
ภาพโดย Văn Thắng จาก Pexels
เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า ถ้าอยากรู้อะไรมากขึ้น ให้พาตัวเองไปอยู่ในสังคมแบบนั้นบ่อยๆ สภาพแวดล้อมจะเป็นตัวพาเราให้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น จนเมื่อถึงวันหนึ่งเราจะซึมซับอะไรบางอย่างไปเอง
เหมือนกับถ้าคนอยากเก่งภาษา ต้องพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวหรือย่านที่ชาวต่างชาติอยู่กันเยอะๆ เพื่อได้ฝึกลองสนามจริงดูบ้าง
เหมือนกับคนขับรถแท็กซี่ หรือพ่อค้าแม่ขายในย่านเมืองท่องเที่ยว จะมีทักษะการสื่อสารได้หลากลายภาษากว่าคนทำงานออฟฟิศบางคนเสียอีก
ถามว่ารูปแบบประโยคสมบูรณ์ไหม แน่นอนว่าไม่ แต่พวกเขามีความกล้าในการแสดงออก เพราะมันคืออาชีพเลี้ยงปากท้องของเขา ถ้าไม่ทำก็หมายถึงว่าจะไม่ได้เงินนั่นเอง
จึงทำให้ผมตกตะกอนบางอย่างได้ว่า ถ้าคนเก่งต้องไปอยู่ในเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าบางคนไม่ได้อยากเก่งละ แล้วต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ต้องรับมือกับช่วงเวลาแบบนี้อย่างไรกัน
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร้านหนังสือชื่อดังในย่านใจกลางเมือง เป้าหมายแรกคือซื้อเวลาเพื่อที่จะไปทำธุระต่อในช่วงที่เวลายังมาไม่ถึง
การเดินอย่างไม่มีจุดหมายมันดูเคว้งคว้างเหมือนกัน กวาดสายตาไปทางไหนก็มีแต่หนังสือเต็มไปหมด แต่ไหน ๆ ก็มาอยู่ตรงนี้ อยู่ดีดีก็อยากจะรับบทนักสำรวจ เดินสำรวจรอบร้านหนังสือ ว่ามันมีอะไรบ้าง
เชื่อว่าหลายคนต้องไม่เคยสังเกตแน่ๆว่าในร้านหนังสือ ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่ประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยชนิดที่อาจต้องอุทานในใจว่า “อิหยังวะ” มีของแบบนี้ขายในร้านด้วยหรือนี่
ทันทีที่เดินเข้าไป ผมตัดสินใจมุ่งหน้าไปโซนแมกกาซีนเป็นอันดับแรก ซึ่งถือเป็นมุมโปรด ข้อดีของมุมนี้คือจะมีร้อยแปดพันเก้านิตยสารหลากหลายประเภทให้ผู้อ่านเลือกสรรได้ อาจจะเหมาะสำหรับนักอ่านมือใหม่ แหล่งรวบรวมข่าวล่าสุด สำหรับคนที่อาจยังไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไร สามารถจับจ่ายเลือกประเภทลงตะกร้าในสมองได้จากตรงนี้เลย
ในจุดตรงนี้แหละ คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวันนั้นของผมเลย เมื่ออะไรดลใจก็ไม่รู้ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าสมองกำลังหลั่งสารโนเรฟิเนฟริน ซึ่งจะกระทบสมองในส่วนของการควบคุมสมาธิและปฏิกิริยาตอบสนอง มันส่งผลให้อยู่ดีดีมุมมองของผมก็เปลี่ยนไป กลับรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเราสักเท่าไหร่ จึงลองหามุมสงบนั่งพักแล้วพิจารณากับตัวเองว่าความรู้สึกนี้มันเกิดจากอะไรกันแน่

ภาพโดย Polina Zimmerman จาก Pexels
ย้อนไปในตอนเด็ก ผมเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือเลย อย่าว่าแต่หนังสือเรียน แม้แต่หนังสือการ์ตูนที่น่าจะมีข้อยกเว้นได้ ก็ไม่ชอบอ่านสักเท่าไหร่ จึงชื่นชอบการดูหรือฟังเสียมากกว่าในช่วงเวลานั้น นั่นก็คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่กับนิสัยรักการอ่าน และมันก็เป็นแบบนั้นเสมอมา
กระทั่งเติบโตขึ้นมา ความขี้เกียจอ่านก็อยู่ในนิสัยของตัวผม แต่ด้วยความที่สมองขยายขึ้นตามตัวในทุกวัน ก็ทำให้มีพื้นที่เหลือเพิ่มขึ้น คงได้เวลาเพิ่มชุดข้อมูลแล้วแหละ เริ่มสนใจการอ่านนิดหน่อย ช่วงมหาลัยเลือกเข้าคณะวารสารศาสตร์ที่ขึ้นชื่อการอ่านและเขียนเป็นหลัก ยิ่งท้าทายความสามารถเข้าอีกขั้น แต่ก็ดูมีแนวโน้มที่ไม่เลว
นั่นก็ทำให้ได้รู้ว่าแท้จริง ความรู้สึกแปลกที่เกิดขึ้นกลางร้านหนังสือ คงมีเบื้องหลังมาจากเรื่องราวเหล่านี้แน่
โรเบิร์ต ซัตตัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือชื่อ No Asshole Rule หรือชื่อไทยว่า กฎไร้คนแย่ (จริงๆชื่อไทยของเล่มนี้อาจดูรุนแรงกว่านี้นิดหน่อย) เขาได้นิยามถึงเรื่องของการรับมือคนที่แย่ในชีวิตประจำวันไว้ว่า บางคนคิดว่าคนที่แย่อาจเป็นคนที่คอยถากถางผู้อื่น คอยแต่จะขโมยเครดิตของผู้อื่น หรือจะเอาเปรียบผู้อื่น ไม่คิดจะสนใจใคร
แต่สำหรับซัตตัน เขามองว่าคนแย่ๆคือคนที่จริงๆแล้วสนใจผู้อื่นมากเป็นพิเศษ แต่เป็นการสนใจแบบอยากให้ผู้อื่นเจ็บปวดจิตใจ พร้อมสร้างความเจ็บปวดได้เสมอ
อีกข้อคิดสำคัญจากแนวคิดทฤษฎีรับมือคนเฮงซวยแบบนี้ คือการที่หลายคนมักจะคิดว่าคนอื่นแย่ ยกเว้นตัวเอง หรือถ้าทำอะไรไม่ดีลงไปก็จะให้เหตุผลว่า ‘คนรอบข้างมันแย่ต่างหาก’ มันก็ไม่ผิดอะไรถ้าเราจะทำตัวแย่ นั่นก็ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกดีขึ้นเพราะมีเหตุผลมารองรับ
นอกจากนั้นเขาได้แทรกวิธีเช็คว่าใครคือคนที่แย่ในชีวิตจากการสนทนา หากว่าเราคุยกับใครสักคนแล้วรู้สึกว่าแย่ รู้สึกว่าโดนเอาเปรียบหรือไม่สบายใจบางอย่าง ไม่มีพลังบวกไม่ว่า ยังแถมพลังลบมาให้แบบเนียนๆอีก คนแบบนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นมลพิษของเราได้ ถือเป็นการเปรียบเปรยที่เจ็บแสบทีเดียว
สุดท้ายถ้าเริ่มจับสังเกตได้แล้วว่าใครคือบุคคลอันตรายในชีวิต สิ่งที่ควรทำต่อไป ซัตตันแนะนำให้สำรวจตัวเองก่อนว่าเราถือไพ่เหนือกว่าคนนั้นเท่าไหร่ อย่างเช่น ถ้าเป็นเจ้านาย ก็อาจจะง่ายหน่อย เพราะแค่ไล่ออก หรือย้ายตำแหน่งก็อาจทำได้ แต่ถ้าเป็นรองคนแบบนั้น ให้ใช้ความอดทนเข้าสู้ ค่อยรวบรวมหลักฐานและหาแนวร่วมชั้นดี ก่อนที่จะมั่นใจแล้วจัดการคนแบบนั้นทันที
แต่ซัตตันก็ทิ้งท้ายไว้ว่า ใช่ว่าที่เขาแนะนำจะถูกแบบปักใจเชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีโอกาสก็ควรคุยกับคนนั้นให้ดีก่อน บางทีอาจไม่แย่อย่างที่คิด เหมือนกับที่เขาว่ากันว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด คือเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรให้ได้
แนวคิดนี้อาจไม่ตรงกับสถานการณ์ในร้านหนังสือของผม แต่มันก็ทำให้เลือกปรับใช้แนวคิดบางอย่างได้เหมือนกัน ทันทีที่นึกทฤษฎีไร้คนแย่ได้ ผมก็ทำการให้กำเนิด “ทฤษฎีไร้นิสัยแย่” ด้วยตัวเองเหมือนกัน สองขาก้าวเดินไปรอบร้านพลันคิดอะไรตามไปด้วย จนมาหยุดที่หมวดการศึกษา นี่สิ่นะจุดเริ่มต้นของนิสัยไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะตำราเรียนพวกนี้หรือเพราะตัวเรากันแน่ ผมคว้ามาเปิดอ่านข้อสอบของมัธยมปลายอีกครั้ง พลางทำให้นึกย้อนอดีต แต่มุมมองต่างไป แม้จะดูไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่อ่านแล้วไม่รู้สึกอยากวางเท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว
เดินต่อมาที่หมวดศิลปะ หวังจะผ่อนคลายด้วยผลงานศิลปะ แต่ก็สะดุดตาไปกับราคาของสีอะคริลิก สาบานได้ว่านี่คือครั้งแรกที่รู้ว่าราคาสีพวกนี้แพงขนาดนี้เลย ทำให้เข้าใจเลยว่าผลงานศิลปะดีดีที่แพงเพราะด้วยวัสดุอุปกรณ์ต้นทุนสูงพอสมควร บวกกับอารมณ์ความรู้สึกที่ศิลปินถ่ายทอดออกมา ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นจนแทบอยากจะเดินไปซื้อผลงานศิลปะสักภาพ โดยที่พร้อมจ่ายในราคาใดก็ได้ และจะไม่ตั้งคำถามสักประโยดเดียว
สุดท้ายเมื่อหันมองนาฬิกาใกล้เวลานัดหมาย เลยขอเดินผ่านโซนพัฒนาตนเองสักหน่อย อยากรู้ว่าในตลาดมีหนังสือเล่มไหนที่สร้างความประทับใจให้เราบ้างไหม ปรากฏว่ามีเต็มไปหมด ผมไล่หยิบทีละเล่มอย่างช้าๆแล้วอ่านคำทิ้งท้ายหลังปกที่นักเขียนมักจะชอบเขียนไว้
จากคนขี้เกียจอ่านตัวหนังสือ กลับหลงเสน่ห์มากขึ้น อาจเพราะเลือกที่จะเปิดใจ จึงทำให้อ่านอย่างไม่เบื่อ และตื่นเต้นทุกครั้งที่เจอคำคมแทงเข้าที่กลางอกแบบบาดลึก ยิ่งทำให้รักตัวหนังสือแต่ละตัวแบบสุดใจ รู้ตัวอีกทีก็เกินเวลานัดไปเสียแล้ว จึงต้องวางหนังสือคืนในชั้นก่อน และเดินออกจากร้านไปในทันที
แต่บอกเลยว่าแม้จะเสียดายที่ไปนัดหมายช้า แต่กลับมีเรื่องราวนี้เติมเต็มในใจ เมื่อเดินพ้นหน้าร้านออกมาสิ่งแรกที่คิดในใจคือ สัญญากับตัวเองไว้เลยว่า ในวันข้างหน้า เราจะกลับมาอ่าน และเอาความรู้สึกแบบนี้กลับไปให้ได้
และตราบจนถึงทุกวันนี้ ความรู้สึกเหล่านี้ ก็ยังคงอยู่กับผม และจะอยู่ตลอดไป..
…
เรียบเรียงโดย : กฤตเมธ อันสมัคร
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สำนักพิมพ์ 7Dbook&digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก : Pexels