เป็นความจริงที่ว่าคนสมัยนี้มักจะนอนไม่หลับ ลุกไม่ขึ้นในตื่นเช้า รู้สึกง่วงทั้งวันเพราะอดนอน ไม่หลับไม่นอนจนถึงเช้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ อดนอนเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ฯลฯ
หลายคนคงพอจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการนอนหลับมาบ้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “เรื่องเล่า” หรือ “ความเชื่อ” ประเภท “เขาว่ากันว่า…” แล้วความเชื่อพวกนี้คืออะไรและจริงเท็จมากน้อยแค่ไหนกัน?

ภาพถ่ายโดย Polina Kovaleva จาก Pexels
ความเชื่อที่ 1: หากคุณนอนหลับพักผ่อนไม่ถึง 8 ชั่วโมง จะไม่ดีต่อร่างกายของคุณ
ความจริง: บางคนนอนหลับแค่ 4 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นก็ยังสามารถทำงานได้อย่างสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่ก็มีบางคนที่ต้องนอนหลับนานถึง 10 ชั่วโมงเช่นกัน เวลานอนของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ พันธุกรรม ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรหาเวลานอนที่เหมาะสมกับคุณที่สุดแล้วพยายามนอนให้ได้ตามนั้น

ภาพถ่ายโดย William Fortunato จาก Pexels
ความเชื่อที่ 2: แค่เข้านอน พยายามหลับตา แล้วคุณก็จะหลับไปเอง
ความจริง: เมื่อคุณมีอาการนอนไม่หลับ ยิ่งคุณพยายามมากเท่าไร ก็จะยิ่งหลับยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะคุณกำลังสร้างความเครียดและความกดดันในจิตใจของตนเองมากเกินไป ดังนั้นถ้าคุณมีอาการนอนไม่หลับ คุณควรลุกจากเตียง ทำสิ่งที่ต้องใช้พลังงานเพื่อผ่อนคลายร่างกาย เช่น การออกกำลังกายเบา ๆ เป็นต้น จะทำให้คุณนอนหลับง่ายขึ้น

ภาพถ่ายโดย Kampus Production จาก Pexels
ความเชื่อที่ 3: การกรนจะทำให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น
ความจริง: การกรนและการนอนหลับดีไม่ได้เกี่ยวข้องกัน จริง ๆ แล้วการกรนอาจเป็นความผิดปกติของการนอนหลับก็ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เนื่องจากโครงสร้างของสมองมีความผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ระบบทางเดินหายใจมีเสียงดังในตอนกลางคืน และการหยุดหายใจขณะหลับก็อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ที่ชอบนอนกรนจึงควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ความเชื่อที่ 4: งีบติดต่อกันถึง 5 โมงเย็น จะทำให้คุณสดชื่น
ความจริง: การงีบหลับนานเกินไปอาจทำให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน ทำให้คุณตื่นขึ้นกลางดึก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาพักผ่อนของคุณ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำงานหรือไม่ได้ทำงานก็ควรใช้เวลางีบเพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงในตอนบ่ายเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายได้พักบ้าง และอย่าเผลองีบหลับจนถึงตอนเย็น เพื่อที่คุณจะได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ความเชื่อที่ 5: ถ้าหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน จงไปนอนซะ!
ความจริง: หลังรับประทานอาหาร ฮอร์โมนคอเลซิสโทไคนิน (Cholecystokinin: CCK) จะเพิ่มขึ้น และสารโอเรซิน (Orexin) จะลดลง ทำให้เราเหนื่อยและง่วงนอน หากเรานอนหลับในเวลานี้ จะทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ม้าม และอวัยวะอื่น ๆ ที่ใช้ในการย่อยอาหารทำงานหนัก ถ้าระบบการย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เราจึงควรพักอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงหลังอาหารแล้วค่อยนอนหลับจะดีที่สุด

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
ความเชื่อที่ 6: การออกกำลังกายอย่างหนักจะช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น
ความจริง: การออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือเข้ายิม 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถลดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ ทั้งยังช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงก่อนนอนจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous) ทำให้คุณรู้สึกแอ็กทิฟมากเกินไปและหลับยาก

ภาพถ่ายโดย Monstera จาก Pexels
ความเชื่อที่ 7: การอ่านหนังสือก่อนนอนสามารถทำให้คุณง่วงนอนได้
ความจริง: หลายคนชอบอ่านหนังสือก่อนนอน การอ่านหนังสือก่อนนอนจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับสบาย หนังสือที่ทำให้คุณง่วงนอนได้ดีที่สุดคือหนังสือที่คุณไม่สนใจ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่คุณสนใจแล้วล่ะก็ มันจะกลับกลายเป็นตรงกันข้ามทันที เพราะจะทำให้สมองของคุณตื่นตัวมากขึ้น
ความเชื่อที่ 8: ถ้าคุณนอนไม่หลับ ให้ลองดื่มไวน์
ความจริง: การดื่มไม่ใช่วิธีการนอนหลับที่ดี จากการศึกษาพบว่าการจิบไวน์สักแก้วก่อนนอน ยิ่งคุณดื่มมากเท่าไร คุณก็ยิ่งเมามากเท่านั้น แอลกอฮอล์จะทำให้ประสิทธิภาพในการนอนแย่ลง คุณจะตื่นขึ้นมากลางดึกและนอนไม่หลับ
ความเชื่อที่ 9: ท่องโซเชียลก่อนนอนเป็นประจำ
ความจริง: แสงเป็นสิ่งส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพของร่างกายเรา แสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต จะยับยั้งการหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ยิ่งคุณท่องโซเชียลมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งตื่นตัวมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นควรวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ไกล ๆ จึงจะเป็นการเตรียมตัวก่อนเข้านอนที่ถูกต้อง
ความเชื่อที่ 10: ตื่นทันทีที่เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น แล้วเช้านี้คุณจะเต็มไปด้วยพลัง
ความจริง: คนส่วนใหญ่จะใช้นาฬิกาปลุกแบบตั้งเวลา เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น ถ้าคุณตื่นขึ้นทันทีจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ วิธีที่ถูกต้องคือ เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น ให้ปิดนาฬิกาปลุก และนอนพักสักครู่ก่อนที่จะตื่น ตื่นขึ้นมาในเวลานี้จะสบายที่สุด และคุณก็จะได้เริ่มต้นวันใหม่ที่เต็มไปด้วยพลัง

ภาพถ่ายโดย EKATERINA BOLOVTSOVA จาก Pexels
ความเชื่อที่ 11: มีปัญหาในการนอนตอนกลางคืน ชดเชยด้วยการนอนกลางวัน
ความจริง: การนอนหลับไม่ใช่สิ่งที่ทดแทนกันได้ การนอนกลางวันจะทำให้คุณนอนไม่หลับในตอนกลางคืน ทำให้คุณรู้สึกไม่ค่อยง่วงน้อยในตอนกลางคืน การนอนไม่หลับเพียงคืนเดียวไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุณยังสามารถทำงานและเรียนในวันรุ่งขึ้นได้ตามปกติ เมื่อถึงตอนเย็น คุณก็จะรู้สึกง่วงนอนเอง คราวนี้คุณก็สามารถปรับเวลาเข้านอนให้เหมาะสมได้อีกครั้งเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
ความเชื่อที่ 12: เลือกหมอนและฟูกที่นุ่มสบาย
ความจริง: ที่นอนที่นิ่มเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวสูญเสียการรองรับที่สมดุลและทำให้ความโค้งของกระดูกสันหลังเสียหายได้ ซึ่งจะนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน ดังนั้นการรองรับด้านในของที่นอนต้องแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงกดทับของร่างกาย และวัสดุของพื้นผิวที่สัมผัสกับร่างกายจะต้องนุ่ม มีความยืดหยุ่น และสบายตัวมากพอ
คุณควรหาข้อมูลเกี่ยวกับการนอนที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือเสียก่อน ก่อนที่จะเชื่อและทำตามง่าย ๆ หรือเพื่อความแน่ใจควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะพฤติกรรมการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพและชีวิตของคุณ
อ้างอิง: Sưu tầm
https://www.facebook.com/1430480313652629/posts/4450929818274315/
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels