
ภาพถ่ายโดย standret จาก Freepik
หากคุณได้เรียนรู้หรือก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการลงทุนซักระยะนึงแล้ว คุณจะพบว่าจะมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจทุกเช้ารวมถึงบอกว่าดัชนีหุ้นแต่ละที่นั้นมีขึ้นมีลงยังไง ซึ่งการขึ้นลงของดัชนีนั้นก็มาจากการซื้อและการขายของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดนั้นๆ
ซึ่งจะมีอยู่หลายดัชนีมากที่นักลงทุนเห็นกันในข่าวแต่จะมีพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา (United States of America) ที่ไม่ว่าข่าวเศรษฐกิจเจ้าไหนก็ต้องพูดถึง และวันนี้เราจะมาพูดถึงความยิ่งใหญ่ของ ดัชนีหุ้นอเมริกา ที่นำมาถึง 3 ดัชนีกันเลย
ดัชนี ที่ 1 S&P 500
ดัชนีแรกที่จะพูดถึงกันนี้ คือ S&P 500 ซึ่งใครหลายๆ คนต่างเคยได้ยินกันมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วแต่จะมีซักกี่คนที่รู้จักอย่างจริงๆ จังๆ ซักที ซึ่ง ดัชนี S&P 500 นั้น ถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 1957 ประกอบไปด้วยหุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 500 บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมทั้งจากตลาด New York Stock Exchange (NYSE) และ Nasdaq โดยดัชนีนี้นั้นจะใช้วิธีในการคำนวณแบบ Market Cap Weight กล่าวคือหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงก็จะมีอิทธิพลต่อดัชนีมากกว่าหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ
ส่วนนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในตลาด แล้วมีความต้องการที่จะเริ่มลงทุนในหุ้นและในดัชนี S&P 500 อาจจะมีความสงสัยว่าจะซื้อได้จากที่ไหนซึ่งถ้าเน้นลงทุนไปที่ตัวหุ้นเลยก็คงต้องไปเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศแต่ถ้าเป็นไปตามที่แนะนำสำหรับมือใหม่แล้วคือเราสามารถลงทุนได้ในกองทุนรวมที่มีนโยบายล้อไปกับดัชนี S&P ได้เลย ซึ่งประเด็นที่น่าพิจารณาและทราบไว้ก่อนการลงทุน คือ ดัชนี S&P 500 ได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 04/01/2022 ที่ 4,818.62 จุด และปัจจุบันอยู่ที่ 4,411.67 จุด (18/03/2022) ซึ่งถือว่ามีการปรับฐานจากจุดสูงสุด
ดัชนี ที่ 2 Dow Jones
ถัดมาบอกเลยไม่ว่าจะคนในวงการต้องได้ยินชื่อดัชนีนี้จนหนาหูหรือแม้กระทั่งคนนอกวงการตลาดเงินตลาดทุนเองยังต้องได้ยินกันผ่านมาบ้าง ซึ่งนั่นก็คือ ดัชนี Dow Jones หรือ Dow Jones Industrial Average ซึ่งผู้อ่านเองจะสามารถเห็นชื่อย่อในสำนักข่าวต่างประเทศว่า “DJIA” ดัชนี Dow Jones นั้นเป็นดัชนีตราสารทุน หรือ หุ้น ซึ่งประกอบด้วยหุ้นรวมกันทั้งหมด 30 ตัว เป็นหนึ่งในหลายดัชนีที่คำนวณโดย Wall Street Journal และ Dow Jones & Company และถือได้ว่าเป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของตลาดหุ้นอเมริกา เป็นรองก็แค่ Dow Jones Transportation Average ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการคำนวณอยู่เช่นกันครับ และเช่นเดียวกับดัชนีหุ้นตัวอื่นๆ ในโลก Dow Jones จะมีการคำนวณเพื่อดูว่าต้องปรับตัวไหนออก และเอาหุ้นตัวไหนเข้ามาเพิ่มแทน เหมือนอย่างที่เห็นว่าได้เคยนำหุ้น General Motors และ Citigroup ถอดออกจากการคำนวณ อันเนื่องจากราคาหุ้น และขนาดทุนจดทะเบียนต่ำกว่าเกณฑ์การคำนวณนั่นเองจากนั้นก็ถูกแทนที่โดย Travelers Companies และ Cisco Systems

ภาพถ่ายโดย Freepik จาก Freepik
ทีนี้ข้อสำคัญอีกอย่างในเชิงสถิติของ ดัชนี Dow Jones และถือเป็นหนึ่งในดัชนีตลาดหุ้นในอเมริกาที่มีอายุมายาวนานที่สุด โดนคำนวณครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1896 และมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นในดัชนีมาทั้งหมด 48 ครั้งใน 114 ปี ที่ผ่านมา ด้วยข้อมูลสถิติการขึ้นลงของดัชนีที่มากขนาดนี้ ประกอบกับผ่านวิกฤตและวงจรเศรษฐกิจน้อยใหญ่มามากมายหลายเหตุการณ์ จึงทำให้ Dow Jones ถูกเอาข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
อีกอย่างในวันแรกที่ Dow Jones ถูกคำนวณขึ้นมานั้น มีหุ้นที่นำมาคิดในดัชนีนี้เพียงแค่ 12 เท่านั้น และก็ไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 จุด แต่เริ่มต้นที่ 40.94 จุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของประวัติศาสตร์หุ้น
ดัชนีสุดท้าย NASDAQ
ต่อมาเป็นดัชนีทีถือว่าชื่อเสียงโด่งดังโดยเฉพาะสายเทคโนโลยี ซึ่งนั่นก็คือ NASDAQ ย่อมาจาก National Association of Securities Dealers Automated Quotations ถือว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของสหรัฐอเมริกา และเป็นแห่งแรกที่ซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และปัจจุบันเป็นตลาดที่มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากที่สุด หรือว่ามากกว่า 4,000 บริษัทกันเลยทีเดียว
และในปี 1980 APPLE ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดทรัพย์ NASDAQ ซึ่งถือว่าเป็นที่ฮือฮาและตื่นเต้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เพราะใครจะเชื่อว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ Apple Inc. ได้กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่สูงที่สุดในโลก ณ ขณะนี้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนข้อมูลที่สำคัญอีกอย่าง คือ ในปี 2004 Google ก็ได้เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกก็ที่ NASDAQ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Alphabet ไปแล้ว ซึ่ง NASDAQ นั้นมีความมุ่งมั่นในการที่จะดำเนินและขยายธุรกิจไปทั่วโลก จึงได้มีการเปิดสำนักงานในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย และปัจจุบัน ก็ได้มีสำนักงานเกือบ 40 แห่งทั่วโลกแล้ว
จะเห็นว่าแต่ละดัชนีนั้น ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองมาตลอดและถือว่ามือใหม่นอกจากจะรู้ตัวเลขรายวันของดัชนีนี้แล้วยังจำเป็นที่จะต้องหมั่นศึกษาที่มาของสิ่งต่างๆ ด้วยเพราะถ้าเราชอบที่จะเรียนรู้อะไรแล้ว เราก็จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน ซึ่ง ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรตลาดหุ้นย่อมสะท้อนทั้งข่าวดีและข่าวร้ายออกมา เนื่องจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเองและช่วงจังหวะต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่ทำให้เหล่านักลงทุนต้องตัดสินใจว่าตัวเองกล้าเสี่ยงที่จะลงเล่นในสนามนี้ในวันที่จังหวะที่เหมาะสมเข้ามาหรือเปล่า!
อ้างอิง: nasdaq.com
เรียบเรียงโดย : ไชยวัฒน์ โชคบัณฑิต
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ 7D Book & Digitals
ขอบคุณภาพประกอบจาก : freepik