จะยอมอดหรือยอมออม?
ออมไปทำไม?
เก็บเงินเอาไว้ใช้เพื่ออะไร?
ออมไว้เพื่ออะไร?
ก่อนจะมาตอบคำถามนั้น อยากให้ทุกคนลองแง้มกระเป๋าตังค์ของตัวเองแล้วเช็กดูว่า เงินที่อยู่ในนั้นมีเก็บเหลือเผื่อใช้ได้อีกหลายเดือนหรือมีแค่พอประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ
หากคุณเป็นอย่างแรกก็ขอชมเชยไว้ตรงนี้ แต่ถ้าหากคุณเป็นอย่างหลังก็อยากจะขอพูดอะไรสักเล็กน้อย
การออมถือเป็นการช่วยเหลือตัวเองในยามยากไร้
ลองคิดไปถึงอนาคตดูว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลย์ออฟกระทันหัน อุบัติเหตุ หรือป่วยหนักแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ในบัญชีของคุณมีเงินติดอยู่ไม่ถึง 4 หลัก คุณจะทำอย่างไร?
- กู้เงิน
- หยิบยืมเพื่อนหรือคนรู้จัก
- หรือจะขายของมีค่าที่มีคุณค่าสำคัญทางใจ
ไม่ว่าจะทางไหนก็ดูเป็นตัวเลือกที่น่าลำบากใจทั้งนั้น ในตอนที่คุณตกต่ำด้านการเงินก็คงจะมีสักแว้บที่คิดว่า ‘น่าจะเตือนให้ตัวเองเก็บออมเงินไว้บ้าง’

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
ไม่ต้องมองย้อนไปตอนที่ลำบากหรอก ลองนึกภาพในตอนที่คุณกำลังเดินเล่นสบายใจเฉิบแล้วจู่ ๆ ของที่คุณหมายมองตามานานกำลังลดราคาอยู่ดูสิ หรือหากในวันหยุดแสนสุขใจ คุณกำลังนั่งไถโทรศัพท์ไปเจอกับโฆษณาที่ยิงดังปังเข้ากลางเป้าใจของคุณ สิ่งของในเหตุการณ์สมมุตินี้ถูกใจคุณอย่างมากจนแทบจะละนิ้วและสายตาไปจากมันไม่ได้ คุณจะทำอย่างไรกับมัน?
หากเช็กยอดเงินที่มีใช้ทั้งหมดในเดือนนี้แล้วมันเกาะเส้นตายไว้แบบพอดีเป๊ะ คุณอาจจะต้องเดินคอตกหรือปัดนิ้วหนีภาพนั้นอย่างน่าเสียดาย
แต่ถ้าหากคุณมีเงินเก็บที่มีไว้สำหรับใช้โดยเฉพาะ คุณก็สามารถหยิบของชิ้นนั้นไปจ่ายหน้าเคาน์เตอร์หิ้วกลับบ้านหรือจิ้มมันลงตระกร้าแล้วโอนตังค์ให้คนขายได้อย่างมีความสุข โดยที่ต้องกังวลว่ามันจะกระทบกับรายจ่ายประจำเดือนของเราอีกด้วย
อีกกรณีหนึ่งคือการวางแผนไปถึงอนาคต วาดฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า การออมก็เป็นการช่วยต่อเติมฝันนั้นให้เป็นจริงได้เช่นกัน การเก็บหอมรอมริบไปเรื่อย ๆ อาจจะนำพาโฉนดที่ดินพร้อมบ้านหลังใหญ่เข้ามาอยู่ในมือของคุณ หรือหากจะคิดถึงตอนเกษียณว่าอยากใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขก็เริ่มวางแผนการออมเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่เป็นภาระของใครเขา
ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างไหน การเก็บออมเงินไว้ก็ถือเป็นหนทางที่สบายใจกว่าทั้งนั้น
แต่ในอีกมุม แน่นอนว่าการเก็บออมถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับการออมเงินด้วย
ยกตัวอย่างคุณ ก ที่ฐานะทางบ้านไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด พ่อและแม่สามารถส่งเสียให้เรียนได้ถึงแค่วุฒิการศึกษามัธยมปลายเท่านั้น คุณ ก เข้ามาทำงานในเมืองกรุงจนอายุได้ 40 เป็นแม่บ้านบริษัทเงินเดือนไม่ถึงหมื่น แค่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายเดือนก็แทบจะไม่มีกินแล้ว ซ้ำในปี 63 ยังถูกจ้างให้ออกจากงานเพราะบริษัทล้มด้วยวิกฤตโควิด-19
ในกรณีข้างต้นที่ยกตัวอย่างมา หากคุณ ก ไม่มีเงินเก็บก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำ พ่วงด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโรคระบาด ทำเอาหลาย ๆ คนล้มกันไม่เป็นท่า รายได้ที่ได้แต่ละเดือนก็แทบจะเต็มกลืนอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าจะเอาจากที่ไหนมาออมได้
หากมีข้อโต้แย้งอีกว่าก็ให้เอาเวลาว่างที่มีไปหางานอื่น ๆ ทำ เพื่อหาเงินมาเก็บออม แต่บางคนก็อาจจะไม่ทราบว่าบางคนแค่ทำงานเดียวก็อาจจะกินเวลานอนไป หรือด้วยวุฒิการศึกษาที่น้อย สายงานที่มีให้ทำจึงแคบลงไปอีกด้วย หรือหากจะบอกว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน คนเหล่านั้นเกี่ยงงานเอง ก็อยากให้ลองถามตัวคุณเองดูว่าทุกวันนี้คุณเคยบ่นเรื่องงานที่ตัวเองดูแลรับผิดชอบอยู่บ้างหรือไม่ และลองตั้งคำถามดูว่าทำไมเราไม่อยากเจองานที่ทำเงินได้อย่างง่าย ๆ บ้างหรือ?

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
หากคุณ ก มีความตั้งใจที่จะออมแม้แต่ 5 หรือ 10 บาทก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากคุณ ก ไม่มีเงินแม้จะออมสักบาทก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะโทษคุณ ก เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การออมเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงอย่างเดียวว่าเรามีหรือไม่มีเงินเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วย
- คุณ ก อาจจะต้องซื้อเสื้อใส่ทำงานใหม่
- คุณ ก อาจจะต้องเก็บเงินไว้เป็นค่าโดยสาร
- คุณ ก อาจจะต้องส่งเงินกลับให้ทางบ้าน
เป็นต้น
นอกจากนี้ การออมไม่ใช่ว่าต้องเก็บทุกบาททุกสตางค์ที่เหลือจากรายจ่ายจำเป็นลงกระปุกทั้งหมด คุณสามารถแบ่งเงินก่อนลงกระปุกเอาไว้สำหรับใช้จ่ายไปกับเรื่องที่ตนเองชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟิกเกอร์โมเดล เกม หนังสือการ์ตูน เสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือของกินอร่อย ๆ ให้ถือเสียว่าเป็นรางวัลสำหรับตนเองที่ทำงานหนัก แต่ก็มีข้อแม้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกินตัวจนต้องกู้หนี้ยืมสินใครเขามา
สรุปแล้วการออมเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคตไม่ว่าจะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน การจับจ่ายใช้สอยไปกับสิ่งของที่ตนเองพอใจ หรือเก็บไว้เพื่อก่อร่างสร้างตัวนั้นต่างก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เมื่ออ่านบทความนี้จบก็อย่าลืมคิดวางแผนเรื่องการออมด้วยนะ
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels