ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องสำอาง เวชสำอาง สกินแคร์ ฯลฯ นับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอาจจะมีมูลค่าประมาณหลายหมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
และนั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจหน้าใหม่ที่สนใจเริ่มต้นทำธุรกิจสกินแคร์

ภาพถ่ายโดย Anna Shvets จาก Pexels
ไม่ว่าคุณอยากจะขายมอยส์เจอไรเซอร์ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า ที่มาสก์หน้า ที่ขัดผิว หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวทั้งหลาย คุณจะมีตลาดและกลุ่มเป้าหมายรองรับเสมอ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเพศใด ๆ ก็ตามเริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกมากขึ้น เพราะรูปลักษณ์ภายนอกส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม รวมถึงความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ใคร ๆ ก็อยากดูดีที่สุดและมั่นใจในตัวเองกันทั้งนั้น และใคร ๆ ก็ชอบคนที่ดูดีและมั่นใจในตัวเองเช่นกัน
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น พวกเขาจึงมีเวลาเลือกซื้อสกินแคร์และมีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่คุณจะทำธุรกิจสกินแคร์ของคุณเอง
ถ้าเช่นนั้น อย่ามัวแต่รอช้า มาเริ่มต้นทำธุรกิจสกินแคร์ให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยเคล็ดลับดังต่อไปนี้
1. กฎหมายต้องมาก่อน
คุณอาจจะรู้สึกสนุกกับการสร้างแบรนด์หรือทำธุรกิจสกินแคร์ของคุณเอง แต่สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนลงมือทำก็คือเรื่อง กฎหมาย
แน่นอนว่าสกินแคร์เป็นเครื่องสำอางซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพการผลิตสูง ดังนั้นคุณควรอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง การขออนุญาตผลิตเครื่องสำอางกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การรับรองมาตรฐาน GMP ฯลฯ เพื่อให้ชัวร์ว่าแบรนด์สกินแคร์ของคุณมีมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สำหรับคนที่กำลังทำธุรกิจสกินแคร์แบบโฮมเมด (Homemade) ก็เช่นเดียวกัน คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย คุณควรขออนุญาตผลิตเครื่องสำอางให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่ใช่ทำขายได้เลย เพราะถ้าสกินแคร์ของคุณเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จะส่งผลเสียต่อธุรกิจของคุณแน่นอน

ภาพถ่ายโดย RODNAE Productions จาก Pexels
2. หาตลาดเฉพาะกลุ่ม
ธุรกิจสกินแคร์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ครีมกันแดดไปจนถึงคลีนเซอร์ เครื่องสำอาง มอยส์เจอไรเซอร์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ คุณต้องหา ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ตัวอย่างเช่น สกินแคร์แบรนด์ Lush ซึ่งได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขายโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
คุณอาจจะลองนึกถึงผลิตภัณฑ์ที่คุณอยากขาย เช่น ที่ขัดผิว ครีม เซรั่ม มอยส์เจอไรเซอร์ หรือทรีตเมนต์รักษาสิว จากนั้นจึงถามตัวเองว่า ผลิตภัณฑ์ของคุณมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร และลูกค้าประเภทใดที่จะสนใจผลิตภัณฑ์ของคุณ ตัวอย่างเช่น
- สกินแคร์ดูแลผิวที่เน้นความหรูหรา: สกินแคร์ที่มีส่วนประกอบคุณภาพสูง เช่น ทองคำ คาเวียร์ แพลงตอน ฯลฯ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีงบประมาณสูง
- สกินแคร์ที่การันตีโดยผู้เชี่ยวชาญ: สกินแคร์ที่ใช้รักษาและดูแลผิวโดยเฉพาะ หรือเวชสำอาง เช่น ปัญหาผิวแห้ง ปัญหาสิว เป็นต้น คุณอาจผลิตครีมกันแดดสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือเซรั่มสำหรับผู้ที่มีผิวมันก็ดีไม่ใช่น้อย
- สกินแคร์ที่ใส่ใจสังคม: สกินแคร์ที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจจากธรรมชาติจะดึงดูดใจผู้บริโภคปัจจุบันเป็นพิเศษ นอกจากนี้ การผลิตสกินแคร์วีแกน (Vegan) ที่ไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์หรือไม่ทดสอบกับสัตว์ (Cruelty-Free) ก็สามารถดึงดูดผู้บริโภคปัจจุบันได้เช่นกัน

ภาพถ่ายโดย Anna Shvets จาก Pexels
3. เลือกผลิตภัณฑ์ยอดนิยม
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ คุณจะต้องมีผลิตภัณฑ์ยอดนิยมสักชิ้น เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดหรือมีคนกล่าวถึงอย่างแพร่หลายมากที่สุดก็ได้
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่สุดของแบรนด์เครื่องสำอาง Wunder2 คือ Wonderbrow ซึ่งเป็นเจลที่ใช้สำหรับการตกแต่งคิ้ว ผลิตภัณฑ์นี้ดึงดูดความสนใจของลูกค้ามาก เพราะช่วยให้ไม่ต้องคอยเติมคิ้วระหว่างวันบ่อย ๆ แม้ว่าแบรนด์นี้จะมีสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ Wonderbrow นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าชื่นชอบมากที่สุด
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของคุณยังสามารถเป็นตัวกำหนดมูลค่าและภาพลักษณ์ของแบรนด์คุณได้อีกด้วย ถ้าแบรนด์สกินแคร์ของคุณเไม่ทดสอบกับสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของคุณก็ต้องไม่ทดสอบกับสัตว์ด้วย

ภาพถ่ายโดย Wunder2 จาก wunder2.com
4. ค้นหาผู้ผลิตหรือโรงงานผลิตที่มีมาตรฐาน
ถ้าคุณไม่ได้ทำสกินแคร์แบบโฮมเมด คุณก็ต้องเลือกหาผู้ผลิตสกินแคร์ของคุณเอง ควรเลือกผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง ไว้ใจได้ และตรงต่อเวลา การเลือกผู้ผลิตที่ดีจะช่วยลดความยุ่งยากในการทำแบรนด์สกินแคร์ของคุณได้มาก
ปัจจุบันมีผู้ผลิตสกินแคร์หลายบริษัท บางบริษัทรับผลิต คิดค้นสูตร ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงทำการตลาดให้เสร็จสรรพ แต่ก่อนจะเลือกผู้ผลิต คุณควรศึกษาข้อมูล ดูรีวิว ดูความคิดเห็นของลูกค้าเก่า เพื่อมองหาผู้ผลิตที่เหมาะสมตรงใจที่สุด
ผู้ผลิตที่ดีสามารถผลิตสินค้าของคุณได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรฐาน ดังนั้น ถ้าคุณอยากสร้างแบรนด์สกินแคร์ของคุณให้ประสบความสำเร็จ การเลือกผู้ผลิตที่ไว้ใจได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้ การเลือกผู้ผลิตที่อยู่ใกล้ ๆ สามารถติดต่อกันได้ง่ายกว่าและจัดส่งผลิตภัณฑ์ได้เร็วกว่า แต่การเลือกผู้ผลิตในต่างประเทศก็มีข้อดีเช่นกัน เพราะอาจทำให้คุณเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าและในราคาที่ถูกกว่า แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการนำเข้าเช่นกัน สิ่งที่คุณต้องพิจารณาผู้ผลิตมีดังนี้
- ความเชี่ยวชาญ: ผู้ผลิตเคยผลิตสกินแคร์ให้กับตลาดเฉพาะกลุ่มที่คุณเลือกหรือไม่? พวกเขาผลิตสกินแคร์มานานแค่ไหนแล้ว?
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด: ผู้ผลิตมีมาตรฐานหรือไม่? ตรวจสอบได้หรือไม่? มีใบอนุญาตและใบรับรองการผลิตหรือไม่?
- การจัดส่ง: ผู้ผลิตสามารถผลิตและและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคุณได้เร็วแค่ไหน?
อย่าลืม! แม้ผู้ผลิตและโรงงานส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิต แต่เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของคุณมีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ต้องมีการทดสอบหรือเทสต์ผลิตภัณฑ์ก่อนเสมอ

ภาพถ่ายโดย Edward Jenner จาก Pexels
5. มาเริ่มสร้างแบรนด์สกินแคร์ของตัวเองกันเถอะ!
ลูกค้าไม่ได้สนใจแต่ผลิตภัณฑ์ของคุณเท่านั้น แต่พวกเขายังให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และเรื่องราว (Storytelling) ที่คุณสร้างให้กับแบรนด์ของคุณ
แบรนด์สกินแคร์ของคุณต้องมีความแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่ง ไม่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ของคุณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ สี โลโก้ หรือแม้แต่ชื่อแบรนด์ ลองพิจารณาตามหลักการดังนี้
เลือกชื่อแบรนด์ที่คนจำได้
ชื่อธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณเป็นสิ่งที่ลูกค้าจะจดจำได้ดีที่สุด คุณควรเลือกชื่อแบรนด์ที่เป็นธีมเดียวกันกับสิ่งที่แบรนด์ของคุณกำลังจะสื่อ ตัวอย่างเช่น ถ้าแบรนด์ของคุณเป็นสกินแคร์แบบออร์แกนิก คุณอาจจะใช้ชื่อ Organica Beauty ก็ได้ แต่ชื่อแบรนด์ของคุณควรสั้นกระชับ สะกดง่าย เรียบง่ายที่สุด ยังไม่มีใครใช้ และสื่อถึงแบรนด์ของคุณได้ดีที่สุด
ทำโลโก้เจ๋ง ๆ
นอกจากชื่อแบรนด์แล้ว โลโก้ของคุณก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าจะจำคุณได้ โลโก้ที่ดีจะรวบรวมความเป็นแบรนด์ของคุณเอาไว้ในภาพภาพเดียว แบรนด์สกินแคร์ที่เน้นความหรูหราอาจใช้ภาพหรือสีที่เชื่อมโยงกับความหรูหรา เช่น เพชร สีทอง ส่วนแบรนด์ออร์แกนิกอาจใช้ภาพหรือสีที่สื่อถึงธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ สีเอิร์ธโทน เป็นต้น
ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดี
บรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิงนอกจากจะใช้ในการป้องกันผลิตภัณฑ์ไม่ให้เสียหายแล้ว ยังช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์และสามารถดึงดูดใจลูกค้าได้อีกด้วย คุณต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เข้ากับสีและโลโก้ของแบรนด์ และไม่ซ้ำใคร นอกจากนี้ ควรจะมีน้ำหนักเบาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ตัวอย่างเช่น ขวดมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ หรือกล่องสกินแคร์ที่นำมาใช้เก็บของได้

ภาพถ่ายโดย Ray Piedra จาก Pexels
6. สร้างร้านค้าออนไลน์
เมื่อผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของคุณพร้อมที่จะออกสู่ตลาด ก็ถึงเวลาสร้างร้านค้าออนไลน์เสียที
นอกจากการซื้อขายออนไลน์ผ่านทาง Facebook, IG , Lazada, Shopee หรือแม้แต่ในเว็บไซต์แล้ว แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่ช่วยให้สร้างร้านค้าออนไลน์ให้ครบจบภายในขั้นตอนเดียวอีกด้วย เช่น Shopify Lnwshop เป็นต้น
แต่ละแพลตฟอร์มก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตลาดของแบรนด์หรือวามต้องการของผู้ประกอบการ คุณอาจจะใช้หลาย ๆ แพลตฟอร์มก็ได้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งง่าย สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างเว็บไซต์ที่ดึงดูดลูกค้าได้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก มีระบบดูแลซัพพอร์ตตลอด 24 ชั่วโมง มีความปลอดภัย ทำการตลาดได้ง่าย รองรับการใช้ง่ายผ่านมือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการชำระเงินผ่าน Moblie Banking ฯลฯ
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่คุณสามารถทำธุรกิจสกินแคร์ผ่านทางออนไลน์ได้

ภาพถ่ายโดย Negative Space จาก Pexels
7. ทำการตลาดดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสกินแคร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแบรนด์ทั้งใหม่และเก่าแข่งขันกันมากมาย ดังนั้น การมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณจะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ และดึงดูดความสนใจของผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าของคุณได้
คุณต้องพิจารณาว่าสื่อหรือการตลาดแแบไหนที่น่าจะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของคุณมากที่สุด และช่องทางไหนที่พวกเขาจะเห็นผลิตภัณฑ์ของคุณมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นมักจะเล่น TikTok ส่วนลูกค้าที่มีอายุมากกว่านั้นมักจะชอบดูโทรทัศน์ เล่น Facebook หรือ IG มากกว่า
เมื่อคุณทราบแล้วว่าที่ไหนที่คนมักจะเห็นผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาของคุณ ให้ลองใช้กลยุทธ์ทางการตลาดยอดนิยมที่เหมาะสำหรับแบรนด์สกินแคร์ของคุณ ดังนี้
- หลักฐานทางสังคม (Social Proof): ลูกค้าปัจจุบันมักจะค้นหารีวิวหรือคำวิจารณ์ผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อมากขึ้น ดังนั้น คุณควรให้ลูกค้าเก่าหรือลูกค้าปัจจุบันเขียนรีวิวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้คุณด้วย เพื่อช่วยโน้มน้าวลูกค้ารายอื่น ๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณยอดเยี่ยมมากแค่ไหน
- การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer marketing): การเชื่อมโยงกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมจะทำให้แบรนด์ของคุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ลองค้นหาบุคคลที่มีชื่อเสียงทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณได้ และร่วมงานกับพวกเขา คุณสามารถให้ผลิตภัณฑ์ฟรีกับพวกเขาเพื่อแลกกับการรีวิวผลิตภัณฑ์ของคุณ หรือเป็นพันธมิตรร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ หรือจัดการแข่งขันและการแจกของรางวัลเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
- คอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายสร้างขึ้น (User-generated content): ลูกค้าปัจจุบันไม่ค่อยไว้วางใจแบรนด์ต่าง ๆ มากนัก ดังนั้น ก่อนที่ลูกค้าจะรู้สึกมั่นใจมากพอที่จะใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ของคุณ พวกเขาต้องการที่จะเห็นหลักฐานของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์คนอื่น ๆ ด้วย การรีโพสต์รูปภาพของลูกค้ารายอื่น ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ของคุณ

ภาพถ่ายโดย George Milton จาก Pexels
นำไปใช้แล้วพิจารณาว่าลูกค้าให้ความสนใจกับกลยุทธ์ทางการตลาดของคุณแบบไหน และจงลงทุนไปที่กลยุทธ์นั้น
แม้ว่าอุตสาหกรรมสกินแคร์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์หลายแบรนด์แข่งขันกันมากมาย แต่ก็ยังมีที่ว่างสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่พร้อมที่จะก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมสกินแคร์เสมอ ได้เวลาที่คุณจะสร้างแบรนด์สกินแคร์ของตัวเองแล้วล่ะ
ถ้ารัก ถ้าชอบ ถ้าพร้อม ก็ลงมือทำเลย!
อ้างอิง:
10 ขั้นตอนง่าย สู่การเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง จาก https://www.locopack.co/th/articles/4
How to Start A Skincare Line : The Ultimate Guide For 2021 จาก https://www.oberlo.com/blog/how-to-start-a-skincare-line
Shopify คืออะไร? ทำไมจึงเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่โฟกัสไปที่ยอดขายเป็นหลัก จาก https://ecomeasyprofit.com/what-is-shopify-ecommerce/
กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จาก https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Pages/Main.aspx
. . .
หมายเหตุ: เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
แปลและเรียบเรียงโดย: ปิ่นแก้ว ศิริวัฒน์
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels