ปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ ข้อมือ ทำเวรทำกรรมอะไรไว้หรือเปล่า?
อาการปวด หลัง คอ บ่า ไหล่ หรือข้อมือที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเคยไปทำเวรกรรมกับใครไว้ในชาติที่แล้วหรือไม่ก็ในชาตินี้นี่แหละ แล้วเขาแค้นหนักก็เลยมานั่งจองเวรในส่วนที่คุณปวดซะ ถ้าหากเป็นความเชื่อส่วนบุคคลน่ะนะ
แต่ถ้าหากลองทบทวนดูแล้วว่าในชาตินี้ไม่เคยทำกรรมอะไรไว้ ย้อนกลับไปดูชาติก่อนก็ไม่ได้ทำบาปอะไรหนักหนา ก็คงเป็นเรื่องที่ทำเวรสร้างกรรมกับตนเองในชาตินี้แหละ
คุณนั่งหลังงออยู่กับที่เป็นชั่วโมงโดยไม่ได้ขยับเขยื้อนเลยหรือเปล่า
คุณต้องกระดกข้อมือบ่อย ๆ เพราะงานที่หลีเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า?
คุณนั่งขับรถวันละหลายชั่วโมงหรือเปล่า?
คุณก้มหน้ามองจอโทรศัพท์บ่อยครั้งหรือเปล่า?

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels
หากใช่ตามนี้ ก็ไม่แปลกสักเท่าไหร่หรอกนะที่อาการปวดหลังหรืออาการปวดอวัยวะอื่น ๆ จะเล่นงานคุณ
พฤติกรรมและอาการปวดเหล่านี้อาจนำมาซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่เกิดจากรูปแบบการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้พักหรือผ่อนคลายอิริยาบถเลย จึงอาจจะลุกลามกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้
อาการของออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ
1. ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ความรุนแรงมีตั้งแต่น้อย แค่รู้สึกรำคาญ หรือว่ารุนแรงมากจนถึงขั้นทรมาน เช่น บริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก เป็นอาการปวดบริเวณกว้าง ๆ ไม่ระบุตำแหน่งที่ชัดเจน
2. รู้สึกเย็น ๆ วูบ ๆ อาจจะมีเหงื่อออก มีขนลุกตามบริเวณที่ปวดร้าว อาการเหล่านี้เป็นอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะมีร่วมด้วยได้ แต่ถ้าเป็นที่บริเวณคอก็อาจจะมีอาการมึนงง มีหูอื้อหรือตาพร่าได้
3. เป็นอาการของระบบประสาทถูกกดทับ เช่น อาจจะมีอาการชาที่บริเวณแขนและมือจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับนานเกินไป ถ้าเป็นมากก็อาจจะมีอาการอ่อนแรงได้
แนวทางการบำบัด Office Syndrome
วิธีการดูแลบำบัดตัวเองโดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องหาหมอ คือ การฝึกเพื่อยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น และออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่มีความแข็งแรงยืดหยุ่นดีก็จะช่วยลดโอกาสในการบาดเจ็บได้
โดยวิธีต่อไปนี้จะเป็นการใช้โยคะเพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อในแต่ละส่วน บรรเทาอาการจากความปวดที่คุณกำลังรู้สึกอยู่
ท่าเลข 4 คลายปวดหลัง
นอนชันเข่าทั้ง 2 ข้าง หายใจเข้าและออกให้ลึกและยาว ยกเท้าขวาขึ้นมา เอาตาตุ่มด้านนอกวางเหนือหัวเข่าซ้าย คล้ายกับเลข 4 งอเข่าซ้ายเข้ามาเอามือสอดเข้าไปในช่องระหว่างขา ประสานมือไว้ที่หลังต้นขาซ้าย หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ
ค่อย ๆ เหยียดขาซ้ายขึ้นชี้ฟ้า ค้างไว้ในตำแหน่งที่ตึงมากที่สุด หายใจเข้าทุก ๆ ลมหายใจออก ค่อย ๆ ยืดออกไป ถ้าไหวกระดกข้อเท้า ค้างไว้ หายใจเข้าออกตลอดเวลา ผ่อนคลาย จากนั้นทำซ้ำตั้งแต่ต้นแต่สลับไปทำกับอีกข้าง
ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ
นั่งที่เก้าอี้ ยืดตัวตรง เอามือซ้ายจับขอบเก้าอี้ไว้ ยืดอกขึ้น หายใจเข้า วาดแขนขวาขึ้นไปเหยียดตรง แล้วงอศอกเอามือจับใบหูซ้าย หายใจเข้ายืดอกขึ้น หายใจออกค่อย ๆ เอียงศีรษะมาทางขวา ค่อย ๆ กดมือเบา ๆ เหมือนว่าจะดึงหูข้างขวาลงมาหาไหล่ด้านขวา หายใจเข้าออกสบาย ๆ ประมาณ 3 – 5 รอบลมหายใจ ให้รู้สึกตึงยืดบริเวณลำคอด้านซ้าย จากนั้นทำแบบเดียวกันกับอีกข้าง
ท่าบรรเทาปวดต้นแขนและหัวไหล่
ชูมือซ้ายขึ้น หายใจเข้า พับแขนลงเอามือแตะที่กลางสะบักเลย หายใจออก ชูมือขวาขึ้นแล้วไปจับข้อศอกด้านซ้าย เอาด้านหลังศีรษะดันแขนออกไป ศอกชี้ขึ้นไปด้านบน หายใจเข้ายืดอกขึ้น หายใจออก ค่อย ๆ เอียงตัวมาทางขวาพร้อมมือขวาที่ดึงศอกซ้ายเอียงตามมาด้วย เราจะรู้สึกยืดตึงตั้งแต่ต้นแขนซ้ายลงมาที่รักแร้ ชายโครง ลำตัวด้านซ้าย เอวซ้าย แล้วค่อย ๆ ยกตัวกลับขึ้นมาช้า ๆ ชูมือขึ้น หายใจเข้า หายใจออกแล้วทำเหมือนกันกับอีกด้าน
ท่าคลายปวดข้อมือ
กำนิ้วโป้งลงก่อนจะกำนิ้วทั้ง 4 เข้ามา กำหลวม ๆ และหมุนไปด้านนอกเป็นวงกว้างช้า ๆ ประมาณ 3 ครั้งแล้วหมุนกลับ
โยคะเหล่านี้ช่วยบำบัดอาการปวดตามบริเวณต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ แต่จะไม่หายขาดหากยังคงมีพฤติกรรมเดิม ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม
ดังนั้นไม่เพียงแต่ต้องออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอเท่านั้นแต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองด้วย เช่น หากต้องนั่งทำงานที่ออฟฟิศนาน ๆ ก็ลุกขึ้นผ่อนคลายอิริยาบถบ้างทุก ๆ 50 – 60 นาที หรือหากต้องขับรถนาน ๆ ก็นั่งในท่าที่ถูกต้อง
ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้เวรกรรมเหล่านี้หายไปด้วยดีกันเถอะนะ
ข้อมูลจากหนังสือ: “30 วันหายขาด โยคะบำบัด Office Syndrome” ผู้เขียน วรรณา ผดุงพรรค
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels