
ภาพโดย Liza Summer จาก Pexels
ไหนใครอยากเป็นเศรษฐี ใครอยากขับรถเบนซ์ ใครอยากแช่ออนเซ็น หรือใครอยากมีชีวิตสุขสบายกว่าที่เป็น ได้โปรดฟังทางนี้ เพราะกำลังพาไปทำความรู้จักกับกลเม็ดเคล็ดไม่ลับ วิธีสร้างเงินเก็บให้ได้มากกว่าที่เคยทำ รับรองว่าได้ผลกับทุกคนแน่นอน
แต่ก่อนเรามักจะถูกพร่ำสอนเสมอว่า ต้องรู้จักเก็บออมเงิน เพื่อที่จะไปใช้ในอนาคต คำถามก็คือ แล้วอนาคตที่ว่าคือเมื่อไหร่ เวลาไหนที่เราจะใช้เงินที่สะสมเอาไว้ได้ หากว่าเราออมเงินมาเป็นระยะเวลาสักพักหนึ่ง แล้วเกิดอยากได้สิ่งของชิ้นหนึ่งขึ้นมา เวลานี้หรือเปล่า คือช่วงเหมาะสมที่สุด
บางคนก็บอกว่า การซื้อของใช้เป็นเรื่องไม่จำเป็น ควรเก็บเอาไว้เผื่อว่าต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต การสำรองเงินไว้ก็ทำให้อุ่นใจมากกว่า
ชุดข้อมูลที่คิดว่าทุกคนน่าจะรู้มาเท่าๆกันแล้ว คือถ้าอยากออมเงินให้ได้ประสิทธิภาพดี และเป็นที่ยอมรับในหมู่วงกว้าง การลงทุนสร้างผลตอบแทนก็ดูจะเหมาะไม่น้อย เพียงแค่เจียดเงินเดือนบางส่วนออกมา ก็ต่อเติมกำไรได้งอกเงยมหาศาล
เริ่มกันที่ การเปิดบัญชีออมเงินแบบดิจิทัล สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองอาจไม่เหมาะกับการออมเงินทุกเดือน หรือไม่การันตีว่าวินัยจะมีมากพอก็แนะนำวิธีนี้เหมือนกัน เพราะว่าจุดเด่นคือกำไรค่อนข้างดี และเหมือนว่าจะไม่มีการกำหนดขั้นต่ำแต่อย่างใดด้วย
แต่สำหรับใครชอบอะไรที่เร้าใจยิ่งกว่ามารอกำไรในทุกเดือนหรือทุกปีเท่านั้น สลากออมทรัพย์ ก็ดูจะถูกจริตกับคนเหล่านี้พอสมควร เพราะหากกำเงินแบงค์สีเทามาแค่ใบเดียว ก็เป็นเจ้าของสลากได้อย่างง่ายดาย ระยะเวลาลงทุนประมาณ 1 ปี แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ลุ้นโชคในแต่ละเดือน ยิ่งด้วยนิสัยชอบเสี่ยงโชคแบบชาวเรา ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว
กองทุนรวม คำนี้ก็มีมาอย่างยาวนาน ใครที่กำลังมองหากำไรที่สูงกว่าวิธีที่กล่าวมาข้างต้น ทางเลือกนี้ก็ดูจะเข้ามือที่สุด อาจต้องมีความรู้เรื่องลงทุนบ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ก็ไม่น่าใช่ปัญหาในการเรียนรู้เพิ่มเติม และที่สะดวกคือมีผู้จัดการกองทุนมาบริหารเงินให้อีก บวกกับประเภทกองทุนก็ให้เลือกสารพัด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จะกำหนดเอาไว้
บางกองทุนมีเงินเพียง 1 บาท ก็อาจซื้อได้แล้วด้วยซ้ำไป หากศึกษารายละเอียด วางแผนรับมือความเสี่ยงเป็นเมื่อไหร่ กำไรก็อาจจะกลับมาแบบไม่ขาดสายทำนองนี้
แต่ก่อนที่จะลงทุนหรือออมเงินอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่คิดว่าควรจะต้องมีคือ การมีใจที่พร้อมเก็บเงิน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ท่องไว้ว่าจะรวยอย่างเดียว ต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วย การวางแผน ศึกษาช่องทาง และประเมินตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอยู่เหมือนกัน
ว่ากันว่าการออมเงินของแต่ละประเทศ สามารถบอกวินัยทางการเงินได้ ประเทศไหนที่ผู้คนรู้จักการออมเงินอย่างเป็นระบบก็ส่งผลให้การเงินในประเทศนั้นมีความมั่นคงระดับหนึ่ง
เมื่อพูดถึงประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัย ‘ญี่ปุ่น’ จะเป็นชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว ด้วยภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ ผู้คน สภาพแวดล้อม ชวนให้ทุกครั้งที่พูดถึงจะต้องเต็มไปด้วยความเรียบง่าย
ในเรื่องการเงินของเขาก็เป็นไปในทางเดียวกัน คนญี่ปุ่นมักมองอนาคตและวางแผนในระยะยาว หนึ่งในนิสัยที่คนญี่ปุ่นส่งกันจากรุ่นสู่รุ่นคือความรอบคอบ พวกเขาไม่ชอบความประมาท เช่นกันการออมเงินที่เป็นวิธีหลักของพวกเขาคือการฝากธนาคาร
ด้วยเหตุนี้เองเคยมีเหตุการณ์ถึงขั้นว่าธนาคารต้องออกประกาศว่า ดอกเบี้ยการฝาก 0% เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนไปหาทางลงทุนอื่นแทน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนมากไปฝากอยู่จนปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้สูงอายุ และก็สอนลูกหลานในแบบเดียวกันต่อเนื่องไป
ยังไม่พอเพียงเท่านั้น ถ้าใครติดตามซีรี่ย์หรือหนังจากญี่ปุ่น มักจะเห็นว่าภาพประจำคือ พนักงานออฟฟิศแต่งตัวเรียบง่ายไม่ฉูดฉาดมาก นั่นหมายความว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ทำงานหนักมาก และเน้นการประหยัดเป็นที่หนึ่ง มักจะไม่ค่อยเสียเงินกับเรื่องอะไรที่ไร้สาระ ชุดแบบเดิม กินแบบเดิม ใช้ชีวิตเรียบง่ายตามสไตล์ของเขา เพื่อมาเน้นการวางแผนเงินในอนาคตอย่างเต็มที่ เพราะคงไม่มีใครยากลำบากตอนแก่ จริงไหม

ภาพโดย Nguyễn Khanh จาก Pexels
ต่างกับหลายประเทศในยุโรป มองว่าการฝากเงินกับธนาคารขาดสีสัน กำไรก็แสนน้อย สู้เอาไปลงทุนตามแหล่งต่างๆ หรือเปิดกิจการของตัวเอง ก็น่าจะมีโอกาสได้กำไรมากกว่า
เห็นไหมว่ามุมมองแนวคิดที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้การแสดงออกมาก็ย่อมต่างกันไปด้วย
ผมเคยอ่านเจอประโยคในหนังสือเล่มหนึ่ง พูดประมาณว่า ให้ใช้เงินอย่างเต็มที่ไปเลย ประหยัดไม่ได้ทำให้รวย แต่ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นต่างหาก ถึงจะรวยอย่างแท้จริง
ไม่รู้ว่านี่คือประโยคพูดกันขำๆในวงเพื่อนหรือว่าพูดจริงจัง ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ว่ามันจะดีกว่าไหม ถ้าเราประหยัดด้วยพร้อมกับยังหารายได้เพิ่มได้อีก ยิ่งทำให้อะไรก็ดูจะสมบูรณ์กว่า
เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นจากวิธีออมในการลงทุนรูปแบบต่างๆ บวกกับทฤษฎีที่เจาะลึกวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ก็ทำให้มองกลับมาที่ตัวเองและโยนคำถามเล็กๆทิ้งไว้ว่า ตอนนี้เรามีเงินเก็บมากพอสำหรับใช้ในช่วงท้ายของชีวิตหรือยัง เรามีประกันชีวิตที่สามารถรองรับในวันที่เจ็บป่วยได้หรือยัง
ยอมรับว่าตอนแรกด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยมั้ง คิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องของคนยุคหลังทั้งนั้น วัยรุ่นแบบเราต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ เอาไว้ค่อยอายุสามสิบหรือสี่สิบค่อยคิดก็แล้วกัน
แต่มาความเป็นจริง ชีวิตไม่เคยรอให้เราถึงเวลาหรอก บางครั้งเรื่องต่างๆก็เข้ามาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ถ้าหลักไม่ดีก็มีเซบ้าง ล้มบ้าง หากคว้าจับไม่ทัน ก็ปลิวไปตามคลื่นลมที่ผ่านเข้ามา
ลองคิดดูว่าหากเงินเดือน 15,000 บาท เดือนนึงคุณทำงานประมาณ 20 วัน วันละ 8 ชั่วโมง นั่นจะเท่ากับว่า 1 วันคุณทำงานได้เงิน 750 บาท อาหาร 3 มื้อประมาณ 150 บาท ค่าเดินทางอีก 100 บาท นี่ยังไม่นับค่ากาแฟ ขนมจุกจิกรายทางสารพัด สรุปแล้ววันหนึ่งเหลือเงินเท่าไหร่กัน
การออมจริงแล้วมีหลายวิธี ไม่เคยมีใครยืนยันว่าอันไหนถูกผิด บางคนอาจแยกไว้ในบัญชีเพื่อเอากำไร แบ่งไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้จ่าย หรือแบ่งไว้หยอดกระปุกเพื่อมาดูในช่วงสิ้นปี
ใจความสำคัญคือเราต้องเห็นคุณค่าของเงินทุกบาทก่อน ตราบใดที่เราไม่หยุดหาเงิน มันก็จะไม่มีทางหมดไป แต่จะทำงานทุกวันอย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับบางคน การศึกษามองหาลู่ทางอื่นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เหมือนกับจะเดินหรือวิ่งสุดท้ายก็ปลายทางเหมือนกัน
แต่ละรูปแบบก็มีแนวคิดต่างกัน แล้วอีกนานแค่ไหนที่เราจะต้องไล่ทำตามคนนั้นคนนี้เรื่องการออมเงิน วิธีคนนั้นดี วิธีคนนี้น่าสนใจ สุดท้ายก็อาจล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะขาดแรงจูงใจ แต่ถ้ามาจากแนวคิดของเราเอง ก็น่าจะดีกว่าเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าที่คิดมามันดีพอหรือยัง
คนบางคนไม่คิดจะต่อสู้เพื่อเส้นทางชีวิตของตัวเอง ก็จะโดนคนอื่นเอาเปรียบและชักจูงได้ง่าย ชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้ยืดยาวนัก หากไม่ต่อสู้ดิ้นรนหาหนทางที่เป็นของเราเอง ก็จะใช้ชีวิตไม่เป็นตัวเอง และถ้าเป็นเช่นนั้น ชีวิตจะไปมีความสุขได้อย่างไร..
…
อ้างอิง: bolttech.co.th
เรียบเรียงโดย : กฤตเมธ อันสมัคร
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สำนักพิมพ์ 7dbook&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก : Pexels