
ภาพโดย Lifeforstock จาก Freepik
หัวใจของการทำธุรกิจ ในความคิดของคุณ คือแบบไหน ?
มุมมองการสร้างธุรกิจของแต่ละคนแตกต่างกัน บ้างก็อยากครองเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจประเภทนั้น บ้างก็แค่อยากให้ธุรกิจพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่จุดมุ่งหมายที่ทั้งสองแบบมีเหมือนกัน คือต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนจะก้าวกระโดดมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลบุญที่เคยทำมาแล้ว
แต่ถ้าเรากำลังจะสร้างธุรกิจสักประเภท ที่รู้อยู่แล้วว่าในตลาดก็มีเจ้าใหญ่ถือครองอยู่แล้ว ยังจะกล้าลงไปเล่นกับความเสี่ยงเหล่านี้แค่ไหนกัน
“แซม วอลตัน” ชื่อนี้ฟังดูคุ้นไม่น้อย ก็ไม่แปลกใจ เพราะตามหนังสือหรือแม้แต่สื่อออนไลน์ต้องเคยปรากฎชื่อของชายผู้นี้ให้ได้เห็นกันเรื่อย ๆ แม้ปัจจุบัน ผู้ชายคนนี้จะได้เวลาไปพักแบบไม่มีวันกลับมาอีกแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่เรื่องราวของเขาถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อไหร่ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเสมอ
แรกเริ่มเขาคือเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่บ้านค่อนข้างยากจน พ่อแม่ก็ทำสวนทำไร่ตามประสาคนท้องถิ่นในอเมริกา ด้วยความที่อาศัยในรัฐ โอคลาโฮมา ซึ่งอยู่แทบตะวันออก ก็ไม่แปลกอะไรที่ครอบครัวจะประกอบอาชีพนี้ แต่ด้วยความที่สมัยนั้นหลายสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ถูกสร้างขึ้น ก็ทำให้ดูจะลำบากอยู่พอสมควร
ขอพาทุกคนนั่งย้อนไทม์แมชชีนไปในปี 1940 หรือกว่า 80 ปีที่แล้ว ถือเป็นขวบปีที่สำคัญของวอลตัน มันคือปีที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยสักที ได้เวลาเติบโตเต็มที่ เพื่อนในชั้นคนอื่น คงคิดไปทางเดียวกันว่าถึงเวลาทำงานหาเงินเลี้ยงชีพแล้ว แต่สำหรับเขาคือเรื่องธรรมดามาก
เพราะตั้งแต่มัธยมเขาก็ช่วยพ่อทำงานตั้งแต่เด็ก ทั้งรีดนมวัว บรรจุใส่ขวด และขายออกไป หรืออาชีพแปลก ๆ ยังไงก็ตามเขาก็ผ่านมาแล้ว เพื่อช่วยครอบครัวได้ เขายินดีที่จะทำมัน
เพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน มักจะพูดคุยถึงเรื่องบ้านตัวเองมีสิ่งนำหน้ายุคสมัยมากมาย ขณะที่บ้านของวอลตัน เสื้อผ้าถูกเก็บไว้เท่าที่จำเป็น เพราะรายได้ของพ่อแม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญที่สุด แต่นั่นก็ทำให้เขาเติบโตอย่างเต็มที่อยู่ดี
วัตถุดิบไม่ได้บ่งบอกคุณภาพชีวิตคุณมากแค่ไหน ความสุขที่เกิดจากคุณค่าของการใช้และความรู้สึกที่คุณใส่ลงในวัตถุดิบนั้นต่างหากที่สำคัญกว่า
จนถึงจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วอลตันต้องจากบ้านเพื่อไปรับใช้ชาติ ลองคิดดูว่าเด็กหนุ่มวัยเพียง 24 ปี มีความตั้งใจช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เมื่อเรียนจบก็พร้อมจะหาเงินแบบเต็มที่ ต้องตัดสินใจมาเป็นทหารโดยอยู่ฝ่ายสืบราชการลับ ตลอดเวลาที่เขาทำงานในสีเสื้อลายพราง เขาได้เก็บหอมรอมริบเงินที่ได้มาก้อนหนึ่ง เมื่อออกมาจึงนำเงินก้อนนี้ไปช่วยเหลือครอบครัวให้ดีขึ้น
นั่นทำให้เขารู้คุณค่าของเงินมากยิ่งขึ้น แม้ว่าทั่วไปเขาจะไม่ได้ฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว แต่การรับรู้ของ “หยาดเหงื่อและน้ำตา” มันชัดเจนมาก ทำให้นึกย้อนไปช่วงที่พ่อทำงานจนค่ำก็ยังไม่เลิก กลับบ้านด้วยความเหนื่อยล้า หรือช่วงที่น้องชายของเขาป่วย แม่ต้องยอมเสียสละแหวนแต่งงาน เพื่อมีเงินพาน้องไปโรงพยาบาล
แม้ว่าใครจะบอกว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงมันสามารถเป็นสิ่งต่างๆในชีวิตมากมาย การชื่นชมว่าเงินมีคุณค่าเป็นเรื่องไม่ผิด และที่สำคัญกว่า คืออย่าให้มันสูญเปล่าเด็ดขาด
เมื่อทุกสิ่งอย่างพร้อมในเวลาที่เหมาะสม มันคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนำเงินที่เหลือจากการเป็นทหารจำนวนประมาณ 5 พันดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150,000 บาท บวกกับเงินที่ทางบ้านให้ทุนอีกนิดหน่อย มาทำธุรกิจสักอย่าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเงินที่มั่นคงในอนาคต
เมื่อพลังแห่งการเริ่มต้นเกิดขึ้น หลายคนยังทำตัวไม่ถูกด้วยซ้ำ แต่ต้องขอบคุณครอบครัวที่ทำให้ชีวิตของวอลตัน มีพื้นฐานที่แข็งแรงกว่าคนอื่น เพราะต้องดิ้นรนตั้งแต่เด็ก บวกกับทักษะความสามารถที่มีอยู่แล้วก็เบ่งบานตามเวลาเมื่อถึงวัยเหมาะสม
ทันทีที่ก้าวแรกเข้าสู่ธุรกิจ เขาทำมันได้ดีเกินคาด แม้จะซื้อแฟรนไชส์ร้านชื่อว่า Ben Franklin ด้วยจำนวนไม่ได้ถูกเลย แต่ภายในระยะเวลาไม่นานเขาก็ขยับรายได้ให้มีทิศทางเติบโตขึ้น แม้ว่ายังไม่ใช่เบอร์หนึ่ง แต่ก็พอจะหายใจทั่วท้องขึ้นมาบ้าง
วิสัยทัศน์ของนักบริหารที่ดีเริ่มแสดงชัดเจนในตัวเขา สายตาเริ่มมองถึงโอกาสในการขยับขยาย เอาจริง ๆ ถ้าเขาหยุดแค่นี้ ก็พัฒนาฐานะในครอบครัวได้อยู่ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่มันคงธรรมดาไปสำหรับเขา เมื่อถึงเวลากอบโกย เขาอยากจะให้ช่วงเวลานี้ เติบโตกว่าที่เป็นอยู่มากที่สุด
เริ่มมีการมองหาลู่ทางใหม่ๆ เข้าซื้อร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้น ขยายฐานกำไรให้แน่นกว่าเก่า เพื่อที่หากมีเหตุการณืไม่คาดคิด ชีวิตก็ยังไม่สิ่งรองรับ เปรียบเหมือนกับถ้าหกล้ม ก็ขอล้มบนฟูกก็ยังดี

ภาพจาก https://www.supermarketnews.com
ก่อนที่ต่อมาสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของวอลตัน อาจจะหมายถึงโลกธุรกิจใบนี้ก็เกิดขึ้นมา เป็นการขับเคลื่อนครั้งสำคัญของวงการค้าปลีก เพราะนี่คือที่มาของ “Walmart”
คนไทยหลายคนคงกำลังทำหน้าสงสัย แต่สำหรับต่างชาตินี่คือแหล่งรวบรวมสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ในยุคที่การเดินตลาดเป็นเรื่องยุ่งยากในชีวิต ซูเปอร์มาร์เก็ต ถูกสร้างเพื่อมาตอบโจทย์ในส่วนนี้อย่างดีขึ้น
ด้วยความทุ่มเท บวกกับความตั้งใจที่มองว่าสินค้าของเขาจะต้องถูกกว่าที่ใดก็ตาม ลงทุนศึกษาอย่างหนักหน่วงถึงการดูต้นตอและควบคุมราคาให้ดีที่สุด การจัดการต้นทุนที่เป็นเรื่องยาก แต่วอลตันทำมันได้อย่างตรงกันข้าม มันดูง่าย และเต็มไปด้วยความคุ้มค่า
จนในที่สุด เมื่อทุ่มทุกอย่างสุดใจ ผลตอบแทนก็เป็นคำตอบว่าเขากำลังมาถูกทาง ‘Walmart’ ขยายสาขาออกไปเรื่อยๆจากร้านเล็กๆ ภายในไม่กี่สิบปี เขาทำอย่างต่อเนื่องจนขยายสาขาได้ถึงกว่า 800 สาขาทีเดียว และที่ไม่พูดไม่ได้คือ เขาพาร้านขายของเล็กของเขา มาเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้สักที
สถิติล่าสุดของ สหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation) หรือ NRF มีการบันทึกของปี 2020 บอกไว้ว่า Walmart มีมูลค่ายอดขายรวมประมาณ 543.17 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งต่อเนื่อง ซึ่งทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง Amazon.com อันดับสองถึง 280 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ
จะเห็นว่าแต่ละสเต็ปในชีวิตของวอลตัน ไม่มีก้าวไหนที่มาด้วยความเร็วหรือฉาบฉวยเลย ทุกอย่างมาอย่างเรียบๆแต่เน้นความแน่นอน เมื่อเอาใจไปใส่ในการทำอะไรก็ตามแต่ ต่อให้ผลลัพธ์ไม่สวยหรู แต่กระบวนการมันจะเต็มไปด้วยความแน่นอนทั้งสิ้น
“Walmart ลดต้นทุนทุกอย่างตั้งแต่ในออฟฟิศไปจนถึงราคาสินค้า ปลูกฝังแนวคิดนี้ให้พนักงาน จนบริษัทเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้”
หนึ่งในข้อคิดจากหนังสือ The 10 Rules Of Sam Walton
..
อ้างอิง:
MoneyBuffalo
หนังสือ The 10 Rules Of Sam Walton
เรียบเรียงโดย : Krittamate Unsamak
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ 7D book&digital