในการรับงาน ยังต้องทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบเลยในบางครั้ง
สิ่งที่อยากจะบอกก็คือว่า ไม่ใช่คุณคนแรกพบเจองานที่ไม่ชอบ แทบจะทุกคนต้องเจองานในลักษณะนี้ด้วยกันทั้งนั้น ประเด็นหลักก็คือ อยู่ที่วิธีการรับมือต่องานในมือชิ้นนั้นได้อย่างไร จะเลือกโยนลงถังขยะ หรือ เลือกที่จะเอามาเป็นอาวุธประจำกายอีกชิ้นหนึ่ง
มีเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง เธอชื่อว่า เมลานี เพอร์กินส์ แรกเริ่มคือในช่วงมหาวิทยาลัยเธอก็รับหน้าที่เป็นติวเตอร์ธรรมดา คอยสอนเกี่ยวกับเรื่องการใช้โปรแกรมในการดีไซน์ต่าง ๆ ด้วยความที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยสำหรับนักศึกษาวัย 19 ปี ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จนอยู่มาวันหนึ่ง เธอสังเกตว่านักเรียนที่เธอสอนอยู่มองว่าการใช้โปรแกรมออกแบบพวกนั้นมันยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียนรู้ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้คนในสมัยนี้ บวกกับความที่เธอก็ไม่ชอบรูปแบบการทำงานที่ซับซ้อนของมันด้วย
ทำให้เธอผุดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าหากวันหนึ่งมีแพลตฟอร์มบางอย่างเพื่อมาช่วยให้การออกแบบทำนองนี้ง่ายขึ้นก็คงจะดีเหมือนกัน นักเรียนก็ทำได้ไวขึ้น ส่วนเธอก็คงจะสอนง่ายขึ้นด้วย

ภาพโดย gustavo fring จาก Pexels
เมลานี เริ่มสร้างโครงการจากแนวคิดนี้กับกลุ่มของเธอให้ชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือทุน ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังอายุน้อย การหาเงินทุนแล้วสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองคงไม่ใช่งานง่ายแน่ การมองหานักลงทุนมาสานต่อไอเดียของพวกเธอดูจะเหมาะสมยิ่งกว่า
โชคดีที่เธอเป็นคนเข้าสังคมได้ดีระดับหนึ่ง สมัยที่เธอหัดเรียนกีฬาทางน้ำจนได้มีสังคมใหม่ เธอได้เจอกับนักลงทุนอย่าง โอเวน วิลสัน กับ วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน จากนั้นพวกเขาก็นั่งคุยกันอย่างถูกคอ จนเมลานี ได้ขายไอเดียของเธอออกไป และดูเหมือนว่าจะได้ผลเอาเสียด้วย
เมื่อทุนพร้อม ไม่จำเป็นต้องรออะไรอีกแล้ว เธอตัดสินใจสานต่อไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จนในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ และเป็นที่มาของ Canva แอพพลิเคชั่นกราฟิกดีไซน์สำเร็จรูปที่เป็นที่นิยมในโลกปัจจุบัน
ไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้ามองจากปลายทางความสำเร็จ แต่ถ้ามองจากต้นทางจะพบว่ากว่าจะเดินทางมาแต่ละก้าวได้ไกลขนาดนี้ ต้องผ่านอะไรมากมาย อุปสรรคภายนอกแค่เรื่องยิบย่อย แต่การต่อสู้กับสิ่งที่อยู่ในใจเราเองนี่สิ คือสิ่งที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง
จริง ๆ แล้วงานที่ไม่ชอบ ก็อาจไม่ได้แย่ไปเสียหมด ถ้าเรามองอย่างแจ่มแจ้ง มองให้ทะลุปรุโปร่ง จะมองเห็นโอกาสสอดแทรกอยู่ตามไหล่ทางมากมาย ทีนี้ก็อยู่ที่ใครจะช้อนเอาไปได้มากน้อยแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนแล้วว่ามีคุณสมบัติมากพอหรือเปล่า
แต่แน่นอนการเจองานที่ไม่ชอบ สิ่งแรกที่ทุกคนคิดในใจและส่วนมากจะแสดงออกมาคือการบ่น เพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้นภายในใจ ในทางจิตวิทยาการบ่นให้คนอื่นรับฟังก็ช่วยผ่อนคลายได้ดีระดับหนึ่งเลยนะ แต่ไหน ๆ ก็จะต้องเสียแรงในการพ่นคำออกไป มันควรได้อะไรมามากกว่านี้
ถ้าเราไประบายให้กับเพื่อนสนิทหรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานสูง ๆ นอกจากจะปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจ เราก็อาจได้แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาในหัว บางครั้งตรงนี้แหละสามารถทำให้เราเปลี่ยนมุมมองได้ไปตลอดกาล
อีกเหตุผลสำคัญ ยิ่งถ้าเจองานที่ไม่ชอบ ต้องยิ่งทำให้ดีกว่าเก่า เพราะถ้าไม่ชอบ แสดงว่าเวลาทำงานคุณต้องเค้นความสามารถออกมามากกว่าปกติ เหมือนกับนักเขียนถ้าได้เขียนเรื่องที่ชอบก็จะใช้เวลาไม่นาน ปล่อยใจสบายไปเรื่อย ๆ แถมงานก็สำเร็จอีกด้วย
แต่พอเราต้องเค้นในสิ่งที่ไม่ถนัด เมื่อสมองจดจ่อกับอะไรที่มากกว่าเดิม สมาธิต้องเพ่งไปที่จุดนี้ ก็ทำให้ปลดล็อคเทคนิคบางอย่างที่เราไม่เคยมี ซึ่งครั้งแรกมันยากแน่นอนอยู่แล้ว แต่รับรองได้เลยว่าครั้งต่อไปถ้าเราเจองานไม่ถนัดอีก ร่างกายกับสมองจะจดจำ และดึงศักยภาพออกมาใช้ในเวลานั้นแน่
หรือถ้าแบบไม่ไหวแล้ว สุดจะทนกับงานที่ไม่ชอบ ให้ลองคิดดูว่าปกติแล้วเรามักเข้าใจว่า ทำงานมาต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า ให้มีประโยชน์มากที่สุด ให้คุ้มกับที่เหนื่อยมา และถ้าเราอยากได้ของไร้สาระที่มันเติมเต็มในวันที่ขาดกำลังใจ ให้คิดไว้ว่างานพวกนี้จะแลกมาให้เพื่อความสุขของเราน่าจะช่วยให้อยากทำงานมากขึ้น
ไม่ว่าใครคงต้องเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจบ้าง งานไม่ชอบในวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ชอบตลอดไปสักหน่อย การทดลองทำหลายอย่างจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของเราว่าควรเดินไปทางไหน และถึงแม้สุดท้ายจะพบว่าทางเดิมโอเคที่สุดแล้ว อย่างน้อยให้คิดเสียว่า ก็ได้เงินมาซื้อของฟุ่มเฟือยแล้วกัน
จะว่าไป…ก็ฟังดูดีอยู่นะ
..
เรียบเรียงโดย: กฤตเมธ อันสมัคร
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก Pexels