ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้า…ทุกคนล้วนเคยเป็นลูกน้องกันมาก่อนทั้งนั้น
ผู้นำที่ดีจะเป็นผู้ที่รวบรวมทัศนคติ ความสามารถ ทักษะ และตัวตนของสมาชิกในทีมเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ และในอีกทางหนึ่ง ผู้นำที่ดีจะมอบคุณค่าและหลักการที่ทีมของเขาสามารถยึดมั่นและควรรักษาไว้ นี่เป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำที่ดีที่เราควรรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์และทักษะทางวิชาชีพมากพอ
อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับจากการเป็นพนักงานธรรมดาสู่การผู้นำที่ดีได้นั้นต้องประกอบด้วยคำว่า LEADERS ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 7 ประการ ดังนี้

ภาพถ่ายโดย August de Richelieu จาก Pexels
1. L-Look & Listen – การสังเกตและการฟัง
เมื่อคุณก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการหรือหัวหน้า คุณควรใช้เวลาไปกับการสังเกต โดยเฉพาะสิ่งรอบ ๆ ตัวคุณ สมาชิกในทีมของคุณกำลังให้ความสำคัญกับอะไร? นี่ยังมีประโยชน์เมื่อคุณประชุมส่วนตัวกับแต่ละคนในทีม มันจะทำให้คุณได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างรวดเร็วเพื่อที่คุณจะได้วางแผนกลยุทธ์สำหรับองค์กรของคุณในอนาคตต่อไป

ภาพถ่ายโดย Tim Douglas จาก Pexels
2. E-Emotional Bonding – การเชื่อมโยงความรู้สึก
ผู้นำที่มีความสามารถจะใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเพื่อนร่วมงานเสมอ ถามไถ่เกี่ยวกับครอบครัวของเพื่อนร่วมงาน (แต่อย่าพูดถึงปัญหาส่วนตัวมากเกินไป) จำวันเกิดของเพื่อนร่วมงานได้ พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าการทำงานของพวกเขาเป็นอย่างไร หากเป็นไปได้ควรมีเวลาสำหรับการร่วมรับประทานอาหารกลางวันกันหรือการสังสรรค์กันในบริษัทเพื่อให้มีเวลาสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
เพื่อให้พนักงานหรือลูกน้องเปิดใจกับคุณมากขึ้น คุณควรแลกเปลี่ยนเรื่องราวส่วนตัวในชีวิตประจำวันของคุณบ้าง เพื่อให้ลูกน้องเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของคุณมากขึ้น และพยายามแสดงตัวตนว่าเป็นคุณเป็นคนที่น่าเชื่อถือและมีคุณค่ามากกว่าเป็นเจ้านายที่เอาแต่ออกคำสั่ง
3. A- Awareness– การตระหนักรู้
การเป็นผู้นำที่ดีคุณจะต้องตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าคุณต้องสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวคุณ ความสามารถในการตระหนักรู้นี้จะทำให้คุณได้รับข้อมูลที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของคุณเอง คุณสามารถเพิ่มการตระหนักรู้ให้กับตนเองได้โดยการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานให้บ่อยขึ้นผ่านการประชุมเป็นระยะ ๆ หรือการเดินทั่ว ๆ ออฟฟิศเพื่อให้เข้าใจความคิดของคนอื่นอย่างตรงไปตรงมามากกว่า

ภาพถ่ายโดย Anna Shvets จาก Pexels
4. D -Doing – การกระทำ
ผู้นำที่ดีต้องลงมือทำ อย่าเอาแต่นั่งและวิเคราะห์สถานการณ์เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งนี้อาจนำไปสู่ความลังเลจนไม่สามารถตัดสินใจได้
การรับฟังและการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งกับเพื่อนร่วมงานจะทำให้คุณมีความเข้าใจและตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เมื่อคุณเริ่มลงมือทำ เชื่อได้เลยว่าความสำเร็จของคุณจะได้มาอย่างง่าย ๆ แน่นอน

ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels
5. E-Empowerment – มอบอำนาจ
อย่าพยายามควบคุมปัญหาด้วยตนเองทั้งหมด คุณควรเชื่อใจสมาชิกในทีมโดยการให้เพื่อนร่วมทีมของคุณเสนอแนวคิดและตัดสินใจร่วมกับคุณด้วย
คุณควรปล่อยให้พวกเขามีพื้นที่ของตัวเองเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ความก้าวหน้า แต่ละคนย่อมต้องการพื้นที่ของตนเองเพื่อสร้างสรรค์ความคิดอย่างเป็นอิสระและการรู้จักนำความคิดที่ “นอกกรอบ” มาใช้ในเชิงปฏิบัติ กระบวนการเช่นนี้แม้ว่าลูกน้องของคุณอาจจะทำผิดพลาดไปบ้างก็จริง แต่นั่นจะทำให้พวกเขาสามารถตระหนักรู้ถึงความผิดพลาด รู้จักรับผิดชอบ และเรียนรู้บทเรียนนั้นได้ด้วยตัวเอง

ภาพถ่ายโดย Kindel Media จาก Pexels
6. R– Responsibility- ความรับผิดชอบ
ความกล้าที่จะรับผิดชอบคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้นำ ซึ่งหมายความว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้น คุณจงเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบก่อนจะแก้ปัญหาอื่น ๆ
อย่ากลัวที่จะยอมรับว่า “ฉันทำพลาด” เมื่อสมาชิกในทีมเห็นว่าคุณรู้จักยอมรับในความผิดของคุณ การให้อภัยก็จะตามมาได้ง่าย ลูกน้องของคุณก็จะซื่อสัตย์ กล้าที่จะเผชิญกับความล้มเหลว หรือกล้าพูดเพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมองของพวกเขามากขึ้น

ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels
7. S-Synchronicity – การเชื่อมโยง
เมื่อคุณนำทีมด้วยทัศนคติและอารมณ์เชิงบวก ทัศนคติและอารมณ์เชิงบวกของคุณนั้นก็จะส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ และผลลัพธ์ที่ตามมาก็จะเป็นไปในเชิงบวกด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานได้รับแรงบันดาลใจจากภาพลักษณ์ของคุณ ทำให้พวกเขาทำงานหนักเพื่อพัฒนาบริษัทมากขึ้น หรือความสำเร็จของคุณในฐานะผู้นำทำให้คุณได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็เหมือนกับการเพาะเมล็ดที่คุณจะเห็นมันเติบโตขึ้นนั่นเอง

ภาพถ่ายโดย August de Richelieu จาก Pexels
นี่คือ 7 ข้อที่ผู้นำ (LEADER) ควรมี หากคุณยังเป็นเพียงพนักงานธรรมดา คุณก็ควรนำไปปรับใช้กับการทำงานของคุณ แล้วคุณก็จะเป็นนายคนได้ไม่ยาก แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้าหรือเจ้านายแล้ว เพียงปฏิบัติตาม 7 ข้อนี้ แล้วทีนี้ลูกน้องก็จะรักคุณมากขึ้นกว่าเดิม และองค์กรของคุณก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน
อ้างอิง: Kabir Sehgal
https://www.facebook.com/188962875025436/posts/894623087792741/
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลบทความโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital