5 วิธีทำการตลาดโดยใช้รูปเล่าเรื่อง by Erin McCoy
อะไรคือการให้รูปเล่าเรื่อง (Visual Storytelling)?
เป็นเรื่องที่รู้กันดีในหมู่นักจิตวิทยาและนักการตลาดว่า 93% ของการสื่อสารเป็นอวัจนภาษา ทำให้นึกถึงประโยคเก่าคร่ำครึที่ว่า ‘เพียงหนึ่งภาพล้านความหมาย’ กันเลยทีเดียว
ปัจจุบันแบรนด์สินค้าถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้รูปเล่าเรื่องมากกว่าที่เคย ความแปลกใหม่และทรงพลังของการใช้ภาพเล่าเรื่องได้เกิดขึ้นแล้ว ตามที่ Forrester Research ได้กล่าวไว้ว่าวิดีโอ 1 นาทีตีความได้ 1.8 ล้านอย่าง จึงเข้าใจได้ง่าย ๆ เลยว่าทำไมออเดียนซ์ถึงไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือมากนัก

ที่มา : https://idearocketanimation.com/4293-video-worth-1-million-words/
การใช้รูปเล่าเรื่องเป็นกลยุทธ์ในการใช้รูปภาพเพื่อสื่อเรื่องเล่าให้ไปถึงออเดียนซ์ ความสำเร็จของการใช้เรื่องเล่าทำให้ออเดียนซ์เกิดการตอบสนองด้านอารมณ์ การเรียนรู้ และการแนะนำพวกเขาไปสู่บทสรุปที่เฉพาะเจาะจง
การใช้รูปเล่าเรื่องสามารถใช้คอนเทนต์เพียงชิ้นเดียว เช่น ภาพเคลื่อนไหว อินโฟกราฟิก หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือใช้คอนเทนต์หลาย ๆ คอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกันก็ได้
บางธุรกิจจะเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง แรงบันดาลใจในสินค้าบริการของพวกเขา หรือเรื่องราวของหัวหน้า แต่ถ้าธุรกิจของคุณไม่มีเรื่องราวแบบนั้นให้แชร์ คุณอาจจะคิดว่าแบรนด์ของคุณไม่มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ
แต่อย่าคิดมากไป แน่นอนว่าคุณต้องมีเรื่องราวที่เหมาะจะแชร์แน่ ๆ เช่น สินค้าและบริการของคุณจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นยังไง? สินค้าของคุณทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ยังไง? หรือจะบอกเล่าเรื่องราวทั้งจริงและยกตัวอย่างของลูกค้าที่ใช้บริการหรือสินค้าของคุณก็ได้นะ
ธุรกิจของคุณมีเรื่องที่อยากจะแชร์เสมอ แต่เรื่องราวนั้นไม่สามารถบอกเล่าในรูปแบบของตัวหนังสือยาวเหยียดได้อีกต่อไปแล้วนะ ถ้าคุณอยากให้ออเดียนซ์รับฟัง คุณก็ต้องใช้พลังแห่งการเล่าเรื่องด้วยภาพ และนี่คือ 5 วิธีที่คุณสามารถทำได้!
#1: แชร์จุดเริ่มต้นของคุณ
ตามที่เราได้บอกไว้ว่ามีเรื่องราวที่เป็นไปได้มากมายที่แบรนด์ของคุณสามารถบอกต่อได้ หนึ่งในเรื่องเล่าสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ก็คือที่มาของพวกเขา
อาจเป็นเรื่องที่ว่าบริษัทของคุณก่อตั้งได้ยังไง ทำไมจึงก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้น ปัญหาที่ผู้ก่อตั้งค้นพบและอยากจะแก้ไข หรืออะไรคือความท้าทายที่บริษัทต้องก้าวข้ามให้ได้
ที่มาของบริษัทเหมาะกับการนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอ ซึ่งสามารถสื่อสารกับออเดียนซ์ได้ผ่านเรื่องเล่าที่ตรงไปตรงมาด้วยวิธีที่ควบคุมได้มากกว่าสื่อเชิงโต้ตอบ ซึ่งมีแนวโน้มที่ออเดียนซ์จะจัดลำดับความสำคัญของเรื่องหรือเนื้อหาด้วยตนเอง

ที่มา : digitalundivided.com/about-digitalundivided
ตามที่ได้กล่าวไว้นั้น สไตล์ไม่ได้มีข้อจำกัดในรูปแบบของการสร้างวิดีโอเหล่านั้น สิ่งสำคัญคือการค้นหาแนวทางที่เข้ากับแบรนด์ของคุณ
แอนิเมชันไม่ใช่เพียงแค่สดใสเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความจริงที่ว่าภาพเคลื่อนไหวนี้พุ่งเป้าไปยังผู้ที่มีแนวโน้มจะใช้ผลิตภัณฑ์มากที่สุด ซึ่งก็คือเด็ก ๆ นั่นเอง กราฟิกเคลื่อนไหวถูกวางกรอบให้เหมือนเทพนิยาย ซึ่งเด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะดูพอ ๆ กับผู้ใหญ่ และปฏิกิริยาของพวกเขาน่าจะคล้ายกับการชื่นชอบ ซึ่งตรงประเด็นอย่างจัง เพราะที่มาของแบรนด์ควรสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความใกล้ชิดกับออเดียนซ์มากขึ้น
วิดีโอและกราฟิกเคลื่อนไหวเป็นสื่อที่ดีเยี่ยมในการบอกเล่าเรื่องราวที่มาของธุรกิจของคุณ แต่มันไม่ได้มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น หากคุณมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน 50 ปีเช่น National Endowment for the Arts วิดีโอที่ครอบคลุมทุกอย่างอาจยาวและมีรายละเอียดมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเบื่อได้ ดังนั้นคุณอาจเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบอื่นแทน เช่น การเลือกใช้ไทม์ไลน์ที่ผู้ใช้สามารถเลื่อนอ่านได้ด้วยตัวเอง
คุณสามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ในการแชร์ ไม่เพียงแต่ภาพนิ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงภาพข้อมูลและคลิปแบบสั้นที่ตัดจากวิดีโอขนาดยาว วิธีนี้จะช่วยดึงดูดออเดียนซ์มากขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น และยังมั่นใจได้ว่าวิดีโอถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ของคุณ
#2: สื่อความต้องการของบริษัทคุณออกมา
แม้บริษัทคุณจะไม่มีเรื่องราวจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจมาแชร์ แต่คุณก็ยังสามารถใช้พลังแห่งการใช้รูปเล่าเรื่องด้วยการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่บริษัทคุณคาดหวังให้สำเร็จ เรื่องราวปณิธานเหล่านั้นจะอยู่เหนือกว่าเป้าหมายของการขายสินค้าหรือบริการและจะโฟกัสประเด็นที่ว่าธุรกิจ สินค้า หรือบริการนั้น ๆ จะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร

ที่มา : digitalundivided.com/about-digitalundivided
เล่าเรื่องความรับผิดชอบของบริษัทว่าได้ตอบแทนชุมชนอย่างไรบ้าง หรือการต่อสู้เพื่อสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งจะได้ผลอย่างดีกับ Gen Z (คนที่เกิดหลัง ค.ศ. 1995 หรือ พ.ศ. 2538) ที่มีมากถึง 32% ของประชากรบนโลก จึงเป็นเปอร์เซ็นต์สำคัญของออเดียนซ์สำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ
อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดหลายคนได้สำรวจไว้ Gen Z มักจะให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ใส่ใจสังคมและทำธุรกิจเพื่อตอบแทนชุมชนของพวกเขากลับ ความสำเร็จของความพยายามทางการตลาด เช่น แคมเปญ #LikeaGirl จาก Always ซึ่งเป็นการตลาดที่ฉลาดมาก
ฉะนั้น หากบริษัทคุณกำลังทำบางสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ก็ถึงเวลาแชร์เรื่องราวเหล่านั้นแล้วล่ะ
#3: ส่งมอบคอนเทนต์ทางการศึกษาและการเรียนการสอน
หากคุณอยากเพิ่มตัวเลขและเก็บรักษาระดับความสนใจของออเดียนซ์ คุณจำเป็นต้องเสนอในสิ่งที่มีคุณค่ากับเขาจริง ๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมคอนเทนต์ทางการศึกษาและการเรียนการสอนสามารถเพิ่มการเข้าถึงได้สูงบนโลกโซเชียล จริง ๆ แล้ว 77% ของธุรกิจ B2B (การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) ได้ใช้คอนเทนต์ทางการศึกษาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว
กรณีตัวอย่าง เมื่อบริษัทประกันภัย PEMCO ต้องการกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ผู้ที่มีบ้านอายุ 35 ขึ้นไป และกลุ่มทั่วไปอายุมากกว่า 20 พวกเขาจึงตัดสินใจใช้ซีรีส์กราฟิกเคลื่อนไหวสั้น ๆ 15 ชุดเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ชมเกี่ยวกับการดูแลรักษาบ้าน ความปลอดภัย และหัวข้อที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ทำให้กราฟิกเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมสูงสุดมียอดแชร์มากกว่า 12 เท่าเลยทีเดียว
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรพบว่าคอนเทนต์ทางการศึกษามีประโยชน์อย่างยิ่งเช่นกัน องค์กรบริการผู้ประกอบการ digitalundivided ต้องการให้ความรู้แก่ออเดียนซ์เรื่องประวัติศาสตร์อันยาวนานของอเมริกาเกี่ยวกับผู้ประกอบการหญิงผิวดำและผู้ประกอบการหญิงชาว Latinx ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวเพื่อไฮไลต์เน้นบุคคลที่มีอิทธิพลเด่น ๆ บางส่วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #WeAreLimitless
พวกเขายังแบ่งกราฟิกเคลื่อนไหวนั้นออกเป็น MP4 รูปแบบสั้น ๆ โดย 1 ไฮไลต์ต่อผู้หญิงหนึ่งคน เพื่อให้สามารถแบ่งปันผ่านช่องทางโซเชียลได้ นอกจากนี้ยังสามารถเผยแพร่วิดีโอยาว ๆ ที่ช่วยให้ได้รับความสนใจจากเพียงวิดีโอคลิปเดียวมากขึ้น
#4: แสดงขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
สำหรับบางธุรกิจการผลิตสินค้าเป็นทั้งหมดของเรื่องราวในตัวมันเอง อาจเกี่ยวกับเทคนิคหรือกลยุทธ์ใหม่ ๆ อาจเป็นการจัดหาวัสดุที่ยั่งยืน การมุ่งเน้นไปที่การค้าที่เป็นธรรม หรือแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสังคม
วิดีโอและกราฟิกเคลื่อนไหวไม่ใช่แค่สื่อภาพเพียงอย่างเดียวที่สามารถแสดงให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อินโฟกราฟิกสำหรับโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้คุณยังสามารถเปลี่ยนอาร์ตเวิร์กให้เป็นภาพนิ่งที่ใช้ได้กับทุกช่องทางโซเชียลของคุณก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายของคุณในทุกช่องทาง

Photo by Plann from Pexels
#5: เน้นเรื่องราวของลูกค้า
การใช้รูปเล่าเรื่องไม่ได้หมายถึงการทำให้แบรนด์เป็นที่สนใจเสมอไป บางครั้งคุณก็ต้องเพิ่มศักยภาพให้กับออเดียนซ์และลูกค้าในการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง
การสนับสนุนผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองบนช่องทางโซเชียล (Encouraging user-generated content หรือ UGC) มีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม 70% ของ Gen Z บอกว่าพวกเขาเข้าใจความคิดความรู้สึกของผู้มีอิทธิพลใน YouTube มากกว่าคนดังเนื่องจากมีสถานะคล้าย ๆ กัน ลูกค้ากำลังมองหาความจริงในรูปแบบที่เป็นเรื่องราวในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่เรื่องราวจากแบรนด์
มีหลายวิธีในการสนับสนุนและแชร์เรื่องราวของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองบนช่องทางโซเชียลผ่านโซเชียลมีเดีย คอนเทนต์ประเภทภาพดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในตอนนี้ เช่น ภาพคนจริง ๆ ภาพสัตว์น่ารัก ๆ และตัวอย่างของแบรนด์คุณที่ถูกนำไปใช้จริง ๆ
ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรค บริษัทขนส่ง UPS ได้ใช้ UGC อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพโดยมอบโน้ตและของขวัญขอบคุณจำนวนมากแก่คนขับรถของพวกเขาเอง คอนเทนต์นี้ทำควบคู่ไปกับ Instagram และ Facebook เพจ มีการโพสต์ภาพสุนัขน่ารัก ๆ คู่หูคนขับรถของ UPS คอนเทนต์แบบนี้กอบโกยไลก์ได้เป็นจำนวนมาก โดยมักได้รับการกดไลก์มากกว่าโพสต์ที่สร้างแบรนด์เป็นสองเท่า

ที่มา : instagram.com/ups/?hl=en
ดังนั้นหากคุณขอให้ลูกค้าแชร์ภาพการใช้สินค้าหรือบริการของคุณก็ควรให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้รูปภาพในการจับฉลากเพื่อรับคูปองหรือผลิตภัณฑ์ฟรี เพื่อกระตุ้นยอดแชร์ ยิ่งมีคนแชร์มากเท่าไหร่ คนอื่นก็จะอยากทำเช่นเดียวกันมากขึ้นเท่านั้น

Photo by Karolina Grabowska from Pexels
ธุรกิจในปัจจุบันต้องบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งจะประสบความสำเร็จมากจากการใช้เนื้อหาแบบภาพ เรื่องราวเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทันทีด้วยโพสต์อันน่าสนใจเพียงโพสต์เดียว หรือการแชร์เรื่องราวเดียวกันเป็นชุด ๆ แบบซีรีส์
แนวทางที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจของคุณขึ้นอยู่กับสิ่งที่แบรนด์คุณต้องการบรรลุทั้งในภาพรวมและในแคมเปญเฉพาะ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและกำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้วคุณจะสามารถค้นหาสื่อภาพที่เหมาะสมเพื่อทำให้เรื่องราวของแบรนด์คุณมีชีวิตชีวาขึ้น
อ้างอิง
แปลบทความจาก How to Use Visual Storytelling in Your Marketing: 5 Ways อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.socialmediaexaminer.com/how-to-use-visual-storytelling-in-marketing-5-ways/?utm_source=twitter&utm_medium=Social&utm_campaign=SocialWarfare
หมายเหตุ : เป็นการแปลและเรียบเรียงพร้อมตัดทอนบทความตามความเหมาะสม
Gen Z คือคนกลุ่มไหนกันนะ อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://genzmanpower.com/
USER GENERATED CONTENT (UGC) สำคัญอย่างไร ในยุคที่ผู้บริโภคเชื่อผู้บริโภคด้วยกันเอง อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://stepstraining.co/content/user-generated-content
แปลบทความโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels