สวนหรือตามกระแส ทำธุรกิจแบบไหนถึงจะรุ่ง!?
หากคุณเคยขายสินค้าหรือทำธุรกิจตามกระแสล่ะก็ คงต้องเคยล้มเหลวหรือขาดทุนมาก่อนใช่ไหม?
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับโลกธุรกิจ แต่จะดีถ้าไหมล่ะหากขายออกดิบดีเป็นเทน้ำเทท่า แม้มันจะเป็นสินค้าตามกระแสก็เถอะ!
การขายสินค้าตามกระแสก็ย่อมหมายถึงคู่แข่งที่มากหน้าหลายตาไปด้วย ผู้คนมากมายยอมลงแข่งขันพายเรือในกระแสอันร้อนแรงเพราะหวังผลตอบแทนงาม ๆ กันทั้งนั้น จึงเกิดการขายเพื่อแย่งยอดกัน
ทว่ามีสินค้าอย่างเดียวก็ไม่ใช่ว่าจะขายได้เลยนะ ต้องอาศัยฐานลูกค้าหรือชื่อเสียงของร้าน แต่หากไม่มีสิ่งเหล่านั้นก็ต้องอาศัยการโฆษณา โปรโมตเพื่อให้สู้ร้านอื่น ๆ ที่มีสิ่งที่เราไม่มีให้ได้

ภาพถ่ายโดย Negative Space จาก Pexels
ถึงกระนั้น แม้กระแสบางอย่างจะมาแรงแต่บางครั้งก็มาเร็วไปเร็วเช่นกัน เหมือนสายลมยามร้อนที่พัดมาพอให้เย็นขึ้นเพียงชั่วครู่
ผู้ที่ขายสินค้าไม่ออกจึงต้องจมปลักขาดทุนไปโดยปริยาย เพราะกระแสมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว
หากไม่อยากประสบชะตากรรมตามที่ว่าไว้ข้างต้นก็ต้องอาศัยคอนเทนต์และการโฆษณาตามที่ว่าไว้ ซึ่งหากจะทำคอนเทนต์ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าที่เราโพสต์ไปนั้น
1. โพสต์ทำไม?
2. โพสต์แล้วเป็นประโยชน์กับใคร?
3. ทำไมเขาถึงต้องหยุดเลื่อนนิ้วแล้วอ่าน
หากคอนเทนต์ดีก็จะเกิดการแชร์ ซึ่งการแชร์ก็คือการส่งออกคอนเทนต์ของเพจเราออกไปสู่สายตาสาธารณชนที่ไม่ใช่ฐานลูกค้าของเรา และถ้าหากคอนเทนต์โดนใจพวกเขาก็อาจจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าหรือเพิ่มยอดขายให้กับเราได้นั่นเอง
กรณีศึกษา Food Delivery สะดวก ง่าย สบาย ประหยัด
การสั่งอาหารผ่านแอปฯ เป็นกระแสมาตั้งแต่ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะระบาดเสียอีก และเมื่อยิ่งโรคร้ายนี้แพร่กระจายรุนแรงขึ้น ธุรกิจ Food Delivery Application จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น จึงเกิดคู่แข่งขึ้นมาใหม่ ทั้ง LINE MAN DELIVERY, GrabFood, foodpanda, gofood (gojek), Robinhood ถึงแม้จะมีแอปพลิเคชันส่งอาหารมากมาย แต่ทุกเจ้าต่างก็หาทางแก้และทางออกให้ตนเองทั้งนั้น
แอปพลิเคชันเหล่านี้ก็มีการตลาด การโฆษณา และโปรโมชันเพื่อส่งเสริมการขายแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ตนเองได้ครอบครองยอดสูงสุดของเขาที่ทุกเจ้าต่างก็แข่งกันปีนป่าย
เมื่อไม่มีใครหยุดนิ่ง จึงเกิดการแข่งขันกันพัฒนา

ภาพถ่ายโดย Fox จาก Pexels
การหาลูกค้าให้พบ (Customer Discovery) จะต้องไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคิดเข้าข้างตัวเอง ต้องเดินออกไปหาลูกค้าภายนอก (Get out of the building: GOOB) เพราะส่วนใหญ่เรามักมโน มีคติคิดเข้าข้างตัวเองว่าสินค้าหรือบริการที่เราคิดไว้มันสุดยอด ลูกค้าต้องชอบแน่ ๆ
แต่การแข่งขันก็ยังไม่จบง่าย ๆ เพราะกระแสที่เกี่ยวกับความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตเช่นอาหารคงไม่จางหายไปในเร็ว ๆ นี้เป็นแน่
นอกจากการขายสินค้าหรือทำธุรกิจตามกระแสที่ต้องพึ่งพาการโฆษณาแล้วยังมีการขายสินค้าหรือทำธุรกิจแบบที่ไม่สนใจกระแส แต่สนใจเพียงปัญหาที่ลูกค้าพบเจอ ดังจะกล่าวต่อไป
การเปิดมือถือเข้า Google หากระแส Keyword ที่ผู้คน Search ค้นหาเยอะ ๆ เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักทำ แต่นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว การขายสินค้าหรือทำธุรกิจแบบที่ไม่สนใจกระแส จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
แนวคิดแบบลีนแตกต่างออกไปจากแนวคิดข้างต้น แนวคิดแบบลีนมุ่งไปหาว่าปัญหาของลูกค้าคืออะไร เลือกปัญหาที่สำคัญที่สุดมาเรียงลำดับจากมากไปน้อย สัก 5 ปัญหาที่สามารถแก้ได้ แล้วช่วยลดการใช้ทรัพยากร เวลา เงินลง นั่นแหละคือไอเดียที่น่าจะนำไปพัฒนาให้เป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยม
Bob Dof ผู้แต่งร่วม The Startup Owner’s Manual: The Step-By-Step Guide for Building a Great Company หนังสือสำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ได้อธิบายถึงการสัมภาษณ์พูดคุยกับลูกค้าเป้าหมาย (Target) ไว้อย่างน่าสนใจว่า ให้ใช้หลักการ 3 อย่า

ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
หลักการ “3 อย่า”
1. อย่าพูดถึงสินค้าของเรา แต่ให้ถามเขาว่าปัญหาอะไรที่มันกวนใจ รำคาญ และเขามีความเจ็บปวด (Pain) กับมันมากที่สุด
2. อย่าพูดนำให้ลูกค้าเออออไปกับเรา เพราะมันจะไม่ได้แก้ปัญหาในจุดที่ลูกค้ามีปม
3. อย่าจัดลำดับความสำคัญให้กับลูกค้า แต่ให้ลูกค้าเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย และถามด้วยว่าจะจ่ายเงินให้กับปัญหาไหนมากที่สุด ซึ่งบางปัญหาเป็นปัญหาสำคัญ แต่ลูกค้าก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้อยู่ดี
เมื่อได้ปัญหามาแล้วหาวิธีการให้เจอ นั่นแหละจะกลายเป็นธุรกิจ แต่หยุดก่อน อย่าเพิ่งไปเริ่มทำธุรกิจ ก่อนอื่นไปวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาด (Market Analysis) ว่ามีใครทำอยู่แล้วหรือยังไม่มี แล้วมันน่าสนใจที่จะทำเป็นธุรกิจใหม่ไหม
ศึกษาตลาดก่อนว่าตลาดนี้เป็นตลาดเดิม ตลาดเลียนแบบ ตลาดเดิมที่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายลูกค้าใหม่ หรือตลาดใหม่จากนั้นก็นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเป็นสินค้าที่พอใช้การได้ (MVP) ต่อไป
ในทางกลับกันกับสินค้าหรือธุรกิจที่เกิดจากกระแส สินค้าหรือธุรกิจที่ไม่ได้มาจากกระแส (แต่มาจากไอเดียโดยตรง) อาจจะกลายเป็นกระแสต่อไปในอนาคตก็เป็นได้ เหมือนที่กราโนลา (อาหารตะวันตกที่เป็นได้ทั้งอาหารเช้าธัญพืชหรือเป็นขนมกินเล่นก็ได้) เติบโตจากธุรกิจเล็ก ๆ กลายเป็นกระแสในสายสุขภาพอย่างทุกวันนี้ก็ได้ ใครจะรู้ล่ะ
ข้อมูลจากหนังสือ: “Lean ผู้ประกอบการยุคใหม่ จากก้าวเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในโลกธุรกิจ” ผู้เขียน สิริพงศ์ จึงถาวรรณ
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels