ภาชนะปลูกไม้สไตล์คนรักธรรมชาติ
การปลูกต้นไม้เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นหญ้าไปจนถึงป่าใบ ก็แสดงให้เห็นถึงความร่มรื่นได้ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะพื้นที่กว้าง ๆ หรือพื้นที่แคบ ๆ ก็สามารถเลือกปลูกต้นไม้ให้เข้ากับบริเวณนั้น ๆ ได้โดยเลือกใช้ภาชนะให้เหมาะสม หรือจะหยิบสิ่งที่ใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้ก็สามารถทำได้
ในบทความนี้จะกล่าวถึงภาชนะที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้รักธรรมชาติในหลาย ๆ แบบ ดังนี้
ถุงเพาะชำ

ภาพถ่ายโดย Tima Miroshnichenko จาก Pexels
ถุงเพาะชำเป็นภาชนะปลูกต้นไม้ที่มีหลายขนาด ผู้คนอาจจะคุ้นเคยกับถุงเพาะชำสีดำกันแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าถุงเพาะชำก็มีสีขาวเหมือนกัน แต่ราคาแพงจะกว่าถุงเพาะชำแบบสีดำ เนื่องจากถุงเพาะชำสีขาวดูดความร้อนน้อยกว่า ถุงเพาะชำมีอายุการใช้งาน 1 – 2 ปี เหมาะสำหรับการปลูกผักอายุสั้น
กระถางต้นไม้

ภาพถ่ายโดย Tiia Pakk จาก Pexels
กระถางเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ที่มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กระถางพลาสติก กระถางดิน กระถางปูน กระถางไม้ ตั้งแต่ขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่
หากให้เปรียบเทียบว่ากระถางชนิดไหนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของผู้เขียน ก็ขอบอกเลยว่ากระถางพลาสติกเป็นกระถางที่นำมาใช้งานได้เหมาะสมและสะดวกที่สุดแล้ว เนื่องจากกระถางพลาสติกมีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ง่ายกว่ากระถางดินหรือปูน หากยิ่งเป็นกระถางใหญ่ แค่น้ำหนักของดินก็มากแล้ว ฉะนั้นกระถางพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาจึงเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้กระถางพลาสติกยังทำความสะอาดง่าย สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งจนกว่าจะแตกหรือพัง และยังมีราคาที่ไม่แพง ไม่ทำให้กระเป๋าฉีกแต่อย่างใด โดยเริ่มตั้งแต่ราคาใบละบาท มีหลายสีและมีหลายทรงให้เลือกใช้งานได้ ไม่ว่าสะสีขาว น้ำตาล ดำ หรือทรงสี่เหลี่ยม ทรงมน ๆ ทรงสามเหลี่ยม
นอกจากนี้การหยิบของเหลือใช้รอบตัวมาใช้เป็นภาชนะในการปลูกต้นไม้ก็เนอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มและยังเป็นการอนุรักษ์โลกไปในตัวด้วย โดยของที่สามารถทำมาใช้เป็นภาชนะที่จะยกตัวอย่างมีดังต่อไปนี้
ขวดน้ำ

ภาพถ่ายโดย Lisa Fotios จาก Pexels
ขวดน้ำ เป็นภาชนะที่หลายคนเลือกใช้ เพราะหาง่ายและมีขนาด สีสัน และรูปทรงที่หลากหลาย เพียงแค่เจาะรูที่ก้นขวดเล็กน้อยกันน้ำขังก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว ไม่ว่าจะวางบนพื้นหรือนำไปห้อย ขวดน้ำก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้ นอกจากขวดน้ำจะไม่ยุ่ยง่าย ๆ แล้ว ขวดยังสามารถเก็บน้ำได้ดีอีกด้วย
ยางรถยนต์เก่า

ภาพถ่ายโดย Scott Webb จาก Pexels
ยางรถยนต์เก่า เป็นภาชนะอีกอย่างหนึ่งที่จะเห็นกันได้ตามรั้วบ้านทั่วไป เนื่องจากยางรถยนต์เก่านั้นเหนียวจึงถือว่าทนทาน ยางรถยนต์จะใส่พืชผักที่จะปลูกได้น้อย แต่มีวิธีแก้ไขโดยการตัดแก้มยางด้านบนออก เหลือไว้แค่ด้านล่าง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้สามารถลงพืชปลูกได้มากขึ้น
กระสอบ

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
กระสอบ เป็นพาชนะที่เห็นมากในการใช้สำหรับปลูกพืชผักหลากหลายชนิด เพราะมีราคาถูก เพียงใบละ 5 บาท และสามารถเลือกใช้ได้มากแบบ ทั้งกระสอบปุ๋ย กระสอบแป้ง กระสอบข้าว กระสอบอาหารสัตว์ หรือกระสอบน้ำตาล
สาเหตุที่คนเลือกใช้กระสอบก็เพราะสามารถใส่ดินได้เยอะกว่า 20 ลิตร ทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้กระสอบยังสามารถเปลี่ยนรูปทรงให้เข้ากับพืชพันธุ์หรือต้นไม้ที่จะปลูกได้
เช่น ถ้าผักเป็นไม้พุ่มแบบพริกหรือมะเขือ ก็ควรปลูกแนวตั้ง โดยพับปากลงแล้วเอาดินใส่ จึงค่อยปลูกลงไปถุงละต้น แต่ถ้าเป็นผักใบแบบสลัด ผักกาด หรือคะน้า ควรเติมดินให้เต็มแล้วมัดปากกระสอบให้แน่น วางกระสอบเป็นแนวนอน เอามีดเจาะรูบนกระสอบเป็นแถวจึงค่อยเอาต้นกล้าลงปลูกก็จะได้ต้นเป็นจำนวนมาก
ทว่ากระสอบก็มีข้อเสียคืออายุการใช้งานสั้นเพราะยุ่ยง่าย เพียงปีเดียวก็ยุ่ยแล้ว
กล่องโฟม

Photo created by jannoon028 on freepik
กล่องโฟม เป็นภาชนะปลูกต้นไม้ที่มีน้ำหนักเบา มีขนาดที่หลากหลาย ส่วนใญ่กล่อมโฟมมักจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจึงง่ายต่อการจัดเรียง มีความทนทาน และข้อดีพิเศษของกล่องโฟมคือ ดินไม่ร้อน ต้นไม้ชอบและเติบโตเป็นอย่างดี แต่การจะใช้กล่องโฟมเป็นภาชนะในการปลูกต้นไม้นั้นต้องเจาะรูระบายน้ำที่ก้นกล่องเสียก่อน ไม่เช่นนั้นน้ำจะขัง ทำให้ผักเน่าตาย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาชนะตามข้างต้นไปทั้งหมดหรอกนะ หาอย่างอื่นรอบตัวมาประยุกต์ก็ได้นะไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้เท่านั้นที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ แต่รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุเพื่อเป็นภาชนะในการรองรับด้วย นอกจากจะไม่ทำให้เสียเงินทองเพิ่มแล้วยังช่วยให้โลกใบนี้ร่มรื่นและเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปในตัว
การปลูกต้นไม้ให้ถูกที่และเหมาะสมไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน แถมยังมีแต่จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกต่างหากนะ
ข้อมูลจากหนังสือ: “ปลูกผักบนโต๊ะ ปลูกบนพื้นที่เล็ก ๆ ปลูกบนดาดฟ้า” ผู้เขียน ดร.ทีศักดิ์ วิยะชัย
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels