Are you the BAD BOSS?
สำรวจตนเองหรือผู้นำของคุณที่ทำหน้าที่เจ้านายว่าตอนนี้กำลังดำรงตำแหน่ง Best Boss หรือ Bad Boss กันแน่ ถ้ายอดเยี่ยมก็ดีไป แต่ถ้ายอดแย่ก็แก้ไขซะนะ
เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น
เนื่องจากเจ้านายเป็นตำแหน่งเจ้านายมีอำนายในการตัดสินใจสูงสุด การได้รับคำวิจารณ์ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ เจ้านายจึงเป็นด่านหน้าที่ได้รับแรงปะทะนั้น ๆ
ได้เป็นเจ้านายทั้งที อย่าเป็นขโมยด้วยเลย โดยเฉพาะเครดิตหรือความดีความชอบในการทำงาน คนทำเขารู้ดี แค่คุมงานไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตีมึนว่าผลงานชิ้นนั้นเป็นของตัวเองได้นะ ไม่เหมือนทำบุญที่แตะศอกแล้วจะได้กุศลด้วยหรอกนะ
เครดิตที่คนทำงานสมควรได้อาจหมายถึงความก้าวหน้าในชีวิตของคนหนึ่งคนเลย หากไปขัดขาเขาด้วยการขโมยเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เขาอาจมองว่าคุณติดนิสัยตอนเรียนมาก็ได้ งานกลุ่มแต่ทำกันอยู่จริง ๆ 2 – 3 คน

Photo created by tirachardz
ถ้ามีโปรเจกต์ที่ท้าทายกว่านั้นเกิดขึ้น ลูกทีมอาจจะไม่อยากร่วมงานกับคุณก็ได้ หากไม่แสดงฝีมือจริง ๆ ในภายภาคหน้า ความสามารถของคุณอาจจะฝ่อไปจนรับผิดชอบได้ไม่ดีเท่าเดิมก็ได้
ดังนั้นหากเป็นโปรเจกต์ที่ทำร่วมกัน จงยกเครดิตให้ทั้งทีมที่ช่วยเหลือกันจะดีกว่า นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีภายในทีมแล้วยังทำให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพด้วยนะ
ไม่ใช่เพียงแค่เครดิตเมื่อทำงานดีเท่านั้น แต่ในยามที่งานออกมาแล้วมีข้อผิดพลาดก็ควรร่วมกันรับผิดชอบ อย่างน้อยก็ควรออกตัวปกป้องลูกน้อง ไม่ใช่สนใจแค่งาน ไม่สนใจใส่ใจเรื่องอื่นเลย หรือแม้แต่ในตอนที่คุณทำผิดเอง ก็ต้องยืดอกยอมรับ ขอโทษ และแก้ไข ไม่ใช่ผลักไสความผิดนั้นให้ผู้อื่น
ในกรณีที่ลูกน้องทำผิดก็ควรให้โอกาสกัน สามารถตักเตือนได้ แต่ไม่ควรซ้ำเติม และให้คำปรึกษาหรือแนะนำให้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น และเรียนรู้วิธีการในการแก้ไข

Photo created by yanalya
พูดไม่รู้เรื่อง
หากคุณไม่เก่งเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะพูดอะไรไปพนักงานงานก็ทำหน้างง ไม่รู้เรื่องกันเสียทุกรอบ ไม่เขาก็คุณที่มีปัญหา หากเขาฟังไม่รู้เรื่องเองก็คงต้องให้เขาปรับ หรือไม่ เราก็ถามย้ำเพื่อความแน่ใจ แต่ถ้าปัญหาอยู่ที่ตัวเราเองล่ะ จะทำยังไงดี?
- เรียบเรียงคำพูดในหัวให้ดีก่อน
ในช่วงแรก หากจะพูดอะไรยาว ๆ อาจจะลองจดลงบนกระดาษเสียก่อน เรียบเรียงให้ดีว่าควรพูดอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจ เมื่อเริ่มคล่องแคล่วขึ้นแล้วก็จะไม่ต้องพึ่งพากระดาษอีกต่อไป แต่การจดลงบนกระดาษนี้อาจใช้ได้ในการพูดที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าก่อน หากเป็นการพูดในชีวิตประจำวันอาจจะต้องฝึกเรียบเรียงในหัวเอง
- พูดไปเรื่อย
เคยพูดไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมายจนกินเวลาในการทำงานบ้างไหมคุณอาจไม่รู้ตัว แต่ลองสังเกตจากสีหน้าของพนักงานดู รับรู้ได้ไหมว่าเขาเบื่อหรืองงหรือเปล่าว่าเราพูดไปทำไม วิธีการแก้คือให้ลองกำหนดทดไว้ในใจว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรกับพนักงานของเราบ้าง จะได้ไม่ออกนอกเรื่องนอกทะเลจนเกินไป
- มีสมาธิ
บางทีการที่พูดไม่รู้เรื่องอาจจะเพราะไม่ได้ตั้งใจอีกฝ่ายพูดเท่าที่ควรก็ได้ ดังนั้นลองเพ่งสมาธิที่พนักงาน ฟังเขาอย่างตั้งใจ หรือพยายามฟังเขาพูดให้จบ ก่อนจะสื่อสารตอบกลับไป
- ลืมในสิ่งที่เคยพูดไว้
หากรู้ว่าตนเองเป็นคนขี้ลืม จดลงบนกระดาษหรือบันทึกลงในโทรศัพท์ก่อนจะลืมสิ เมื่อกลับมาคุยกันอีกครั้งจะได้ไม่ต้องงงว่าตกลงหรือคุยอะไรกันไปบ้าง แต่บางคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองขี้ลืม ลองทบทวนกับตนเองดูว่าเคยพูดหรือสั่งงานอะไรแล้วพนักงานเคยแย้งว่าเสร็จไปแล้วหรือคุณสั่งการอีกแบบไหม ถ้าเคยล่ะก็คงไม่รอดแล้ว
- ขาดความมั่นใจ
เป็นเจ้าคนนายคนไม่ใช่ว่าจะขาดความมั่นใจไม่ได้หรอกนะ หากความไม่มั่นใจเข้ามาเป็นอุปสรรคขัดขวางคุณล่ะก็ ไม่เพียงแต่บุคลิกภาพหรือการพูดเท่านั้นที่จะเสีย ความน่าเชื่อถือก็จะหายไปด้วย ดังนั้นต้องกำจัดมันเสีย อาจจะพูดกับตนเองหน้ากระจกทุกเช้าว่าตนมั่นใจ ตนทำได้ ลุย! หรือหัดพูดต่อหน้าคนจำนวนมากบ่อย ๆ เข้าไว้ ก็จะชินไปเองนั่นแหละ
บริหารงานยอดแย่
ในการเป็นผู้บังคับบัญชาคน คุณสมบัติที่ควรมีเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ การเป็นผู้นำ ซึ่งหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญนอกจากจะต้องแก้ไขปัญหาได้ดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน ใช้อำนาจในทางที่ถูกที่ควร มีความยุติธรรม เข้ากับผู้อื่นได้ดีแล้ว ก็ยังต้องบริหารเป็นอีกด้วย
การบริหารเป็นไม่จำเป็นว่าต้องจบมาจากคณะบริหารธุรกิจ (ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร) ขอเพียงแค่สามารถประยุกต์การบริหารให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับองค์กรที่ตนทำงานอยู่โดยไม่มีปัญหาก็เท่ากับว่าใช้ได้
แต่สำหรับผู้ที่บกพร่องในเรื่องนี้อาจจะต้องสมัครเรียนในคอร์สการจัดการสักหน่อย เพราะบริหารสะเปะสะปะเหลือเกิน อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เปิดบริษัทขึ้นเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้จบคณะบริหารธุรกิจมา แถมยังไม่มีทักษะในการบริหารเสียอีก
หรือหากไม่ไหวจริง ๆ ก็จ้างคนที่มีความรู้ในด้านการบริหารมาจัดการให้ดีกว่า เผื่ออะไร ๆ จะเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

Photo created by pressfoto
ถ้าอยากเริ่มแก้ที่ตัวเองก่อนก็ต้องยอมรับว่าตนเองขาดภาวะความเป็นผู้นำ ไม่เกี่ยวว่าจะเรียนจบมาสูงหรือได้ทำงานในตำแหน่งที่มั่นคงเพียงไหน หากไร้ภาวะความเป็นผู้นำก็ยากต่อการบริหารมากเท่านั้น
เมื่อยอมรับแล้วก็ให้ปรับปรุงข้อเสียตรงนั้นด้วยการเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง เชื่อมั่นในการตัดสินใจแต่ละอย่างว่ามันจะนำพาไปสู่หนทางที่ดีที่สุด และต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกน้องรวมถึงตนเองด้วย
นอกจากนี้ คนเป็นหัวหน้า เป็นเจ้านายยังต้องรู้จักวางแผน จัดแจง และกระจายงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ค้างคาหรือติดขัด
ผู้นำในองค์กรบางแห่งอาจใช้วิธีการบริหารแบบปล่อยให้ลูกน้องบริหารจัดการงานกันเอง เพราะไม่อยากเคี่ยวเข็ญมาก แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งก็ทำให้งานไม่เป็นระบบ และขอบเขตของการเป็นหัวหน้าก็คือมีการบริหารงานเป็นหนึ่งในหน้าที่ด้วย การปล่อยให้คนในปกครองจัดการกันเองจึงถือว่าเป็นการละเลยหน้าที่
แต่บางองค์กรอาจจะใช้การมอบหมายงานตั้งแต่แรกและกำหนดวันส่ง ที่เหลือปล่อยให้พนักงานจัดการกันเอง แถมมีประสิทธิภาพด้วย ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าการบริหารของเจ้านายมีส่วนหรือไม่

Photo created by jcomp
ใช้คนไม่ตรงกับงาน
พนักงานหลายคงเคยเจอปัญหานี้ สมัครเข้ามาในตำแหน่งหนึ่งโดนโยกไปตำแหน่งสอง ขอบเขตทำงานเหมือนตำแหน่งสาม เงินเดือนเท่าตำแหน่งสี่ ภาพฝันดันไม่ตรงกับที่คิดเอาไว้
บางคนอาจทำใจยอมรับ ก้มหน้าทำงานที่ไม่ถนัดงก ๆ เพราะไม่มีทางเลือก บางคนไม่ไหวจริง ๆ ทำงานแล้วไม่สนุกเลย ไม่คุ้ม อยู่กับงานนี้ไป 8 ชั่วโมงมันยาก ก็ต้องลาออก เรียกได้ว่าเสียเวลาไปไม่น้อยทั้งองค์กรและพนักงานเอง เพราะความไม่รู้จักใช้คนให้เป็น
พนักงานก่นด่าอยู่ในใจ แต่เจ้านายก็คงไม่รู้ตัว ถ้าพนักงานลาออกบ่อยครั้งก็คงจะไม่แปลกเท่าไหร่ เพราะให้ทำงานในตำแหน่งที่ต้องแบกรับหน้าที่มากมาย แต่เงินเดือนยังไม่พ้นสองหมื่น แถมยังคาดหวังให้งานออกมาดีอีกด้วย
วิธีแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ยากเลย แค่กำหนดหน้าที่ให้ตรงกับตำแหน่งที่รับสมัคร และให้ค่าตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล
หากคนที่ไม่ถนัดในด้านนั้น ๆ รับงาน พร้อมเงินเดือนจึ๋งหนึ่ง คิดเหรอว่าจะได้งานที่ดีและมีคุณภาพ หากได้ตามความคาดหวังก็ถือว่าดีไป แต่จงระลึกไว้ในใจว่าบริษัทของคุณกำลังเอาเปรียบแรงงานตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งอยู่
หากจะบอกว่าเขาสมัครใจที่จะอยู่และทำ ให้ลองมองก่อนว่าเขามีทางเลือกอื่นบ้างไหม เพราะไม่มีที่ให้ไปเขาจึงต้องทำหรือเปล่า
หากจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนการนำรั้วบ้านมาแทนเสาบ้าน เหมือนการนำยางลบมาลบปากกา เหมือนการใช้กากมะพร้าวแทนผ้าอนามัย เหมือนการนำทหารมาบริหารประเทศ ทำได้ แต่ไม่ได้ดีหรือมีประสิทธิภาพพอ

Photo created by yanalya
ทำได้ไม่ได้แปลว่าทำเป็น
หรือหากจะบอกว่าการให้คน ๆ หนึ่งทำหลายหน้าที่เพิ่มนั้นเป็นการเพิ่มสมรรถภาพให้แก่บุคลากรในองค์กร ก็ให้แน่ใจว่าได้ทำความเข้าใจตรงกันหรือตกลงกันกับบุคลากรเรียบร้อยแล้ว และมีการอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้ความสามารถของบุคลากรถึงขั้นคล่องแคล่วแล้วจริง ๆ
ในทางกลับกัน ลองคิดดูว่าหากรับคนที่เก่งในด้านที่เราต้องการเข้ามา ได้ทั้งงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และรวดเร็วน่าจะดีกว่า
ฉะนั้น ใช้คนให้ตรงกับงาน ไม่ใช่เอางานมาบังคับให้ตรงกับคน

Photo created by tonodiaz
คนโปรดมาก่อน
คุณรู้ตัวเองไหมว่ากำลังลำเอียงอยู่หรือเปล่า หากไม่รู้ตัว ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีสัญญาณบ่งบอกดังต่อไปนี้หรือไม่
– คุณกล่าวขอบคุณเพียงคนโปรดเดียว ทั้ง ๆ ที่ทำงานเป็นทีม
– คุณถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับแค่คนโปรด
– คุณไม่กล่าวตักเตือนเมื่อคนโปรดทำผิด
– คุณไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเท่าไหร่นัก นอกจากคนโปรด
– คุณไม่สนใจให้คำปรึกษาแก้คนที่ต้องการ ยกเว้นแต่คนนั้นจะเป็นคนโปรด
เรื่องแบบนี้คงดูกันไม่อยาก แต่อยากให้จำใส่ใจเอาไว้ว่าการเป็นเจ้าคนนายคนนั้นไม่ควรตราชั่งเอียง หรือเล่นพรรคเล่นพวก ลองนึกภาพคุณพ่อคุณแม่ที่รักลูกไม่เท่ากันดูสิ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วอะไรจะเกิดขึ้นล่ะ? เมื่อรู้ดังนั้นแล้วก็จงปฏิบัติตัวต่อลูกน้องให้เท่าเทียมกันเสีย
เรียบเรียงโดย: กุลนิภา บุตรลุน
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 7D Book&Digital
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เว็บไซต์ Pexels / เว็บไซต์ freepik